สธ.เผยสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชายังวิกฤต กระทบระบบสาธารณสุข 6 จังหวัด รพ.ปิด 7 แห่ง ลดบริการ เหลือเฉพาะฉุกเฉิน 10 แห่ง เจ็บเพิ่ม 2 คน ส่งรถ “ฟอกไต-โรคหลอดเลือดสมอง”เคลื่อนที่ ถึงอุบลฯ เย็นนี้
วันนี้ (26 กรกฎาคม 2568 ) ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชายังคงส่งผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีสถานบริการทางการแพทย์ใน 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ตราด และสระแก้ว รวม 17 แห่ง
ปิดบริการ 7 แห่ง – เหลือเฉพาะฉุกเฉิน 10 แห่ง
โรงพยาบาลที่ ปิดบริการชั่วคราว คงเดิม 7 แห่ง ได้แก่
• รพ.น้ำขุ่น และ รพ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี
• รพ.กันทรลักษณ์ และ รพ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ
• รพ.พนมดงรัก และ รพ.กาบเชิง จ.สุรินทร์
• รพ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์
ส่วนโรงพยาบาลที่ต้อง ลดบริการเหลือเฉพาะกรณีฉุกเฉิน เพิ่มเป็น 10 แห่ง ได้แก่
• รพ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี
• รพ.บัวเชด, รพ.สังขะ, รพ.ปราสาท จ.สุรินทร์
• รพ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
• รพ.คลองใหญ่ และ รพ.บ่อไร่ จ.ตราด
• รพ.ตาพระยา, รพ.โคกสูง, รพ.คลองหาด จ.สระแก้ว
เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแล้ว 583 คน – เจ็บสะสม 35 คน
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ขณะนี้มีการ เคลื่อนย้ายผู้ป่วย ไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว รวม 583 คน
มีผู้ บาดเจ็บเพิ่ม 2 คน อาการปานกลาง ทำให้ยอดผู้บาดเจ็บ สะสม 35 คน ยังพักรักษาในโรงพยาบาล 16 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิต ยังคงอยู่ที่ 13 คน
ศูนย์พักพิง 315 แห่ง – ดูแลกลุ่มเปราะบางกว่า 10,000 คน
ศูนย์พักพิงเปิดแล้วทั้งหมด 315 แห่ง มีประชาชนเข้าพักรวม 93,006 คน
ในจำนวนนี้เป็น กลุ่มเปราะบาง 10,586 คน ได้แก่
• ผู้สูงอายุ 8,114 คน
• เด็กเล็กอายุ 0-5 ปี 1,591 คน
• ผู้พิการ 304 คน
• ผู้ป่วยติดเตียง 238 คน
• หญิงตั้งครรภ์ 99 คน
• ผู้ป่วยฟอกไต 93 คน
• ผู้ป่วยจิตเวช 147 คน
มีการจัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขดูแล พร้อมส่งทีมสนับสนุนเข้าเสริมในพื้นที่ ได้แก่
• ทีมฉุกเฉินการแพทย์ 45 ทีม
• ทีมอนามัยสิ่งแวดล้อม 165 ทีม
• ทีมเยียวยาสุขภาพจิต 59 ทีม
• พร้อม รถฉุกเฉินขั้นสูง 171 คัน
ส่งรถพยาบาลเฉพาะทางถึงอุบลฯ เย็นนี้
เพื่อรองรับความต้องการในพื้นที่วิกฤต กรมการแพทย์ได้จัดส่ง
• รถฟอกไตเคลื่อนที่ 1 คัน
• รถโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ 1 คัน
จาก รพ.นพรัตนราชธานี เดินทางไปประจำการที่ รพ.สมเด็จพระยุพราชเดชอุดม จ.อุบลราชธานี คาดว่าจะถึงพื้นที่ภายในเย็นวันนี้
พร้อมกันนี้มีการประสาน จิตอาสาด้านการแพทย์และสุขภาพจิต เตรียมพร้อมสนับสนุนเพิ่มเติมหากสถานการณ์ยืดเยื้อ
ส่อง รพ.สีส้ม–สีเขียว ช่วยรับผู้ป่วยจากเขตสู้รบ
จิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อติดตามสถานการณ์และสนับสนุนการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุปะทะชายแดนไทย–กัมพูชา
โรงพยาบาล 3 แห่ง ที่รับผู้ป่วยจากเขตสีแดง
• รพ.โนนคูณ รับผู้ป่วยจาก รพ.กันทรลักษ์ 21 คน
• รพ.เบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา รับ 31 คน
• รพ.ศรีรัตนะ รับ 20 คน
ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเคสสีเหลืองและสีเขียว ส่วนผู้บาดเจ็บสาหัส (เคสสีแดง) ถูกส่งต่อไปยัง รพ.ศรีสะเกษ ข้อมูลล่าสุดมี
• ผู้เสียชีวิต 8 คน
• รักษาหายกลับบ้าน 7 คน
• อยู่ระหว่างรักษา 8 คน
สถานการณ์ อ.ภูสิงห์ – ปิด รพ. เคลื่อนย้ายผู้ป่วย 24 คน
รพ.ภูสิงห์ ต้องปิดให้บริการชั่วคราว เนื่องจากอยู่ในระยะยิงของฝั่งกัมพูชา โดยมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยัง
• รพ.ปรางค์กู่ 5 คน
• รพ.ห้วยทับทัน 7 คน
• รพ.วังหิน 12 คน
ย้ำสิทธิรักษาฟรี – 30 บาทรักษาทุกที่
ประชาชนที่ย้ายจากเขตสีแดง หรืออพยพมาอยู่ในศูนย์พักพิง สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลเขตปลอดภัย (สีส้ม–สีเขียว) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายใต้โครงการ “30 บาทรักษาทุกที่” โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ รายงานว่า โรงพยาบาลในจังหวัดได้ร่วมกันจัดทีมแพทย์หมุนเวรเพื่อรองรับ
• ผู้ป่วยย้ายมาจากเขตสีแดง
• ผู้ป่วยใหม่จากศูนย์อพยพ
• ผู้ป่วยฉุกเฉิน
• หญิงตั้งครรภ์ที่รอคลอด
ปัญหาเร่งด่วน
1. เตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอ
2. ขาดเครื่อง Infusion Pump (ควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือด)
3. ขาดเครื่องมือสื่อสารของหน่วยกู้ภัย
4. งบฯบำรุงไม่เพียงพอ เนื่องจากเป็นช่วงท้ายไตรมาสของปีงบประมาณ และหลาย รพ.เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก
จิรพงษ์ ระบุว่า ได้นำปัญหาทั้งหมดเสนอถึง รมว.สาธารณสุขแล้ว เพื่อหาแนวทางจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม และสนับสนุนเครื่องมือที่จำเป็นโดยเร็ว