องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ตั้งข้อสังเกตกลโกงเลือกตั้ง อบจ. วิธีใหม่ พร้อมชวนสังคมตั้งคำถาม และจับตา “20 อบจ.” ตั้งงบฯจ้างบุคลากรเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ หลายพื้นที่ตัวเลขสูงกว่า 100 ล้านบาท ขณะที่ใช้เงินซื้อเสียงแบบดั้งเดิมยังระอุ
ใกล้เข้ามาแล้วกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในวันที่ 1 ก.พ. 68 ที่จะถึงนี้ โดยถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญของการพัฒนาท้องถิ่น ขณะที่การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ความตื่นตัวของภาคประชาชนเท่านั้น แต่ยังมีหลายประเด็นร้อนที่ยังต้องจับตามอง โดยเฉพาะเรื่องการใช้งบประมาณและการซื้อสิทธิ์ขายเสียง
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เปิดเผยถึงกลโกงการเลือกตั้ง อบจ.68 โดยมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ให้ข้อมูลว่าในช่วงที่ผ่านมากลโกงมักเกิดขึ้นจากกลไกการเมืองผ่านเครือข่ายหัวคะแนนและเครือข่ายบ้านใหญ่ที่ถูกจัดวางไว้ครอบคลุมทุกระดับ รวมถึงมีการใช้ควบคู่กับกลไกรัฐผ่านฝ่ายปกครองและเครือข่ายสาธารณะสุข ขณะที่การทุ่มซื้อเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้จำกัดแค่การซื้อด้วยเงินแบบวิธีการเดิม ๆ
อย่างไรก็ตาม ยังมี “อุบาย” ใหม่ ที่น่าจับตา คือในปีที่มีการเลือกตั้ง อบจ. มักมีการเพิ่มงบบุคลากร โดยมีข้อสงสัยว่าเป็นการเพิ่มงบเพื่อจ้างพนักงานจ้าง/ลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งไม่เป็นไปตามแผนอัตรากำลัง บาง อบจ. เพิ่มงบบุคลากรเกินร้อยละ 40 ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งขัดต่อมาตรา 35 ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลท้องถิ่น ทั้งนี้ พบ อบจ.ที่มีสัดส่วนงบบุคลากรปี 2568 เกินร้อยละ 40 ทั้งหมด 20 จังหวัดประกอบด้วย
- ศรีสะเกษ นราธิวาส มหาสารคาม (เพิ่มเท่ากัน ร้อยละ 57)
- มุกดาหาร (ร้อยละ 55)
- พิจิตร (ร้อยละ 54)
- ชัยภูมิ (ร้อยละ 51)
- กาฬสินธุ์ (ร้อยละ 50)
- สกลนคร (ร้อยละ 49)
- หนองบัวลำภู (ร้อยละ 48)
- พัทลุง นครราชสีมา (ร้อยละ 47)
- ยะลา ร้อยเอ็ด ขอนแก่น (ร้อยละ 46)
- อำนาจเจริญ น่าน (ร้อยละ 45)
- แพร่ อุตรดิตถ์ (ร้อยละ 43)
- สระแก้ว พะเยา (ร้อยละ 42)
ในจำนวนนี้ อบจ.ที่มีงบบุคลากรปี 2568 เพิ่มขึ้นจากปี 2567 สูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่
1) ขอนแก่น 650 ลบ.
2) ร้อยเอ็ด 433 ลบ.
3) นราธิวาส 360 ลบ.
4) มหาสารคาม 355 ลบ.
5) ชลบุรี 335 ลบ.
“ถ้าข้อสงสัยนี้เป็นจริงเท่ากับว่า มีการใช้เงินหลวงสร้างเครือข่ายพวกพ้องมหาศาล เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง ส่วนใหญ่เน้นจ้างลูกหลานคนในพื้นที่เป็นลูกจ้างหรือพนักงานชั่วคราว 1 – 2 ปี หลังจากนั้นอาจจ้างต่อหรือเลิกจ้าง พื้นที่ไหนตุกติกทำคะแนนไม่เข้าเป้า คนจากพื้นที่นั้นก็จะถูกเลิกจ้าง” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีงบฯจ้างงานถูกใช้จ้างเหมาบริการ เช่น ขุดลอกคูคลอง ดูแลสวนสาธารณะ กวาดถนน ทั้งที่อบจ. จ้างและจัดสรรงบให้เทศบาลหรืออบต. เป็นงบมูลค่าประมาณหลักแสนบาท หรือน้อยกว่า ส่วนคนที่ได้รับสัญญาจ้างเหมามักเป็นคนในเครือข่าย ซึ่งเม็ดเงินส่วนนี้เกิดจากความตั้งใจทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่ำกว่ารายได้ที่จะเกิดขึ้นจริง เพื่อให้เกิดเงินเหลือใช้กลายเป็นเงินสะสม แล้วขออนุมัติใช้เงินนี้จากสภา อบจ. โดยตั้งเป็นวาระพิเศษหรือวาระจร ทำให้ขาดการศึกษาพิจารณาที่รอบคอบ และชาวบ้านย่อมไม่ได้รับทราบ
“การใช้เงินหลวงสร้างเครือข่ายพวกพ้อง แน่นอนว่าเรื่องแบบนี้มีผู้รู้เห็นจำนวนมาก แต่ไม่กล้าพูดเพราะกลัวกระทบผู้เสียประโยชน์ หรือขัดใจชาวบ้านบางกลุ่ม แม้นักการเมืองที่เป็นคู่แข่งก็ไม่อยากพูด กลัวเสียโอกาส หากวันข้างหน้าตนเป็นผู้ชนะบ้าง” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว
ส่วนเรื่องการทุ่มซื้อเสียงผ่านกลไกการเมือง ผ่านเครือข่ายหัวคะแนนในพื้นที่ และเครือข่ายบ้านใหญ่นั้น ผู้สมัครฯ ที่ยังใช้วิธีเดิม โดยอาจหมดค่าใช้จ่ายในการหาเสียง บวกเงินซื้อเสียงและเงินวงพนัน ราว 60 – 300 ล้านบาท ตามขนาดจังหวัดและความเข้มข้นในการแข่งขัน ซึ่งหลายจังหวัดใช้ อสม. บางคนคุมเสียงในพื้นที่เล็ก ๆ เพราะเครดิตดี เป็นผู้หญิง คนเชื่อถือมาก ต่างจากกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ติดภาพว่าเป็นคนมีตำแหน่ง มีอิทธิพล ข่มชาวบ้าน หรือมีประวัติอมเงิน
“เงินเดือนนายก อบจ. 75,550 บาท รวม 4 ปีเป็นเงิน 3,624,000 บาท บวกเบี้ยประชุมแล้วยังมองไม่ออกว่าจะถอนทุนคืนจากไหน รู้แต่คนไทยร้อยละ 95.4 บอกว่า ใน อบจ. มีการโกงมโหฬาร” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว
วิธีการซื้อเสียงแบบดั้งเดิมจะมีการวางเครือข่ายหัวคะแนนเดินจดโพยรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตามพื้นที่ต่าง ๆ แล้วแจกเงินสดหรือโอนผ่านพร้อมเพย์ ในอัตราตั้งแต่ 200- 3,000 บาท เฉลี่ยทั่วประเทศ 900 บาท กรณีการไปฟังปราศรัยชาวบ้านจะได้เงินอีกครั้งละ 300 บาท ส่วนรถรับจ้างที่ขนคนได้เงิน 1,500 บาท ซึ่งหลายพื้นที่จะมีการบอกผู้สมัครไว้เลยว่าขอไม่ให้จัดเวทีซ้อนกันเพื่อจะได้ไปหลายงาน บางวันมีรอบเที่ยง บ่าย ค่ำ ก็ได้รับเงิน 3 เวทีตลอดวัน
“ในอดีตชาวบ้านร้อยละ 80 จะรักษาคำพูดเมื่อรับเงินมาแล้ว แต่จากการสำรวจล่าสุดของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าประชาชนร้อยละ 56 เป็นปลาที่กินเหยื่อแต่ไม่กินเบ็ด คือรับเงินแต่ไม่ลงคะแนนให้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อายุ 18 ถึง 40 ปี” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว
นอกจากนั้นยังมีอีกวิธี นั่นคือ การเปิดบ่อนพนันเดิมพันว่าใครจะชนะ ผู้บงการจะวางกลยุทธ์ราคาเดิมพันต่างกันตามสถานการณ์และเขตพื้นที่ เช่น ในกรณีผู้สมัครฯ ยังไม่มั่นใจว่าตนจะชนะเลือกตั้ง ช่วงเริ่มต้นจะหยั่งเสียงด้วยการตั้งราคาต่อรอง 10:3 เพื่อดูศักยภาพคู่แข่ง ถ้ามีคนแทงมากแปลว่ามีคะแนนเสียงดี แล้วขยับราคาต่อรองขึ้นเป็น 2:1 หรือ 3:2 จนไม่มีราคาต่อ หากพบว่าคู่แข่งมีคะแนนเสียงดีมากแล้ว
วิธีการนี้จะจูงใจชาวบ้านให้แทงข้างตนมาก ๆ จะได้ไปชักชวนคนอื่น ๆ มาลงคะแนนให้ตนเพื่อได้เงินเดิมพัน ในกรณีผู้บงการมั่นใจว่าตนชนะเลือกตั้งแน่ จะแอบวางเดิมพันด้วยเพื่อหวังกำไรมาคืนทุน
ท้ายที่สุด คนไทยร้อยละ 68 รู้ว่ามีการซื้อเสียงเกิดขึ้น แต่หากถามกลับมาที่ กกต.หรือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น รับทราบหรือไม่ ? ข้อมูลเลือกตั้งนายก อบจ. ปี 2563 มีเรื่องร้องเรียนสู่ กกต. 718 เรื่อง แต่ส่งฟ้องศาลเพียง 47 เรื่อง หรือร้อยละ 6.5 เท่านั้น ในจำนวนนี้มีผู้สมัครฯ ตกเป็นจำเลย ถูกลงโทษอาญาและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเพียง 4 คดี นอกนั้นเป็นหัวคะแนนหรือใครก็ไม่รู้
แม้ กกต. เคยชี้แจงว่าเหตุที่ดำเนินคดีผู้สมัครที่ซื้อเสียงได้น้อยมาก เพราะไม่มีใครแจ้งหรือให้ข้อมูล แต่ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะประชาชนไม่เชื่อว่า กกต. จะกล้าเอาจริง และไม่สามารถปกปิดตัวตนผู้ร้องเรียนได้ การร้องเรียนจึงดูเป็นเรื่องไร้ค่า เพราะคดีเกือบทั้งหมดไม่สามารถสาวถึงตัวบงการ แม้จะชัดว่าใครคือผู้ได้ประโยชน์จากการซื้อเสียง คนชนะเลือกตั้งกลับตรวจสอบคุณสมบัติไม่ผ่าน เช่น ติดคดี มีประวัติต้องห้าม ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งก่อน ฯลฯ และแน่นอนว่าหาก กกต. ไม่ทำงานเชิงรุก การซื้อเสียงและโกงเลือกตั้งจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวทิ้งท้าย