‘วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล’ กมธ.ติดตามงบฯ เพิ่มช่องทางประชาชน ร่วมจับตาพิรุธการใช้งบฯ โครงการรัฐ ย้ำ ไม่ตัดสินใครถูก ใครผิด แต่เดินหน้าศึกษา ติดตาม เรียกหน่วยงานชี้แจงข้อเท็จจริง หากพบประเด็นสุ่มเสี่ยง พร้อมส่งเรื่องถึง ครม.ดำเนินการต่อ
วันนี้ (9 ธ.ค. 67) เนื่องใน วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ. ติดตามงบฯ) เปิดตัวโครงการ ‘ตู้ ปณ. #ประชาชนปราบโกง’ ให้ประชาชนส่งเรื่องมายังกรรมาธิการติดตามงบฯ ได้โดยตรงผ่านทาง 2 ช่องทาง ได้แก่
- ทางไปรษณีย์ ตู้ ปณ. 13 ปณฝ. รัฐสภา กทม. 10305
- ทางไลน์ ‘พี่ฮูก’ @phuuk (มีเครื่องหมาย @ นำหน้า) โดยเมื่อแอดไลน์ แล้วสามารถเปิดเมนู ส่งเรื่องร้องเรียน เพื่อกรอกแบบฟอร์มออนไลน์ได้อย่างสะดวก แนบไฟล์ได้หลายไฟล์ และหลังจากส่งเรื่องแล้วยังสามารถย้อนกลับมาตรวจสอบความคืบหน้าได้อีกด้วย
สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร บอกว่า ได้เปิดให้ประชาชนร้องทุกข์ หรือเปิดโปงข้อมูล เพื่อการมีส่วนร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน การร้องเรียนเรื่องสินค้าต่างชาติ หรือสงสัยว่าโกงใช้งบประมาณไม่เหมาะสมสามารถแจ้งเข้ามาได้ ซึ่งจะเป็นการเติมเต็มช่องว่างการตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐ โดย ตู้ ปณ. #ประชาชนปราบโกง เปิดรับเรื่องทุกโครงการที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายน่าติดตาม อาทิ
- ขนาดโครงการไม่สมเหตุสมผล คนใช้น้อย ดูเหมือนจะไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ
- ก่อสร้างหรือดำเนินการล่าช้าเกินปกติวิสัย
- เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก
- มีหลักฐานการโกงค่อนข้างแน่ชัด โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่มากกว่า 100 ล้านบาท หรือโครงการใดก็ตามที่มีความน่าเคลือบแคลง เกิดขึ้นมาแบบไม่มีที่มาที่ไปชัดเจน หรือพังไปอย่างรวดเร็ว
โดยเรื่องที่ กรรมาธิการฯ จะตรวจสอบติดตามเป็นโครงการที่มีลักษณะใหญ่ หรือเป็นโครงการที่มีประชาชนสนใจมาก เพื่อที่จะทำเรื่องให้หน่วยงานราชการเข้าชี้แจง และกำหนดเป็นวาระการประชุม เช่น โครงการในลักษณะแจกเสื้อโหล หรือโครงการที่ดำเนินการแล้วไม่มีผู้มาใช้งานจริง และโครงการเข้าลักษณะการก่อสร้างล่าช้า เช่น โครงการมอเตอร์เวย์โคราช ที่มีความล่าช้า, โครงการรถไฟความเร็วสูง ที่สร้างไม่เสร็จสักที, โครงการที่เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ หากมีหลักฐานการโกงที่ชัดเจนสามารถแจ้งในทางลับได้ แบบไม่เปิดเผยตัวตน หรือจะเปิดเผยตัวตน รวมไปถึงโครงการที่มีความเคลือบแคลงสงสัย
สุรเชษฐ์ ยังยกตัวอย่างโครงการแลนด์บริดจ์ กระบี่-ขนอม ที่ จ.กระบี่ เป็นโครงการเชื่อมถนนระหว่าง จ.กระบี่ และนครศรีธรรมราช แต่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนของโครงการ แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติ ให้ความเห็นชอบผ่านมาแล้ว 20 ปี เสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์, โครงการซุ้มประตูเมือง จ.อุดรธานี แม้จะเป็นโครงการเล็กแต่เมื่อรวมหลายโครงการรวมกันมีมูลค่า การลงทุนจำนวนมากแต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง
“เราเชื่อว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ยังมาไม่ถึงกรรมาธิการฯ ดังนั้น ตู้ ปณ. #ประชาชนปราบโกง จึงเป็นช่องทางที่จะเพิ่มโอกาสให้ทางกรรมาธิการฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนโดยตรงจากประชาชนทุกพื้นที่อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น สนับสนุนให้ประชาชนรวมพลังกันเป็นหูเป็นตา สอดส่องการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐในโครงการต่าง ๆ”
สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ
ปธ.กมธ.ติดตามงบฯ ระบุด้วยว่า เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วกรรมาธิการฯ ไม่ได้ไปตัดสินว่าใครถูกใครผิด ไปเร่งรัดโครงการจากช้าเป็นเร็ว หรือไประงับโครงการใด ๆ ได้ หน้าที่ของกรรมาธิการฯ อยู่ที่การศึกษาและติดตามการใช้งบประมาณให้เห็นแจ้งว่าโปร่งใส และถูกต้องตามอย่างที่ควรจะเป็น โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 ในการเรียกเอกสารหรือขอคำชี้แจงจากหน่วยงานรัฐ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ ซึ่งอาจตามมาด้วยการเชิญหน่วยงานรัฐเข้าร่วมประชุมเพื่อแถลงข้อเท็จจริงและตอบข้อซักถาม และกรรมาธิการฯ จะติดตามจนกว่าจะได้รับคำชี้แจงจนสิ้นข้อสงสัย ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสความสนใจของสังคม อาจมีสื่อมวลชนเข้าร่วมประชุมเพื่อสังเกตการณ์ด้วย ถ้าในที่สุดแล้วพบว่าประเด็นใดเป็นปัญหากรรมาธิการฯ ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ จะรวบรวมเป็นข้อสังเกตหรือรายงานส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารต่อไป
นอกจากนั้น การเปิด ตู้ ปณ.ปราบโกง เป็นช่องทางที่ทำให้ฝ่ายค้านได้ข้อมูลนำไปสู่การอภิปรายทั่วไปและการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 และ 152 แต่กว่าจะถึงจุดนั้น จะต้องทำการบ้านเพิ่มเติม ในการตรวจสอบข้อมูล ภายใต้การคุ้มครองดูแลผู้ให้ข้อมูล และโดยหลักทั่วไปกว่าจะถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สส. แต่ละคนจะมีเวลา 2 เดือนเพื่อติดตามเรื่องเชิงลึก นำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากเรื่องนี้มีประเด็นใหญ่มี ความฉ้อฉลสุ่มเสี่ยงต่อรัฐ จะรับการพิจารณาเป็นพิเศษเพื่อนำไปสู่การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ
“การที่ สส. จะนำข้อมูลไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะต้องเชื่อมั่นในข้อมูลพยานหลักฐาน พยานหลักฐานนั้นเท็จต้องตรวจสอบว่าข้อมูลพยานหลักฐานไม่ใช่ข้อมูลเท็จ ต้องซักไซ้ไล่เลียงประเด็น และเรื่องนี้จะทำให้พวกเราเปิดพื้นที่ใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น ประชาชนหลายคนอาจไม่รู้ว่าจะมีช่องทางที่จะนำไปสู่การอภิปรายใหญ่ อภิปรายไม่ไว้วางใจสามารถใช้ช่องทางนี้”
สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ
ส่วนอีกช่องทางคือ Line พี่ฮูก @phuuk นั้นประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนผ่านเมนู ส่งเรื่องร้องเรียน แล้วสามารถย้อนกลับมาดูความคืบหน้าของเรื่องที่ตนเองส่งมาแล้วได้ ผ่านเมนู ติดตามความคืบหน้า โดยกรรมาธิการฯ จะใส่รายละเอียดเพิ่มเติมให้เห็นว่ามีการดำเนินใดไปแล้ว กำลังจะดำเนินการอะไรในขั้นตอนต่อไป คาดว่าขั้นตอนต่อไปจะเสร็จสิ้นเมื่อใด และทางกรรมาธิการฯ มีความเห็นใดเพิ่มเติมแก่ผู้แจ้ง เป็นต้น หากผู้แจ้งประสงค์จะส่งข้อความหรือรูปประกอบเพิ่มเติม สามารถดำเนินการได้ทันทีผ่านแบบฟอร์มท้ายเรื่อง โดยไม่จำเป็นต้องส่งเป็นเรื่องร้องเรียนเรื่องใหม่ซ้ำอีกครั้ง
“หากไม่สะดวกส่งเรื่องทางไปรษณีย์ หรือใช้แบบฟอร์มออนไลน์ เจ้าของเรื่องสามารถแชตกับ พี่ฮูก ได้โดยตรงเช่นกัน เหมือนกับการคุยไลน์ตามปกติ โดยกรรมาธิการฯ ดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการรักษาความลับ และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และประกาศฉบับต่าง ๆ ของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล”
สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ
สุรเชษฐ์ ยังบอกอีกว่า พรรคประชาชน จะเสนอร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตราเป็นกฎหมาย สาระสำคัญจะเป็นการเปลี่ยนจากกฎหมายฉบับเดิม พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของข้าราชการ เดิมมีหลักการหากจะเปิดเผยข้อมูลได้ต้องมีการร้องขอจากประชาชน แต่กฎหมายฉบับใหม่สามารถเปิดเผยได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องมีการร้องขอยกเว้นเฉพาะข้อมูลลับหรือข้อมูลส่วนบุคคล
ส่วนการแถลงผลงานของรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร วันที่ 12 ธันวาคมนี้ ก็จะติดตาม และต้องการเห็นรัฐบาลที่มีผลงานนำไปสู่ผลประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง