แนะไทยต้องประกาศจุดยืนชัด Self-Defence in Peace Operations ปมชายแดนไทย-กัมพูชา

นักวิชาการแนะไทยต้องประกาศจุดยืนให้ชัดในเวทีโลก ว่าเป็นการปฏิบัติการ การป้องกันตนเองเพื่อสันติภาพ หรือ Self-Defence in Peace Operations อย่ารอให้บานปลายจนกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว หลังประชุม UNSC ไร้ข้อสรุป

จากเหตุปะทะที่ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาล่าสุด จนมีผู้เสียชีวิตทั้งทหารและพลเรือนหลายคน เหตุปะทะดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในเช้าวันที่ 24 ก.ค.68 บริเวณรอบ ปราสาทตาเมือนธม (Ta Moan Thom) โดยรายงานจากศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา (ศบ.ทก.) ระบุว่า ฝ่ายกัมพูชาเป็นผู้เปิดฉากโจมตีก่อนด้วยอาวุธหนักหลายประเภท (มีการกล่าวหาว่ากัมพูชาเป็นผู้ล้ำเส้นเขตแดนเข้ามา) ไทยจึงต้องตอบโด้ด้วยอาวุธหนัก รวมถึงการใช้เครื่องบิน F-16 เพื่อโจมตีทางอากาศ และการปะทะยังขยายผลไปยังหลายพื้นที่ตามแนวชายแดน

มีการเปิดเผยยอดสะสม (ณ วันที่ 26 ก.ค.2568) พลเรือนไทยเสียชีวิตแล้ว 13 คน บาดเจ็บ 33 คน และทหาร เสียชีวิต 6 นาย บาดเจ็บ  29 นาย

วันนี้ (26 ก.ค. 68) มีการเปิดเผยถ้อยแถลงของ เชิดชาย ใช้ไววิทย์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ในการประชุมแบบปิดของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ภายใต้ระเบียบวาระ เรื่อง ภัยต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ สรุปใจความว่า 

เหตุการณ์ปะทะที่เกิดขึ้นนี้ ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิป้องกันตนเองตามข้อ 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ 

และยังได้กล่าวย้อนไปถึงภูมิหลังของความขัดแย้งนี้ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. และ 23-24 ก.ค.68 ว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายโจมตีไทยก่อน โดยเป็นการโจมตีแบบไม่เลือกเป้าหมาย  ถือเป็นการละเมิดร้ายแรงต่อกฏบัตรสหประชาชาติ ที่ว่าด้วยหลักการการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

มีการกล่าวถึงการใช้กระสุนพวงของไทย ที่ระบุว่าเป็นการกระทำภายใต้หลักการและความจำเป็นทางทหารในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยไทยมีข้อเรียกร้องให้กัมพูชายุติการกระทำที่เป็นการรุกรานทั้งหมดทันที และขอให้หันหน้ากลับมาเจรจาต่อกันด้วยความสุจริตใจ

หากกล่าวโดยสรุป การประชุมในครั้งนี้เป็นเพียงการแถลงการณ๋และชี้แจงข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อให้ UNSC รับทราบ แต่ยังไม่มีมติหรือข้อสรุปใด เพียงแต่ขอให้ไทย-กัมพูชา ยับยั้งชั่งใจและหันหน้าพูดคุยกัน

ด้าน รศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ในงานประชุมที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวาน ดังกล่าว ยังอยู่ในขั้นตอนรับฟังปัญหา และอธิบายเหตุผลจากทั้ง 2 ประเทศ เท่านั้น โดยถัดจากนี้ต้องพิจารณาถึงแถลงการณ์ของทั้ง 2 ประเทศ ว่ามีน้ำหนักมากน้อยต่างกันอย่างไร และหากจะนำไปสู่การมีมติใด ๆ นั้น จำเป็นต้องใช้ระยะเวลามากกว่านี้

ตอนนี้เหตุการณ์ผ่านมาแค่ 2-3 วัน เท่านั้น อาจยังเร็วเกินไปหาก UN จะเข้ามามีมติแทรกแซงหรือการบังคับคู่พิพาท จึงยังเป็นเพียงการแถลงของแต่ละฝ่ายเพื่อรับทราบปัญหาเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติตามกระบวนการ

“ที่ผ่านมา มีกรณีที่ 2 ประเทศมีการปะทะทางทหารเช่นกัน แต่การปะทะกินเวลายาวนาน และความสูญเสียมากกว่านี้มาก แต่หลายกรณี คณะมนตรีความมั่งคงแห่งสหประชาชาติก็ไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงหรือยุติปัญหาได้ในทันที”

เพราะฉะนั้น สำหรับกรณีของไทยและกัมพูชา คงต้องรอดูต่อไปว่า สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประกอบไปด้วยสมาชิกถาวร 5 ประเทศ จะลงน้ำหนักอย่างไร ซึ่งมีการเคลื่อนไหวของทั้้งฝั่งจีนและสหรัฐฯแล้ว โดยในถ้อยแถลงมีใจความที่เป็นกลาง และเชิงบวกต่อสันติภาพโดยรวม

กัมพูชาได้อะไร แลกกับกลายเป็น อาชญากรรมสงคราม (War Crimes) ?

จากการเปิดฉากปะทะของฝ่ายกัมพูชา เป็นการกระทำที่เข้าข่าย อาชญากรรมสงคราม (War Crimes) อย่างชัดเจน ดังนี้
– การจงใจโจมตีพลเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีสถานะทางทหาร
– การทำลายสถานที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน อนุสาวรีย์
– การใช้อาวุธหนักแบบไม่เลือกเป้าหมาย
– การตั้งฐานยิงในพื้นที่ชุมชนและใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์

แต่การทำของฝ่ายกัมพูชาในครั้งนี้ คุ้มค่าอย่างไรกับการที่ต้องแลกมาด้วยการถูกประณามว่าเป็นอาชญากรสงคราม รศ.ดุลยภาค อธิบายว่า การกระทำนี้อาจเป็นเรื่องของการพยายามแสดงชัยชนะทางทหาร และนำไปสู่คะแนนนิยม (popularity) ของผู้นำประเทศ

เราจะเห็นว่าเขาพยายามยกระดับพื้นที่ที่เป็นจุดร้อน ให้กลายเป็นจุดโฟกัสของโลก โดยมีการสู้รบกัน จากนั้นก็อธิบายว่าไทยเป็นฝ่ายรุกรานตนเองก่อน กัมพูชาจึงต้องป้องกันตัว จากนั้นก็นำเรื่องเข้าสู่คณะมนตรีความมั่งคงแห่งสหประชาชาติอย่างที่เราเห็น”

จากการสู้รบกับไทยเมื่อปี 2554 มีทหารกัมพูชาเสียชีวิตจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่ากัมพูชามีแสนยานุภาพทางทหารที่สู้ไทยไม่ได้ ตอนนี้เวลาผ่านมากว่าสิบปี กัมพูชาจึงอาจมีการเสริมเขี้ยวเล็บทางทหาร พัฒนาแสนยานุภาพ

“การพยายามยั่วยุ ชิงไหวชิงพริบ และเปิดฉากปะทะกับไทยในครั้งนี้ อาจมาจากการประเมินว่าตลอดแนวพรมแดนกว่า 800 กม. อาจมีบางจุดที่เขาได้เปรียบทางทหาร และหากสามารถชนะไทยได้ในบางยุทธบริเวณ กัมพูชาจะสามารถประกาศชัยชนะได้ (แม้ว่าสมรภูมิอื่นจะแพ้ก็ตาม) และนำไปสู่การยกระดับคะแนนนิยมของเขาด้วย”

เรียกร้องรัฐบาลไทย ประกาศจุดยืน “ปฏิบัติการการป้องกันตนเองเพื่อสันติภาพ”

ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยอาจยังไม่มีทีท่าที่ชัดเจนถึงความพยายามในการปกป้องอธิปไตยของชาติ มีหลักฐานต่าง ๆ มากมายที่ระบุว่ากัมพูชา คือ แหล่งของอาชญากรข้ามชาติ scammer และภัยคุกคามทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ จนกระทั่งในครั้งนี้ที่เราถูกรุกราน ปฏิบัติการทางทหารของเราจึงเป็นการตอบโต้เพื่อรักษาสันติภาพ และปกป้องผู้บริสุทธิ์

รศ.ดุลยภาค กล่าวว่า เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ สันติภาพ ต้องมีการเจรจาเพื่อให้หยุดยิงก่อน เพราะการหยุดยิงจะเป็นพื้นฐานที่ดีไปสู่สันติภาพที่ชัดเจน

“หน่วยงานความมั่นคงของไทยควรประกาศจุดยืนให้ชัดเจน ว่าสิ่งที่ไทยกำลังทำอยู่ คือ ปฏิบัติการการป้องกันตนเองเพื่อสันติภาพ (Self-Defence in Peace Operations) จุดยืนนี้จะแสดงให้เห็นว่าเรามีความชอบธรรมที่จะปกป้องตนเอง และดูรัดกุม มีความชอบธรรม และทำให้ไทยเราสง่างามบนเวทีโลก”

จุดเปราะบาง 2 ประเทศ –  แคชเมียร์ หิมาลัย ห่วงไทยกำลังจะไปถึงจุดนั้น

รศ.ดุลยภาค อธิบายว่า การเผชิญหน้าทางการทหารตามแนวชายแดน ที่มีการวางกองกำลังของทั้ง 2 ประเทศ ไม่ได้มีแค่ไทยและกัมพูชา แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังเช่น แคชเมียร์เป็นพื้นที่พิพาทระหว่างอินเดียและปากีสถาน โดยทั้งสองประเทศต่างอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนนี้เช่นกัน

เช่นเดียวกับ พรมแดนระหว่างจีนและอินเดีย โดยเฉพาะบริเวณเทือกเขาหิมาลัย เป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและข้อพิพาทมายาวนาน มีสาเหตุมาจากความไม่ชัดเจนของเส้นแบ่งเขตแดนบนแนวเทือกเขาหิมาลัย ที่ระบุว่าเป็นเขตุพื้นที่ทุรกันดาร ยากลำบากต่อการกำหนดเขตแดนที่ชัดเจน) ซึ่งการปะทะกันเกิดขึ้นรุนแรงในระดับการใช้อาวุธระยะประชิด หรือเข้าจู่โจมทำร้ายกันด้วยมือเปล่า

เราต้องระมัดระวังไม่ให้ชายแดนไทยและกัมพูชาไปสุ่จุดนั้น เราได้ยินว่าเริ่มมีการขนทหารเข้ามายึดพื้นที่ เริ่มมีการจู่โจมระยะประชิด มีการผลักอกกัน จุดเล็ก ๆ แต่หากปล่อยไว้เนิ่นนาน เหตุการณ์นี้จะบานปลายไม่ต่างอะไรกับเหตุการณ์ทีแคชเมียร์หรือหิมาลัย

สำหรับการจัดการของรัฐมีได้หลายรูปแบบ ซึ่งการตัดสินใจขอผู้นำประเทศมาจากหลายปัจจัย รศ.ดุลยภาค ได้ยกตัวอย่างกรณีของเหตุการณ์ 9/11 ที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช สั่งการให้กองทัพสหรัฐฯ ตอบโต้ทันที

เพียงหนึ่งเดือนให้หลัง สหรัฐฯสังการนำกองทหารบุกอัฟกานิสถาน เพื่อกำจัดกลุ่มอัลกออิดะห์และตามล่า โอซามา บิน ลาเดน

ในครั้งนั้น มุมของสหรัฐฯ คือ ปฏิบัติการการตามล่าอาชญากรสงครามที่เป็นอันตรายต่อมวลมนุษยชาติ และพยายามล้มล้างระบอบตาลีบัน

“นี่คือการปฏิบัติการทางทหารที่ถูกอธิบายว่าเป็น ‘สงครามเพื่อสันติภาพ’ เพราะเป็นการเข้าไปทะลายสิ่งที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อมวลมนุษยชาติเพื่อให้เกิดสันติภาพขึ้นมา แต่ผมไมไ่ด้บอกว่าการตอบโต้ลักษณะนี้เป็นวิธีที่ถูกต้องหรือดีที่สุด”

รศ.ดุลยภาค อธิบายให้เห็นภาพชัด ถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นทั่วโลก และมีรูปแบบการจัดการที่รุนแรงแตกต่างกันไป แม้จะยืนยันว่าไม่ได้ระบุว่าวิธีไหนถูกต้องหรือดีที่สุด แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ในวันนี้ยังคงไปไม่ถึงขั้นนั้น แต่สิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำตอนนี้ คือ การประกาศจุดยืน ก่อนที่ทุกอย่างจะปานปลายไปเสียก่อน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active