‘สมัชชาคนจน’ ย้ำ รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่โอบอุ้มผู้คน ส่งผลให้เกิดปัญหา ประกาศเดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ลานคนเมือง กรุงเทพฯ สมัชชาคนจน ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม จัดกิจกรรม ‘เบิกฟ้ารัฐธรรมนูญใหม่’ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ ‘เขียนรัฐธรรมนูญใหม่เดี๋ยวนี้’ รวมถึงการเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘คนจนเขียนรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาจากทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน ตัวแทนเครือข่ายประชาชน นักวิชาการ นักการเมือง ร่วมด้วย
พนมวัน นามตาแสง ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ระบุว่า เรื่องรัฐธรรมนูญกับการจัดการทรัพยากรของชุมชนนั้นที่ผ่านมาพบว่า ประเด็น การจัดการทรัพยากรอำนาจการจัดการยังไปไม่ถึงชุมชนอย่างแท้จริง นั่นจึงส่งผลให้ นักสิทธิมนุษยชนออกมาเคลื่อนไหว เพราะว่าต้องการปกป้องพื้นที่ จัดการทรัพยากรที่มีอยู่จะทำอย่างไรให้อำนาจดึงกลับไปสู่ชุมชนได้มากที่สุด
“การทำเหมืองแร่ต่าง ๆ ที่ผ่านมา มันสะท้อนให้เห็นว่าอำนาจไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แต่อำนาจส่วนใหญ่ มันอยู่กับคนที่มีอำนาจ ด้วยกฏหมายที่ถูกบัญญัติและเขียนไว้ ที่กำกับไว้ว่าใครกันแน่คือคนที่อนุมัติ อนุญาต การทำเหมือง…สุดท้ายอำนาจในการอนุมัติ อนุญาตมันอยู่ที่ส่วนกลางคือ กพร.”
พนมวัน นามตาแสง
นอกจากนี้ ยังระบุว่า อีกหนึ่งปัญหา คือ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นโดยประชาชน สิ่งสำคัญคือรัฐธรรมนูญไม่ได้โอบอุ้มผู้คน
“เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ เราไม่ได้เขียนแค่ว่าจะต้องแก้เรื่องกฎหมายแร่ หรือว่าให้คนมีส่วนในการจัดการทรัพยากรแร่เท่านั้น แต่มันยังมีกฏหมายบางตัวที่มีส่วนเข้ามาพัวพัน บางคนต่อสู้เรื่องการทำเหมืองแต่ว่าปัญหาเรื่องปากท้อง เรื่องหนี้สิน เรื่องการต่อรองราคาสินค้า ก็ยังไม่ถูกกำหนดให้มี”
พนมวัน นามตาแสง
บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ให้ความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของประชาชน หลายคนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยความอึดอัด จะทำอะไรทั้งที ต้องดูว่าจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งสิ่งนี้เขาเชื่อว่า เป็นความอึดอัดของหลายฝ่ายรวมถึงรัฐบาลด้วย
สำหรับ สมัชชาคนจน เป็นองค์กรหนึ่งที่ติดตามเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ และผลักดันเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ แม้ว่ารัฐบาลประกาศว่าจะเขียน และแก้รัฐธรรมนูญใหม่ แต่สิ่งที่เจอคือการตั้งคณะกรรมการศึกษาฯ คาดว่า อาจถ่วงเวลาหรือไม่
“มันต้องสร้างการเมืองบนท้องถนนขึ้นมา การเมืองบนท้องถนนเท่านั้นคือคำตอบ และสิ่งที่จะบอกว่าจะทำประชามติกี่ครั้ง หรือไม่ต้องทำประชามติก็ได้ ปี 2540 ที่เราทำรัฐธรรมนูญกัน ผมจำได้ว่ามันมีคนค้านมากมาย แต่ว่าพอเป็นมติของมหาชนขึ้นมา ที่เคยค้านก็เสียงเบาลง คนที่ประท้วงก็เลิกประท้วง สิ่งที่ไม่คิดว่ามันจะเป็นไปไม่ได้ มันก็เป็นไปได้”
บารมี ยังย้ำถึงที่สมัชชาคนจนจะทำต่อไปในปีหน้าคือ “เราจะลงถนน“