- แม้คณะกรรมการแพทยสภาจะมีมติลงโทษแพทย์ 3 คนแล้ว แต่ยังไม่ถือว่ามีผลเด็ดขาดจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจาก สภานายกพิเศษ ซึ่งหมายถึง สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาต่อจากนี้
- การ พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม คือ การลงโทษทางวินัยจริยธรรมใน ระดับรุนแรง กว่าการว่ากล่าวตักเตือนหรือภาคทัณฑ์
- หากมีการวินิจฉัยอาการผู้ต้องขังว่า วิกฤต ทั้งที่ไม่เป็นความจริง อาจถูกมองว่าเป็นการ อ้างเหตุทางการแพทย์เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและกระทบต่อความเชื่อมั่นในวิชาชีพ
การประชุมคณะกรรมการแพทยสภา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 มีมติสำคัญที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนความเข้าใจของสังคมต่อ จริยธรรมทางการแพทย์ ในบริบทของอำนาจรัฐ เมื่อแพทย์ 3 คนที่เกี่ยวข้องกับกรณีผู้ต้องขัง ทักษิณ ชินวัตร ได้รับการวินิจฉัยอาการไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ถูกชี้มูลความผิดด้านจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม โดยมี 2 คนได้รับโทษ พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
มติดังกล่าวแม้ยังไม่ถือว่ามีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์ เพราะต้องรอความเห็นชอบจาก สภานายกพิเศษ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) ทว่า การที่แพทยสภาใช้ถ้อยคำชัดเจนว่า “ให้ข้อมูลหรือเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความเป็นจริง” ได้ส่งแรงสะเทือนต่อทั้งวงการแพทย์ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และสังคมโดยรวม
‘พักใบอนุญาตฯ’ บทลงโทษขั้นรุนแรงเพื่อคงมาตรฐานวิชาชีพ
แหล่งข่าวในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุข บอกกับว่า The Active ว่า การพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ไม่ใช่โทษเบา หากแต่เป็นมาตรการลงโทษระดับร้ายแรงในหมวดจริยธรรม โดยจะทำให้ผู้ถูกลงโทษไม่สามารถประกอบอาชีพแพทย์ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งต่างจากการเพิกถอนใบอนุญาตที่เป็นการตัดสิทธิ์ถาวร
การลงโทษรูปแบบนี้มักเกิดขึ้นในกรณีที่แพทย์กระทำผิดโดยมีผลกระทบต่อชีวิตผู้ป่วย หรือระบบยุติธรรม เช่น การให้ข้อมูลทางการแพทย์เท็จ การปลอมแปลงเวชระเบียน การละเมิดสิทธิผู้ป่วย หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความชอบธรรมจนเกิดผลเสียร้ายแรง
ในกรณีนี้ การให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงสะท้อนถึงการใช้วิชาชีพแพทย์ไปในทางที่อาจส่งผลต่อการคุมขัง หรือกระบวนการพิจารณาคดี นำไปสู่ความเสียหายต่อสิทธิของบุคคล และความศรัทธาต่อวิชาชีพในภาพรวม
‘อาการวิกฤต’ ที่อาจไม่วิกฤต ถ้อยคำทางการแพทย์ในการเมือง-กฎหมาย
สิ่งที่น่าสนใจคือคำว่า “อาการวิกฤต” ซึ่งหากใช้ในทางการแพทย์ หมายถึง ภาวะอันตรายถึงชีวิต ต้องใช้เครื่องมือพิเศษหรือเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดใน ICU แต่หากถ้อยคำนี้ถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น วินิจฉัยผู้ต้องขังว่ามีอาการวิกฤตเพื่อหลีกเลี่ยงการส่งตัวไปศาลหรือ สถานที่คุมขัง อาจกลายเป็น การแสวงหาผลประโยชน์โดยใช้วิชาชีพแพทย์เป็นเครื่องมือ
ตรงนี้เองที่จุดเปราะบางของระบบถูกสะท้อนอย่างชัดเจน เพราะการวินิจฉัยอาการของผู้ป่วย ไม่ใช่แค่ประเด็นทางเทคนิค หากแต่เป็น อำนาจตีความ ที่มีผลต่อเส้นแบ่งระหว่างความยุติธรรมและความไม่ยุติธรรม
เส้นทางต่อจากนี้ คือ ความรับผิดชอบของ รมว.สาธารณสุข
แม้มติของแพทยสภาจะชี้ชัดถึงความผิด แต่การดำเนินการจริงยังขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงสาธารณสุข จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งอาจต้องเผชิญแรงกดดันทั้งจากฝ่ายการเมือง ตลอดจนความคาดหวังจากประชาชน
หาก รมต.สมศักดิ์ เห็นชอบโทษพักใบอนุญาต จะมีผลโดยสมบูรณ์ และถือเป็นหมุดหมายของการยืนยันว่า “ไม่มีใครอยู่เหนือจริยธรรมวิชาชีพ” แต่หากชะลอหรือปฏิเสธ อาจนำไปสู่แรงสั่นสะเทือนใหม่ทั้งในวงการแพทย์และสังคม
จุดทดสอบความศักดิ์สิทธิ์ของวิชาชีพ
ในโลกที่วิชาชีพเฉพาะทาง เช่น แพทย์ มักได้รับอภิสิทธิ์เหนือความเข้าใจของสาธารณชน กรณีนี้เป็นตัวอย่างชัดว่า ความเชี่ยวชาญไม่อาจแยกจากความรับผิดชอบต่อสังคม
มติของแพทยสภาครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่บทลงโทษ หากแต่เป็น คำประกาศ ต่อสังคมว่า วิชาชีพแพทย์ไม่ใช่เกราะกำบังจากความผิด แต่คือ ความไว้วางใจที่ต้องรักษาไว้ ด้วยจริยธรรมและความจริงเท่านั้น
อย่างที่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนนาภา กรรมการแพทยสภา ได้กล่าวไว้ในตอนท้ายของการแถลงข่าวว่า…
แพทยสภายึดความถูกต้อง ยึดหลักฐานต่างๆ เราไม่ได้อิงกับปัจจัยภายนอก ถ้าว่าไปแล้วไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าคนไข้นี้คือใคร เพราะฉะนั้นข้อมูลที่มีอย่างนี้ เราสรุปแบบนี้…
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
ผมคิดว่าแพทยสภา มีศักดิ์ศรี แพทย์ทุกคนมีศักดิ์และสิทธิ์ของตนเอง ในการที่จะดำเนินการในสิ่งที่ถูกต้อง และชอบธรรมให้กับสังคม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง