แก้ท้องถิ่นในเงาการเมืองชาติ “สติธร” แนะปรับสมดุล”ส่วนกลาง-ท้องถิ่น”ใหม่


เมื่อการเลือกตั้ง อบจ.ถูกบดบังด้วยการเมืองระดับชาติ หากจะเอื้อให้ท้องถิ่นเติบโต ต้องรื้อโครงสร้าง ปรับสมดุล ภารกิจและงบประมาณของส่วนกลางและท้องถิ่นใหม่

การเลือกตั้ง นายก อบจ.47 จังหวัด และ สมาชิก อบจ.76 จังหวัดทั่วประเทศ วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นวาระสำคัญ เป็นความหวังที่จะได้เห็นกลไกการกระจายอำนาจอย่าง “อบจ.” ถูกใช้แก้ปัญหา และพัฒนาจังหวัดไปพร้อมกัน 

บรรยากาศการช่วยหาเสียงของพรรคการเมืองระดับชาติ และที่ดูเหมือนจะดุเดือดมากที่สุด ณ เวลานี้ พรรคประชาชน กับ พรรคเพื่อไทย ที่ต้องการปักหมุดและทวงคืนฐานเสียง แต่ผลการเลือกตั้งในหลายสนามก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่ผู้ชนะนายกฯ อบจ. จะมาจากทายาท ตระกูลการเมืองบ้านใหญ่เดิม เป็นคนที่อยู่กับพื้นที่ และเป็นที่รู้จักของประชาชนมาอย่างยาวนาน 

ขณะที่ นโยบายระดับท้องถิ่น ของแต่ละจังหวัดที่ควรจะมีความแตกต่างกัน กลับคล้ายคลึง และส่วนใหญ่มักจะถูกครอบด้วยแนวคิด และนโยบายการเมืองระดับชาติ จนเป็นคำถามสำคัญว่า ความสำคัญของปัญหาท้องถิ่นหดหายไปด้วยหรือไม่

พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน มองท้องถิ่น ผ่านแว่นต่างกัน

สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ไว้ใน รายการ Policy watch จับตาอนาคตประเทศไทย วันที่ 6 ม.ค. 2568 ว่า ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ต่างลงพื้นที่ช่วยหาเสียง แต่ด้วยการมอง “ท้องถิ่น” ที่ต่างกัน การใช้แว่นที่ต่างกันก็ทำให้การพูดถึงนโยบายแตกต่างกันด้วย แนวคิดพรรคเพื่อไทย ยังเชื่อ “รัฐส่วนกลางสำคัญกว่า” ขณะที่ พรรคประชาชน มีแนวคิด”กระจายอำนาจ” มากกว่า แต่เสี่ยงขายฝัน เพราะ โครงสร้างการเมืองไม่เอื้อให้ท้องถิ่นโตด้วยตัวเอง



พรรคเพื่อไทย : แนวคิดพึ่งพารัฐบาลส่วนกลาง รวมศูนย์ 

ท่าทีของเพื่อไทย สะท้อนการมองว่า อบจ.ท้องถิ่น ดูแลงบประมาณเพียง 30% ของประเทศ (และท้องถิ่นยังแบ่งไปที่ชั้นของ อบต. และเทศบาลอีก) ขณะที่การบริหารประเทศใช้งบฯ 70% แม้ อบจ.จะดูภาพใหญ่ของทั้งจังหวัด และใกล้ชิดกับเทศบาล และ อบต.มากที่สุด แต่ อบจ.ก็ไม่ได้มีพื้นที่เป็นของตัวเอง อยู่ในฐานะพี่ใหญ่ที่คอยสนับสนุนช่วยเหลือ การจะโฆษณาประชาสัมพันธ์งานของ อบจ.จึงทำได้ยาก และมีความทับซ้อนกับส่วนอื่น ในเรื่องของภารกิจและบทบาทหน้าที่

หากไม่เชื่อมกับส่วนกลาง หรือพึ่งพาส่วนกลางก็ยิ่งยากสำหรับการนำงบประมาณมาพัฒนาจังหวัด ตัวอย่างเช่น การทำเมกะโปรเจค หากไม่เชื่อมกับส่วนกลางก็จะทำได้ยาก

พรรคประชาชน : แนวคิดกระจายอำนาจ

คิดในมุมนี้พรรคประชาชน จะคิดเรื่องการกระจายอำนาจค่อนข้างเยอะ ภาพใหญ่ คือ การพัฒนาโดยภาพรวม แต่ท้องถิ่นมีลักษณะเฉพาะ ส่วนกลางไม่รู้ดีไปกว่าท้องถิ่น มีความหวังในการเพิ่มศักยภาพให้ท้องถิ่น กระจายอำนาจให้เพิ่มขึ้น แนวคิดงบฯท้องถิ่น 70% งบฯส่วนกลาง 30%

เหตุผลที่บ้านใหญ่ มักชนะการเลือกตั้ง

ผลการเลือกตั้งในสนามท้องถิ่นหลายจังหวัด ประชาชนส่วนใหญ่ เลือก สีแดง (เพื่อไทย) กับสีน้ำเงิน (ภูมิใจไทย) มากกว่า สีส้ม (พรรคประชาชน) เหตุผลเรื่องนี้มีหลายปัจจัย บ้านใหญ่เป็นเรื่องหนึ่ง รวมถึงการชูนโยบายที่จับต้องได้ และ เชื่อมโยงกับนโยบายระดับชาติ เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ผู้สมัครเหล่านั้นถูกเลือก รับฟังเพิ่มเติม: เหตุผลที่ “บ้านใหญ่” มักชนะเลือกตั้งท้องถิ่น

นโยบายที่จับต้องได้ เป็นชัยชนะที่ท้องถิ่นจะถูกให้ความสำคัญหากโยงกับการเมืองระดับชาติ แต่ภายใต้โครงสร้างปัจจุบันระวังจะกลายเป็น “ขายฝัน” ให้คิดเอง ทำเอง ดูแลตัวเอง จัดการตัวเอง อำนาจหน้าที่ไม่พอ ตัดขาดจากส่วนกลางยังไม่ได้

สติธร ย้ำว่า การคิดแบบจับต้องได้สำคัญ ทำให้เราเห็นภาพของผู้สมัครท้องถิ่น ที่เชื่อมโยงอยู่กับ พรรคการเมืองระดับชาติ ขณะที่ศักยภาพของบ้านใหญ่ก็มีความเข้มแข็ง ไม่ได้เพียงเครือข่ายฐานเสียง แต่ “บ้านใหญ่” ยุคปัจจุบัน ยังต้องเป็นผู้ประสานจังหวัด บ้านใหญ่ให้เติบโต เป็นบ้านใหญ่ต้องมีทุน สามารถทำให้ท้องถิ่นเกิดการกระจายตัวทางเศรษฐกิจได้ บ้านใหญ่ จึงจะช่วยหนุนเสริมกิจกรรม กิจการในพื้นที่ เพื่อให้เครือข่ายในพื้นที่ได้ประโยชน์ เชื่อมโยงประโยชน์จากภายนอก สู่ภายในท้องถิ่นได้

แนะรื้อโครงสร้าง ปรับสมดุลส่วนกลาง VS ท้องถิ่น

ปรากฎการณ์คีย์แมนช่วยหาเสียง บรรยากาศที่พรรคการเมืองกล้าเปิดตัวผู้สมัครมากขึ้น เป็นทิศทางที่ดี ทำให้การเมืองระดับชาติ ลงมาสนใจให้ความสำคัญกับท้องถิ่นมากขึ้น นำมาสู่การก่อรูปเป็นนโยบาย ต่อยอดสู่ภาพรวมระดับประเทศ และมิติท้องถิ่น

“แต่อีกด้านวันนี้ สนามการเมืองท้องถิ่น คุยกันจนเชื่อมโยงกับนโยบายระดับชาติไปหมด เราอาจจะต้องมาช่วยกันให้ข้อมูลว่า “สนามท้องถิ่นก็คุยเรื่องนโยบายได้นะ” จากนั้นคุยแล้วค่อยมาคัดกรองกันว่า หน้าที่ไหน อบจ.ทำได้ นโยบายไหน ขายเกินจริง ซึ่งตามหลักการแล้วการพัฒนาท้องถิ่นแต่ละจังหวัดแบบ “อลังการ” ต้องเอา “ทรัพยากรท้องถิ่น + ระดับชาติ” และขายประชาชน

อีกระดับหนึ่งของการแก้ปัญหา คือ การรื้อเชิงโครงสร้าง ขยับสมดุลงบประมาณ, ภารกิจระหว่างส่วนกลาง กับ อบจ. จาก 30-70 เป็น 40-40, 50-50, 70-30 จำเป็นต้องใช้เวลามีแผนขั้นตอนอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการกระจายอำนาจ เพื่อให้ อบจ.เป็นกลไกสำคัญในการกระจายอำนาจ ลดความเหลื่อมล้ำ การแข่งขันเชิงนโยบายท้องถิ่นอาจจะเกิดขึ้นได้มากกว่า การแข่งขันกันภายใต้โครงสร้างทางการเมืองในรูปแบบปัจจุบัน

การนับถอยหลังเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้นอกจากจะเป็นศึกดวลเดือดของพรรคการเมือง ยังเป็นความหวังอีกครั้งของประชาชนใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ที่จะมี นายก อบจ.และ สมาชิก อบจ.มาช่วยทำงานแก้ปัญหา และพัฒนาท้องถิ่น

The Active ใช้โอกาสนี้ ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดพื้นที่สื่อสารประเด็นความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น การกระจายอำนาจ และการใช้งบประมาณระดับท้องถิ่นผ่านการเลือกตั้ง อบจ.พร้อมไปกับการเปิดเวทีสาธารณะ Policy Forum ใน 3 พื้นที่ 3 จังหวัด ชลบุรี เชียงใหม่ และภูเก็ต เพื่อเปิดข้อมูล (DATA) ข่าวสารในพื้นที่ แลกเปลี่ยนความเห็น ฟังเสียงสะท้อนความต้องการ และความคาดหวังต่อนโยบายท้องถิ่นระดับจังหวัด ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง รับโจทย์ไปดำเนินนโยบายให้สอดคล้องความต้องการคนในพื้นที่

โดยเวที ครั้งที่ 1 Policy Forum อบจ.ชลบุรี เลือก อบจ. เลือกอนาคตท้องถิ่น “บ้านเรา ขอ กำหนดเอง” วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2568 เวลา 13.30 – 16.00 น. ณ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี และทาง Live เพจ The Active, Policy watch และ ThaiPBS

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active