หลังการปะทะตามแนวชายแดนต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ขณะเริ่มมีกระแสสร้างความเกลียดชังแรงงานกัมพูชา กระทบภาพลักษณ์ไทย แนะรัฐต้องสื่อสารชัดเจน–คุ้มครองทุกคนเท่าเทียม

แรงงานกัมพูชาแน่นด่าน! รอกลับประเทศ
เช้าวันนี้ (26 ก.ค.2568) ที่ด่านชายแดน จ.จันทบุรี ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส คัมคุณ ยมนาค รายงานว่า พบชาวกัมพูชาจำนวนมาก เดินทางทั้งจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี และตราด พร้อมสัมภาระข้าวของเครื่องใช้ และสัตว์เลี้ยงมารวมตัวกันเพื่อเตรียมข้ามแดนบริเวณบ้านแหลมจันทบุรี หลังเกิดเหตุปะทะต่อเนื่องตามแนวชายแดนเป็นวันที่ 3
โดยมีเจ้าของสวนผลไม้ในพื้นที่ จ.ตราด เดินทางมาส่งแรงงานชาวกัมพูชาที่เป็นลูกจ้างของตัวเอง เพื่อเดินทางกลับ โดยแรงงานให้เหตุผลว่า ต้องการกลับไปดูแลครอบครัว ในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ โดยเจ้าของสวนยอมรับว่า ได้รับผลกระทบเพราะขาดแรงงาน หลังจากนี้อาจต้องจ้างคนงานชาวไทยทดแทน แต่ก็ต้องแลกกับค่าแรงที่สูงขึ้น
และจากการสอบถามแรงงานที่ตัดสินใจเดินทางกลับ ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ไม่มั่นใจในความปลอดภัยจากสถานการณ์ความขัดแย้งของทั้งสองประเทศ และอาจไม่ปลอดภัยหากยังคงอยู่ในประเทศไทย

เช่นเดียวกับที่ด่านชายแดนไทยกัมพูชา จังหวัดสระแก้ว ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รัตนกรณ์ โต๊ะหมัด รายงานว่า บริเวณด่านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ตั้งแต่ช่วงเช้า มีชาวกัมพูชาจำนวนมาก ขนสัมภาระมารอเดินทางกลับประเทศ แต่จนถึงช่วงสายของวันนี้ (26 ก.ค.2568) ยังไม่มีคำสั่งเปิดด่านแต่อย่างใด ขณะที่้สถานการณ์ปะทะตามแนวชายแดน มีรายงานว่าทหารกัมพูชา มีความเคลื่อนไหว ใกล้ชายแดนอำเภอตาพะยา ล่าสุดฝ่ายความมั่นคงได้เคลื่อนย้ายกลุ่มเสี่ยงออกจากพื้นที่แล้ว
นอกจากสถานการณ์การปะทะตามแนวชายแดน ก่อนหน้านี้ยังมีกระแสความพยายามสร้างความเกลียดชังแรงงานชาวกัมพูชาในประเทศไทย ผ่านโลกออนไลน์
อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ตรงประเด็น (25 ก.ค.68) ต่อกระแสความเกลียดชังแรงงานกัมพูชาในไทย ว่า ขณะนี้มีรายงานจากแรงงานกัมพูชาในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ว่ามีการใช้ความรุนแรงกับแรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
โดยแรงงานหลายคน สะท้อนความรู้สึก “กลัว” จากภาพข่าวการทำร้ายร่างกาย ทำให้หลายคนเริ่มตัดสินใจเดินทางกลับประเทศ ทั้งนี้มีแรงงานจำนวนหนึ่ง เดินทางไปยังชายแดนตั้งแต่เช้าเพื่อขอข้ามแดนกลับบ้าน ขณะเดียวกัน คนไทยในกัมพูชา ก็รู้สึกไม่มั่นใจและอยากกลับมาเช่นกัน ความกังวลนี้จึงเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย
กฎหมาย ต้องคุ้มครองทุกคน
อดิศร ยังเน้นว่า การทำร้ายร่างกายเป็นคดีอาญา และเป็นหน้าที่ของรัฐ ที่จะต้องดำเนินการหากมีการแจ้งความร้องเรียนจากแรงงาน โดยไม่ควรมีการเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือกัมพูชา
“สิ่งสำคัญที่รัฐต้องสื่อสารอย่างชัดเจนคือ ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร อยู่ในประเทศไทย ทุกคนต้องได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเหมือนกัน และรัฐต้องดูแลทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน”
อดิศร เกิดมงคล
อดิศร ยังตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้การสื่อสารจากรัฐ ยังมีทิศทางที่ไม่สอดคล้องกัน คือ ฝ่ายหนึ่งประกาศยืนหยัดในหลักการว่ากฎหมายคุ้มครองทุกคน แต่ในทางปฏิบัติกลับมีการจับตาแรงงานกัมพูชาอย่างเข้มงวด ซึ่งสร้างความหวาดระแวงระหว่างคนไทยและแรงงานต่างชาติในสังคม จึงอยากให้รัฐสื่อสารอย่างชัดเจน และยืนหยัดในหลักสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง
จุดยืนรัฐบาลไทยยังไม่ชัด เป็นข้อเสียเปรียบทางการเมือง
อดิศร ยังกล่าวถึงท่าทีนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชา ที่ออกมาเรียกร้องไม่ให้ชาวกัมพูชาทำร้ายคนไทย ซึ่งสะท้อนความพยายามในการรักษาภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีโลก ตรงกันข้ามกับฝั่งไทยที่ยังขาดการสื่อสารอย่างชัดเจนในเรื่องนี้
“เมื่อเกิดภาพข่าวการทำร้ายกันขึ้นมา มันส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลก และเรากำลังเสียเปรียบทางการเมืองระหว่างประเทศ”
อดิศร เกิดมงคล
พร้อมเตือนว่า ความคึกคะนองหรือการใช้ความรุนแรงกับแรงงานข้ามชาติ จะยิ่งเข้าทางรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งอาจใช้สถานการณ์นี้ในการสื่อสารว่าไทยไม่สามารถปกป้องแรงงานกัมพูชาได้ และผลักดันให้แรงงานเดินทางกลับประเทศ
ต้องพัฒนาช่องทางร้องเรียนและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ
แม้กฎหมายไทยจะคุ้มครองทุกคนในหลักการ อดิศร ก็มองว่า ในทางปฏิบัติช่องทางการเข้าถึงสิทธิคุ้มครองยังไม่เหมาะสมสำหรับกลุ่มที่ไม่ใช่คนไทย
“เราสร้างระบบกฎหมายเพื่อคนไทยเป็นหลัก โดยลืมไปว่าในประเทศนี้ยังมีคนที่ไม่ใช่คนไทยอีกจำนวนมาก”
อดิศร เกิดมงคล
พร้อมเสนอว่า รัฐบาล กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาช่องทางรับเรื่องร้องเรียน และเพิ่มกลไกการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติให้ชัดเจนและเข้าถึงได้จริง
แรงงานเริ่มเดินทางกลับ เสี่ยงกระทบธุรกิจทั้งระบบ
อดิศร ประเมินว่า ในช่วงแรกของความขัดแย้ง แรงงานกัมพูชาส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจกลับประเทศ แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและความหวาดกลัวแพร่กระจาย ความรู้สึกไม่ปลอดภัยได้ก่อตัวขึ้น จนเริ่มมีแรงงานทยอยเดินทางกลับ โดยประเมินว่า อาจมีแรงงานกลับประเทศราว 200,000 คน จากทั้งหมดประมาณ 500,000 คน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยอย่างมาก
“แรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีนายจ้างอยู่แล้ว หลายรายได้ลงทุนในกระบวนการต่ออายุสัญญาทำงาน หากแรงงานเดินทางกลับ ก็จะเสียทั้งต้นทุนและกำลังคนทันที โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีแรงงาน 10–20 คน หากแรงงานกลับประเทศ ก็อาจส่งผลให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก หรือถึงขั้นล้มละลายได้”
อดิศร เกิดมงคล
มหาวิทยาลัยไทยแสดงจุดยืน “ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ” ท่ามกลางความขัดแย้งไทย–กัมพูชา
ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยหลายแห่งของไทย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ พร้อมประกาศจุดยืนร่วมกันในการดูแลนิสิตนักศึกษาทุกเชื้อชาติอย่างเท่าเทียม


จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศาสตราจารย์ วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงนิสิต ผู้ปกครอง คณาจารย์ และประชาคมจุฬาฯ ระบุว่า มหาวิทยาลัยยึดมั่นในการดูแลสวัสดิภาพของนิสิตทุกคนอย่างสูงสุดโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนา พร้อมเน้นย้ำถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เป็นมิตร และเคารพในความหลากหลาย
“เราจะไม่ยอมให้เหตุการณ์ใด ๆ มาบั่นทอนสวัสดิภาพทางร่างกายและจิตใจของนิสิต หากนิสิตท่านใดมีความกังวล รู้สึกไม่ปลอดภัย หรือประสบปัญหาใด ๆ ขอให้รีบติดต่อมหาวิทยาลัยโดยทันที”
อธิการบดีจุฬาฯ ระบุในแถลงการณ์
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก็ได้เผยแพร่ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แสดงความห่วงใยนักศึกษา และยืนยันการยืนหยัดในหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในภาวะที่อาจเกิดความตึงเครียดทางสังคมจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ


แถลงการณ์และการสื่อสารเหล่านี้สะท้อนท่าทีของสถาบันการศึกษาไทยที่เลือกยืนเคียงข้างนิสิตนักศึกษาทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติตามเชื้อชาติหรือสัญชาติ แม้ในบริบทที่มีความอ่อนไหวด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ตาม
จากสถานการณ์นี้ ยังไม่มีรายงานว่านิสิตชาวกัมพูชาในประเทศไทยได้รับอันตรายโดยตรง แต่ความเคลื่อนไหวของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ถือเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกถึงความพยายามในการปกป้องนักศึกษาและป้องกันการสร้างความเกลียดชังในสังคม