‘พิชญ์’ ย้ำ ท้องถิ่นไม่โต ถ้าส่วนกลางยังตีกรอบด้วย ‘แผนแม่บทเดียว’

ฝากคำถาม นายก อบจ. ต้องตอบให้ได้ว่า “10 ปีข้างหน้า จังหวัดจะพัฒนาอย่างไร ?”

ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ในรายการ POLICY WATCH จับตาอนาคตประเทศไทย ทาง Thai PBS ถึงบทบาทและความท้าทายขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาท้องถิ่น ท่ามกลางโครงสร้างการเมืองแบบเดิม เน้นย้ำถึงโจทย์ใหม่ของ นายก อบจ. ที่ต้องปรับเปลี่ยนตามความท้าทายของโลก ที่จะพึ่งพาแค่รัฐส่วนกลางไม่พอ

ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โจทย์ใหม่ ‘นายก อบจ.’
อีก 10 ปีข้างหน้าจังหวัดจะพัฒนาอย่างไร ?

ผศ.พิชญ์ มองว่า ในยุคที่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การบริหารท้องถิ่นไม่อาจยึดติดกับแผนแม่บทที่ตายตัวอีกต่อไป แต่ต้องปรับบทบาทเป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกที่ยืดหยุ่นและตอบสนองต่อปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ผศ.พิชญ์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ยุทธศาสตร์แบ่งออกเป็น 2 แนวคิดหลักในประเทศไทย

  1. ยุทธศาสตร์แบบเดิม (แผนแม่บท) – การกำหนดเป้าหมายตามแผนที่วางไว้ ซึ่งมักเกิดในระบบราชการ

  2. ยุทธศาสตร์แบบใหม่ – การวางเป้าหมายที่อาจไม่เคยทำได้มาก่อน พร้อมสร้างวิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมาย แม้ต้องปรับเปลี่ยนแผนระหว่างทาง

การบริหารท้องถิ่นในปัจจุบันต้องยกระดับบทบาทเชิงยุทธศาสตร์เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงใหม่ได้อย่างเหมาะสม โดยยุทธศาสตร์ไม่ควรจำกัดอยู่ในกรอบเดิมของ “แผนแม่บท” ที่มุ่งเน้นการทำให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเท่านั้น เพราะจะไม่ทันการ แต่ควรมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

แนวคิดนี้สะท้อนชัดในกรณีของจังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่ ที่เผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติซ้ำซาก อย่างเหตุน้ำท่วม ซึ่งต้องอาศัยแผนยุทธศาสตร์ที่ยืดหยุ่น ไม่มองแต่ปัจจุบันเฉพาะ แต่มองยาวถึงอนาคตเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด

ผศ.พิชญ์ เน้นว่า ยุทธศาสตร์ที่ดีควรมีการคาดการณ์อนาคต (Scenario Planning) รองรับความเปลี่ยนแปลงได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น หากเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 หรือเศรษฐกิจถดถอย ผู้นำท้องถิ่นควรมีแผนสำรองที่ชัดเจนและยืดหยุ่น จะพัฒนาจังหวัดให้มีเศรษฐกิจเข้มแข็งใน 10 ปี ก็ต้องมาพร้อมกับการวางแผนที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

“ยุทธศาสตร์ต้องมองไปในอนาคต นายกฯ อบจ. ต้องตอบได้ว่าภายใน 10 ปี จังหวัดจะพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร แต่การมองไกลนั้นไม่ได้หมายความว่าจะละเลยปัญหาประจำวัน เช่น ถนนชำรุด น้ำท่วม แต่ทุกอย่างในวันนี้ต้องเตรียมเพื่อวันข้างหน้าด้วย”

ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ท้องถิ่นไม่เติบโต หากส่วนกลางยังตีกรอบด้วย ‘แผนแม่บท’

ในมุมมองของ ผศ.พิชญ์ มองว่า อบจ. มีหน้าที่เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ของส่วนกลางกับความต้องการในพื้นที่ หากขาดการวางแผนที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง อาจเกิดช่องว่างระหว่างยุทธศาสตร์ระดับชาติ และการปฏิบัติในพื้นที่ได้ ซึ่งก็ปรากฎอยู่หลายครั้งที่ส่วนกลางออกแบบนโยบายหรือมีคำสั่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในท้องถิ่น

แม้นโยบายและกฎหมายการกระจายอำนาจจะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นวางแผนยุทธศาสตร์ของตนเอง แต่ส่วนกลางยังคงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ การกำหนดแผนระดับชาติในลักษณะ แผนแม่บทเดียว อาจจำกัดความคิดสร้างสรรค์และความยืดหยุ่นของแผนระดับท้องถิ่น

ในขณะที่ แผนยุทธศาสตร์สมัยใหม่ ให้ความสำคัญกับการมองอนาคตที่เปิดกว้างและการปรับตัวต่อความท้าทาย ตัวอย่างเช่น การบริหารกรุงเทพมหานคร ภายใต้การนำของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ มีการวางยุทธศาสตร์ที่เน้นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ, การเพิ่มพื้นที่สีเขียว, การวางระบบ Traffy Fondue เป็นต้น แต่การจะผลักดันยุทธศาสตร์ระดับนี้ได้ การกระจายทรัพยากรและการลดความเหลื่อมล้ำไปสู่ท้องถิ่นก็เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันต่อ

“ถ้าส่วนกลางยังคงยึดติดกับแผนยุทธศาสตร์ที่ตายตัว โดยไม่ฟังเสียงของท้องถิ่น ยุทธศาสตร์เหล่านั้นจะเป็นเพียงกรอบที่ไม่สามารถปรับใช้ได้จริง”

ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ผศ.พิชญ์ ย้ำว่า บทบาทขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุก ซึ่งต้องไม่เพียงตอบสนองต่อปัญหาเฉพาะหน้า แต่ยังต้องเป็นผู้นำในการวางเป้าหมายระยะยาวและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นอกจากนั้นยังต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือระหว่างจังหวัด โดยเฉพาะในระดับภูมิภาค ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับปัญหาระดับประเทศและโลก

ท้ายที่สุด ยุทธศาสตร์ท้องถิ่นต้องเป็นมากกว่าการ ทำตามแผน แต่ควรเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม ทั้งนี้ ความสำเร็จของยุทธศาสตร์ในระดับท้องถิ่นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการบริหารจัดการที่โปร่งใส เปิดกว้าง และสามารถปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active