สภาฯ ตีตก ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน

ภาคประชาชน เสียใจ การนิรโทษกรรมแบบเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง เชื่อยิ่งทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองร้าวลึก

วันนี้ (16 ก.ค. 68) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดยมี มติรับ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม 3 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ที่เสนอโดย สส. พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคกล้าธรรม, พรรคภูมิใจไทย

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข จำนวน 32 คน จะพิจารณารายละเอียด โดยยึดร่างของพรรค รวมไทยสร้างชาติเป็นร่างหลัก ก่อนนำกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระ 2 และ 3 ก่อน ส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมสภาฯ มีมติตีตกต่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเสนอโดยพรรคก้าวไกล (ชื่อพรรคในขณะที่เสนอร่าง) และ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน เสนอโดย พูนสุข พูนสุขเจริญ กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 36,723 คน

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและตัวแทนเสนอร่างฯ กล่าวกับ The Active ว่าไม่ได้เหนือความคาดหมายที่ร่างพ.ร.บ.ถูกตีตก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้แทนประชาชนเห็นถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย และต้องการแก้ไขปัญหาจริงๆหรือไม่ หรือทำเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับคนบางกลุ่มเท่านั้น จนกลายเป็น “นิรโทษกรรมแบบเลือกปฏิบัติ” ซึ่งการแก้ไขปัญหา แต่ไม่รวมทุกปัญหา จึงเป็นการกระทำหลอก ๆ ที่ไม่สามารถยุติปัญหาความขัดแย้งได้ เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่นิรโทษกรรมแบบเลือกปฏิบัติ เกิดขึ้นในสภา โดยฝ่ายนิติบัญญัติ จาก สส. ที่มาจากการเลือกตั้งของพลเรือน

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มันมีความขัดแย้งหลายรอบ แต่ฝ่ายที่ได้รับการนิรโทษกรรมมาโดยตลอด ก็คือเจ้าหน้าที่ รัฐและกลุ่มผู้สนับสนุนการยึดอำนาจรัฐประหาร ไม่ใช่ประชาชนที่เป็นฝ่ายถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม นี่จึงไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการคลี่คลายความขัดแย้ง เพียงแต่ว่าเป็นอีกครั้งที่ตอกย้ำว่ามันมีการใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ และความขัดแย้งทางการเมืองยังคงดำรงอยู่ และมันจะร้าวลึกมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล

ทั้งนี้ ในร่างภาคประชาชน เป็นร่างเดียวที่ระบุถึงนิรโทษกรรมมาตรา 112  แต่ในร่างยังระบุนิรโทษกรรมความผิดอีกหลายฐาน  เช่น คดีความผิดตามประกาศ คำสั่ง หรือคำสั่งหัวหน้า คสช., คดีตามฐานความผิดใน พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559, คดีตามฐานความผิดใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้มีคดีตามฐานความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เท่านั้น

และนับตั้งแต่การเคลื่อนไหวของประชาชนปี 2563 เป็นต้นมา คดีต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่จะไม่ถูกนับรวม คนที่ยังอยู่ในเรือนจำส่วนใหญ่ยังจะต้องอยู่ต่อไป เพราะไม่ได้รับผลประโยชน์จากการนิรโทษกรรมครั้งนี้ และในอนาคตก็อาจจะมีคนที่อยู่ในเรือนจำเพิ่มมากขึ้น จากคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นคดีการเมืองเช่นกัน

พูนสุข กล่าวว่า ถ้ามองในระยะยาว นิรโทษกรรมไม่ใช่เป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใด ๆ ทางกฎหมาย ไม่ได้เป็นการ แก้ไขอำนาจใด ๆ เพียงแต่เป็นการลบล้างการกระทำของของกลุ่มคนในช่วงเวลาที่เราจะกำหนดเท่านั้น แต่ว่า ทุก ๆ ครั้งที่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 มักจะถูกภาครัฐปฏิเสธเสมอ ตั้งแต่คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ในปี 2555 ที่พยายามเสนอแก้ไขกฎหมาย และปัจจุบันมีคนที่เห็นปัญหาของกฎหมายแล้วออกมาวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น อันนี้ก็อาจจะเป็นจุดชนวนความขัดแย้งในรอบต่อ ๆ ไปได้เหมือนกัน

“ถ้ายังไม่แก้ไขปัญหานี้ ในระยะยาวภาคประชาชนอาจจะไม่ใช่แค่เคลื่อนไหวเรื่องนิรโทษกรรมเท่านั้น แต่อาจเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม”

แม้ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมของภาคประชาชนไม่สามารถผ่านในชั้นสภาได้ แต่เรื่องนิรโทษกรรมยังไม่ได้จบในวันนี้ เบื้องต้นภาคประชาชนยังจะคงดูแล สนับสนุนผู้ที่ยังอยู่ในเรือนจำต่อไป และยังมีร่างนิรโทษกรรมฉบับอื่นๆ ที่ยังต้องพิจารณาหลายขั้นตอนหลายวาระ

ภาคประชาชนมีข้อเสนอในการพิจารณาแก้ไขร่างคือ การเพิ่มเกณฑ์อายุผู้ถูกดำเนินคดี โดยที่ไม่ต้องพิจารณานิรโทษกรรมจากฐานความผิด เพราะส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวในปี 2563 คือการเข้ามาร่วมชุมนุมของกลุ่มเยาวชน จนเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีที่อายุต่ำกว่า 18 จำนวน 200 กว่าราย แม้สังคมเราจะมีขัดแย้งกัน แต่เราก็ควรให้โอกาสเด็กและเยาวชนจริงๆ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active