นักรัฐศาสตร์ หวังเกิดแรงเหวี่ยง เดินต่อเจรจาสันติภาพ ชี้ ช่วงเวลาเหมาะสม ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน วัดใจแนวทาง ‘การเมือง นำ การทหาร’ สู่รูปธรรมการมีส่วนร่วมคนในพื้นที่ ขณะที่ นักสันติวิธี มอง ชายแดนใต้ ไม่อยู่ในสมการรัฐบาลเพื่อไทย จี้รัฐฟังเสียงผู้คน สนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างจริงใจ
วันนี้ (23 ก.พ. 68) ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน เดินทางมาถึงท่าอากาศยานนราธิวาส พร้อมกับ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยที่แรกที่เดินทางไปคือ วัดประชุมชลธารา อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เพื่อสักการะ พระธรรมวัชรจริยาจารย์ เจ้าอาวาสวัด

(ภาพ : Tichila Phutthasaraphan)
ทักษิณ ระบุว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ มาในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งให้ความสำคัญกับสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงตั้งใจมาดูสถานการณ์ในปัจจุบัน และอยากมาดูมารับฟังด้วยตัวเองว่า เป็นสถานการณ์เป็นอย่างไร
“มาสานงานที่ทำไว้เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็อยากจะเห็นว่าเมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น และการดูแลแก้ไขปัญหาใช้เวลานานมากก็ยังไม่ยุติเสียที มันก็ควรจะยุติได้ในสมัยที่รัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งเป็นรัฐบาลเพื่อไทย และลูกสาวผมเป็นนายกรัฐมนตรี”
ทักษิณ ชินวัตร
ทักษิณ บอกอีกว่า อยากเห็นการทำงานร่วมกัน แก้ปัญหาร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของประชาชนที่อยู่ในพื้นนี้เมื่อก่อนนี้ตอนสมัยตนเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ จะน้อมนำแนวทางพระราชดำริ ในหลวงรัชกาล 9 เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ซึ่งตนคิดว่ายังเป็นหลักการที่สำคัญ
“เข้าถึงจิตใจว่าพวกเขาคิดอย่างไร เมื่อเข้าถึงแล้วเพื่อให้เขาพูดความจริงก่อนเมื่อพูดความจริงแล้ว เราต้องเข้าใจเป้าหมายร่วมกัน ร่วมกันพัฒนาในสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยตรัสไว้ในการที่จะแก้ปัญหาภาคใต้ ณ วันนี้ ผมเข้าใจว่ายังเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งและเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เลยอยากมาฝากกับน้อง ๆ ว่า เราลองหยุดหายใจสักระยะ เรามัวอยู่กับเหตุการณ์ที่เคยมีมา 20 ปีแล้วให้กลับมาดูว่าเราจะเข้าถึงแค่ไหน และเข้าใจ มาคิดร่วมกันว่า จะทำให้พี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่อย่างสันติสุข นั่นคือหลักการที่ผมมาที่นี่”
ทักษิณ ชินวัตร
อดีตนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ทุกคนมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหา ตนเชื่อว่าปัญหามีทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้เห็นต่าง และฝ่ายข้าราชการ ดีที่สุดคือการพูดคุย ซึ่งตนได้เริ่มต้นการพูดคุยด้วยการที่ไปมาเลเซีย ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้พบกับผู้ที่เห็นต่างทั้งหลายที่อยู่ในมาเลเซีย ได้มีการพูดคุยกัน พวกเขาบอกอยากกลับบ้าน แล้วเมื่อไรจะได้กลับ แสดงเห็นว่าทุกฝ่ายพร้อมจะหันหน้าเข้ามาพูดคุยกัน เริ่มต้นชีวิตใหม่
ทักษิณ ยังย้ำด้วยว่า ที่ผ่านมาความล้มเหลวของการบริหารก็คือเศรษฐกิจที่แย่ เมื่อเศรษฐกิจแย่ สิ่งที่ตามมา คือ ยาเสพติด เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ทั้งชาวพุทธ และมุสลิมก็อยากจะขอให้เริ่มยาเสพติดเป็นวาระสำคัญ ที่จะต้องจัดการเพราะในเมื่อคนใช้ยาเสพติดมากก็ไม่มีความยั้งคิด ก็อยากฝากให้ทุกท่านแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดด้วย

(ภาพ : Tichila Phutthasaraphan)
‘ทักษิณ’ เอ่ยปาก ขออภัย ‘เหตุการณ์ตากใบ’
ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานด้วยว่า จากนั้น ทักษิณ ชินวัตร พร้อมคณะเดินทางต่อไปยัง โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งช่วงหนึ่งได้กล่าวกับคณะครูและประชาชนที่มาต้อนรับ ระบุว่า ขออภัยต่อความผิดพลาดในการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ เมื่อปี 2547
“ตอนผมเป็นนายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจและห่วงใยประชาชน 100% แต่การทำงานก็ไม่ผิดพลาดได้บ้าง ถ้ามีอะไรผิดพลาด ที่ไม่พอใจ ก็ขออภัยด้วย ให้ช่วยกันเผื่อแก้ปัญหาช่วยกัน ซึ่งคนมุสลิมจะมีสิ่งที่สำคัญมาก คือ ความเข้าใจเกรงใจเเละการให้อภัย ผมก็ขออภัยด้วย”
ทักษิณ ชินวัตร
ส่วนเหตุลอบวางระเบิดในรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ภายในสนามบินบ้านทอนเมื่อเช้าที่ผ่านมานั้น ทักษิณ เห็นว่า เป็นการเเสดงเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น
“บางคนอาจทำให้ผมตกใจ เเต่ผมเป็นคนใจแข็ง ถูกลอบฆ่ามา 4 ครั้งก็ยังเฉยๆ ใครจะต้อนรับวิธีไหน ผมรับได้หมด”
ทักษิณ ชินวัตร

ยืนยันเดินหน้าต่อเจรจาสันติภาพ
ทักษิณ ยังบอกด้วยว่า หลังจากนี้ความร่วมมือระหว่างประเทศจะมีมากขึ้นในการเเก้ปัญหา 3 จังหวัดชายเเดนภาคใต้ โดยจะมีความก้าวหน้าในการพูดคุยสันติสุข ซึ่งขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศโดยเฉพาะอินโดนีเซียเอง ก็อาสาที่มาช่วยพูดคุยด้วย รวมถึงตัวเองก็พร้อมที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่เพื่อให้การพูดคุยเดินหน้าต่อไปได้โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้
ส่วนข้อเสนอการนำคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 66/2523 ที่มีเนื้อหาสำคัญในการนิรโทษกรรมกลับมาใช้นั้น เห็นว่า ทุกอย่างสามารถปรับได้หมด ก็ต้องดูว่าจะทำยังไงถึงจะให้คนที่ผิดไปแล้วสำนึกผิดให้กลับมาในประเทศไทย ก็ต้องพูดคุยกัน ยังมีอีกหลายขั้นตอน ต้องคุยกันในหลายฝ่าย
“การลงพื้นที่ในวันนั้น เห็นว่าความรู้สึกของผู้คนแตกต่างไปจากเดิมมาก ทัศนคติก็เปลี่ยนไป สมัยที่ยังเป็นนายกรัฐมนตรีเดินทางมาเยี่ยม โรงเรียนเอกชนก็ยังเห็นเเววตาจ้องเขม่น เเต่ตอนนี้ มีสัญญาณที่ดี มีการตอนรับที่ดี ทำให้เห็นเเสงสว่างในปลายอุโมงค์ ในการเเก้ปัญหา”
ทักษิณ ชินวัตร
สำหรับกรณีการลงพื้นที่ชายแดนใต้ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร นั้น รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยงสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้ความเห็นกับ The Active ว่า คงไม่มีจังหวะทางการเมืองไหน ที่ร้อนแรง และดูจะมีโมเมนตัม หรือแรงเหวี่ยง ที่ทำให้เกิดการแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้ดีเท่าจังหวะเวลานี้อีกแล้ว โดยมอง 2 นัยยะจากการลงพื้นที่ของ ทักษิณ ว่า การเข้ามารับตำแหน่งที่ปรึกษาประธานอาเซียน ถือเป็นความคาดหวัง ที่จะเห็น ทักษิณ ผลักดันประเด็นการพูดคุยสันติภาพที่ชะงักไปสักพักใหญ่ คนในพื้นที่ต่างคาดหวังให้ ทักษิณ ดำเนินการต่อในกระบวนการสันติภาพ

“การที่เรายังเห็นเหตุการณ์ความรุนแรง รวมถึงเหตุระเบิดที่เพิ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ทั้งวานนี้ และเมื่อเช้านี้ ล้วนเป็นการส่งสัญญาณของกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐไทยว่ารัฐควรเร่งรัดกระบวนการสันติภาพมากขึ้น ประชาชนคาดหวังว่า การกลับมาของนายทักษิณ จะมาเพื่อทำให้การพูดคุยมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ
นักรัฐศาสตร์ ยังมองว่า เลขาธิการ ศอ.บต. และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จากพรรคประชาชาติ ยังมีความใกล้ชิดกับ ทักษิณ ถือว่าเป็น ตัวแทนของพรรคเพื่อไทยที่แตกออกมา ประกอบกับความรู้ ภูมิหลังของการแก้ปัญหา เจรจาสันติภาพชายแดนใต้ ที่เคยเดินหน้าการเจรจาสันติภาพชายแดนใต้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ในสมัย ยิ่งลักษณ์ บวกกับการเป็นแกนนำรัฐบาล โดยมีลูกสาว แพทองธาร นั่งเป็นนายกฯ ยิ่งมีอำนาจเต็มมือ ที่ทำให้ประชาชน ยิ่งมีความคาดหวังการพูดคุยสันติภาพ
โอกาสสำคัญ รัฐบาลเพื่อไทย เปิดโต๊ะเจรจาสันติภาพ
แสดงออกอย่างจริงใจ ต่อ ‘เหยื่อชายแดนใต้’
รศ.เอกรินทร์ ยังมองว่า สำหรับประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ เหตุการณ์ที่ชัดที่สุด คือ คดีตากใบ ซึ่งหมดอายุความไปแล้ว และในครั้งนั้น นายกฯ แพทองธาร ไม่ลงพื้นที่ แต่ครั้งนี้ รัฐบาลต้อง มองว่า เป็นโอกาสดี ที่ทักษิณจะได้พูดถึงความผิดพลาดในการแก้ปัญหาของภาคใต้ ซึ่งมีความหมายมากต่อ “เหยื่อ ครอบครัวผู้สูญเสีย และต้องทำอย่างเป็นรูปธรรม” จึงมีข้อเสนอให้รัฐเปิดพื้นที่เฉพาะให้เหยื่อผู้สูญเสีย ได้มีสิทธิพูดความจริง ความรู้สึก โดยที่พวกเขารู้สึกว่าปลอดภัย
ประเด็นถัดมา คือ การขอโทษของ ทักษิณ จำเป็นต้องมองเห็นว่าครั้งนี้เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะแสดงความจริงใจ โดยไม่ลดทอนความคิด ความรู้สึกของคนที่เห็นต่างจากรัฐ เพราะพวกเขามีความรู้สึกที่ไม่มั่นใจต่อการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ การลงพื้นที่และเปิดพื้นที่พูดคุยแบบนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ ทักษิณ จะได้คุยแลกเปลี่ยนกับเหยื่อในพื้นที่ด้วยเช่นกัน

ส่วนเรื่องของการเจรจาสันติภาพ ก็ยังถือว่าเป็นจังหวะที่ดีของการผลักดันสิ่งที่มีอยู่ในมือ ในเป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุด เช่น เปิดเผยแสดงความคืบหน้า และรายงานผลต่อคนภาคใต้ ว่า กระบวนการสันติภาพคุยไปถึงไหน ข้อตกลงร่วมอะไร เป็นกระบวนการที่ประชาชนไม่ได้อยู่ในสมการ การรับรู้ ก็รู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ที่อยู่ในพื้นที่แล้ว การเปิดเผยความจริงไม่ใช่เรื่องแปลกในยุคนี้ เช่น การเปิดให้ทำประชามติ ในประเด็นต่าง ๆ เช่น กรณี การให้ภาษามลายู เป็นภาษาทำงาน สามารถทำได้หรือไม่ เป็นต้น
“พื้นที่ภาคใต้ ไม่ได้มีแค่หน่วยงานความมั่นคง ไทย-มาเลเซีย, กลุ่ม BRN แต่ต้องไม่ลืมว่า กระบวนการสันติภาพ สำคัญต่อ คนในพื้นที่ การผลักดันเรื่องนี้ ต้องให้ประชาชนเป็นเจ้าของความจริงมีส่วนร่วม แค่รับรู้ ก็ถือว่ามีส่วนร่วมแล้ว ส่วนข้อเสนอให้ทำประชามติที่ลงทุนน้อย แต่รักษาชีวิตผู้คนได้อย่างมหาศาล ถือเป็นการแปลงนามธรรมจากโต๊ะเจรจา สู่ รูปธรรมของการมีส่วนร่วม”
รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ
ยันนโยบาย 66/2523 ‘พาคนเห็นต่างกลับบ้าน’
ไม่ใช่ ‘นิรโทษกรรม’ แต่เป็น ‘การเมือง นำ การทหาร’
ส่วนความพยายามปรับยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาชายแดนใต้ โดยกลับมาแก้ปัญหาด้วยหลัก การเมืองนำการทหาร ตามแนวทางนโยบาย 66/2523 ที่ใช้ยุติสงครามคอมมิวนิสต์ ในสมัย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นั้น ในมุมมองของ รศ.เอกรินทร์ เห็นว่า เป็นเรื่องน่าสนใจ และควรทำ เพราะหากรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย สามารถเดินหน้านโยบาย 66/2523 ควบคู่กับนโยบายอื่น และเปิดพื้นที่ปลอดภัยสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ใต้ได้ ก็จะยิ่งเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของการเจรจาสันติภาพชายแดนใต้ ในรูปแบบ “การเมือง นำ การทหาร” ได้อย่างแท้จริง
“ผู้คนมักมองว่า แนวทาง 66/2523 เป็นแนวทางที่ล้าหลัง แต่ต้องดูเนื้อหาสาระ เช่น 66/2523 เป็นกรอบใหญ่แก้ปัญหาภาคใต้ เอาบุคคลที่ ไม่ได้อยู่ในประเทศที่ติดคดี เข้าสู่กระบวนการในทางการเมือง พาคนกลับบ้าน ซึ่งกระทำการที่ผ่านมานำโดยทหารมาตลอด และเกิดความล้มเหลว แต่จากงานวิจัยที่เคยศึกษา พบว่า แนวทางนี้ทำให้มีคนต้องการปลดอาวุธอยู่จริง เพราะเป็นแนวทางที่มองบุคคลที่มีความเห็นต่างทางการเมืองไม่ใช่อาชญากร จึงต้องคุยในเชิงรายละเอียดการใช้งาน และไม่สามารถใช้แค่แนวนโยบายนี้เพียงอย่างเดียวได้ แต่สามารถใช้หลักการสำคัญ การเมือง นำ การทหาร มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา”
รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ
ส่วนการจะไปถึง นิรโทษกรรม หรือไม่นั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ต้องอธิบายว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่ชัยชนะของรัฐบาล แต่เป็นเพียงการแก้ปัญหาระดับหนึ่งเท่านั้น เพื่อมองบุคคลที่เห็นต่างทางการเมือง เป็นความผิดทางการเมือง ไม่ใช่อาชญากร รูปธรรมหนึ่งที่รัฐสามารถทำได้ทันที คือ การยกฟ้อง ถอนฟ้อง ที่รัฐ ทำกับ นักกิจกรรม เพราะการขยายพื้นที่ทางการเมือง ประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมมากที่สุด รัฐจะต้องทำให้ทำให้เกิดพื้นที่ กระบวนการพูดคุยอย่างมีส่วนร่วม และปกป้องประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐอย่างเป็นรูปธรรมด้วยเข่นกัน
“ครั้งนี้… จึงเป็นโมเมนตัมที่สำคัญที่ว่า พรรคเพื่อไทย จะทำชายแดนใต้ให้การเมืองนำการทหาร แม้ในทางกฎหมายจะยกเลิกกฎหมายไม่ได้ แต่ทิศทางนี้ก็ต้องทำคู่ขนานกับ การพัฒนาทิศทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนใต้”
รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ
‘นักสินติวิธี’ ชี้ ‘ชายแดนใต้’ ไม่อยู่ในสมการรัฐบาลเพื่อไทย
ขณะที่มุมมองของ ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ยอมรับว่า ส่วนตัวไม่ได้คาดหวังกับการเดินทางเยือนชายแดนใต้ของ ทักษิณ ชินวัตร แต่เชื่อมั่นในกระบวนการของภาคประชาชนที่ผลักดันการแก้ปัญหาเรื่องนี้มาตลอด 20 ปี มากกว่า พร้อมให้เหตุผลว่า ประชาชนในพื้นที่เคยคาดหวังกับ รัฐบาลทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะเปิดให้มีการลงนามเจรจาพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ นำมาสู่แนวทางการแก้ปัญหาโดยไม่ยืดเยื้อ แต่ความหวังแต่ละรอบ กลับไม่เห็นทิศทางว่าจะเกิดขึ้นจริง

ก่อนเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 คนในพื้นที่มีความหวังว่า รัฐบาลใหม่จะเข้ามาแก้ปัญหา แต่การเลือกตั้งผ่านไปจนจัดตั้งรัฐบาลผสม เพื่อไทยเป็นแกนนำ ก็ทำให้ประชาชนผิดหวัง เพราะไม่มีเจตจำนงชัดเจน ไม่คิดว่าจะมีความหวังไปถึง กระบวนการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้จะมีความก้าวหน้า แม้แต่ในเวลานี้ แพทองธาร ลูกสาว ทักษิณ หรือแม้แต่ เศรษฐา ภายใต้พรรคเพื่อไทย ก็ไม่เคยแสดงเจตจำนงว่าจะมาช่วยคลี่คลายปัญหาอย่างจริงจัง จนทำให้ประชาชนในพื้นที่ผิดหวัง และตั้งคำถามว่า ทำไม ? เรื่องราวของคนในชายแดนใต้ ถึงไม่อยู่ในสมการของรัฐบาล ที่อ้างตัวว่ามาจากการเลือกตั้ง
‘ทักษิณ’ เยือนชายแดนใต้ ซ้ำเติมภาคประชาชน ?
ผศ.พัทธ์ธีรา ยังประเมินว่า คนในพื้นที่มีความรู้สึกมากขึ้น ว่า การเยือนใต้รอบนี้เป็นการกระทำซ้ำเติมคนในพื้นที่ เพราะหากกล่าวถึงเหตุการณ์ ตากใบ ที่เพิ่งหมดอายุความไป หนึ่งในคนที่จะต้องขึ้นมาแสดงตนที่ศาล คือ พล.อ. พิศาล วัฒนวงศ์คีรี สส.ฝ่ายรัฐบาล เป็นคนของพรรคเพื่อไทย หากแสดงความจริงใจริง ที่จะแก้ปัญหา รัฐบาลควรมีความรับผิดชอบ อำนวยความยุติธรรมให้เดินหน้าต่อไปได้
แต่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่สะท้อนถึงความจริงใจ เป็นการกระทำที่ซ้ำเติม เพราะปัญหาชายแดนใต้ไม่ใช่แค่การเอาคนผิดมารับโทษ แต่รัฐบาลน่าจะมีบทบาทที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมใต้น่าเชื่อถือ สามารถชดเชย เยียวยา คนในพื้นที่ แต่กลับไม่เห็นความพยายาม หนำซ้ำยังเห็นความพยายามลดทอนเอาคนผิดมาลงโทษหลายครั้ง เช่น การที่ นายกฯ แพทองธาร ออกมาบอกว่า “คดีตากใบจบไป ทั้งที่มันยังไม่จบ” และยังถ่วงเวลาไม่ให้เดินหน้า เร่งรัดทำเอาในช่วงที่จะหมดอายุความ จึงไม่เห็นว่ารัฐบาลจะมีความจริงใจกับเรื่องนี้
รูปธรรมแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี ที่ควรเกิดขึ้นใน ‘รัฐบาลเพื่อไทย’
นักสันติวิธี ยังหยิบยกหลายเหตุการณ์ ที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลเพื่อไทย ไม่ว่ายุคสมัยใดก็อาจไม่ได้จริงใจต่อกระบวนการเดินหน้าแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ เช่น
- ในปี 2548 รัฐบาลทักษิณ เคยตั้งคณะกรรมการอิสระสมานฉันท์ (กอส.) ขึ้นมาวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาชายแดนใต้ และตอนนี้มี จาตุรนต์ ฉายแสง นั่งเป็นประธานกรรมาธิการฯ ซึ่งก็เป็นคนของเพื่อไทย ถ้าจริงใจ ก็ควรเอารายงานของ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ชุดนี้ มาเปรียบเทียบกับ กอส. ในปี 2549 เพื่อดูว่า ปัญหาที่เคยเสนอไว้มีอะไรที่ถูกแก้ไขไปแล้วบ้าง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเรื่องอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ เพราะเท่าที่ทราบทั้ง 2 ฉบับ มีความสอดคล้อง ควรหยิบมาผลักดัน เพราะพรรคเพื่อไทย มีทั้งคน และอำนาจ โดยมองว่า รัฐบาลเพื่อไทย ควรหยิบงานดังกล่าวมาประกาศ และทำอย่างจริงจังเป็น “นโยบายแห่งชาติ” เพราะงานต่าง ๆ ทำตรงตามหลักวิชาการอยู่แล้ว
- กรณีตากใบ ญาติผู้เสียหาย พยายามเดินเรื่องต่อในหลายมิติ เช่น ม.157 ที่ชะลอล่าช้า หากรัฐบาลเพื่อไทยจริงใจ ก็ทำได้เลย ไม่ควรต้องรอ เพราะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากอยู่แล้ว
- ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ประชาชนในพื้นที่ “คิด-ขบ-คุย-ขอ” กันหลายเรื่องให้รัฐส่วนกลางมอบและกระจายอำนาจให้พวกเขา แก้ปัญหาหลายอย่าง และจริง ๆ ก็ไม่ได้ทำให้รัฐไทยเสียหาย แต่เป็นการแก้ปัญหาอย่างถูกจุด ตรงกับความต้องการคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์ เฉพาะถิ่น ที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ หากจริงใจ และอยากทำ ควรจัดสรรอำนาจ และให้ภาคประชาชน เอาข้อเสนอต่าง ๆ เข้าสู่สภาฯ ตั้งคณะทำงานพิเศษ เพื่อให้การแก้ปัญหาตรงจุด และไม่ยืดเยื้อ
- ข้อเสนอที่ชุมชนอยากได้ สิทธิ เสรีภาพ พื้นที่ปลอดภัย ให้ประชาชนสามารถแสดงความเห็น ตรวจสอบการทำงานของรัฐราชการ และ กฎหมายพิเศษ ควรปรับได้แล้ว เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระในพื้นที่พยายามจะดันเรื่องสันติภาพกินได้
ผศ.พัทธ์ธีรา ย้ำด้วยว่า ประชาชนทำกระบวนการมีส่วนร่วม ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาเกือบทุกอำเภอในพื้นที่ชายแดนใต้ มีความตื่นตัวที่อยากจะก้าวข้ามสถานการณ์ความกลัว ความรุนแรง แต่ขาดการสนับสนุนอย่างจริงใจจากภาครัฐ ในแต่ละครั้งของการลงพื้นที่แทบไม่ฟังเสียงสะท้อนของประชาชน
“เพราะรัฐยังมีมายาคติกับคนในพื้นที่ กังวลที่จะสุ่มเสียงต่อความมั่นคง แต่ขอยืนยันจากการทำ PEACE SURVEY (เครื่องมือสำรวจความเห็นคนชายแดนใต้ เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้ง) ถึง 7 ครั้ง จากประชาชนนับหมื่นคน พบว่า เสียงของความต้องการแยกดินแดนนั้นน้อยนิดมาก ประชาชนเพียงต้องการอยู่โดย มีศักดิ์ศรี วิถีอัตลักษณ์ ปลอดภัย ไม่ต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัว”
ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์