แนะ เปลี่ยนจากให้งบฯ กับหมู่บ้านที่มีปัญหาไฟ เป็นให้รางวัลกับพื้นที่ไม่มีไฟ เชื่อเป็น 1 ในการแก้หมอกควันซ้ำซากได้ ขณะพื้นที่ทับซ้อน ขาดเจ้าภาพ ยังเป็นปัจจัยสำคัญไฟป่าซ้ำซากภาคเหนือตอนบน
วันนี้ (6 มี.ค. 2565) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไฟป่ากลับมาปะทุลุกลาม ทำให้ฝุ่นควันลอยมาถึงเขตตัวเมืองเชียงใหม่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแล้ว สำหรับปัญหาฝุ่นควันวนกลับมาเป็นประจำทุกปี สาเหตุยังคงเกิดจากการเผาทั้งในที่ป่า พื้นที่เกษตร ที่โล่ง แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหามาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า เทียบกันให้เห็นชัด ปี 2563 – 2565 ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ พบจุดความร้อนเกิดอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์มากที่สุด รองลงมาเป็นป่าสงวน ขณะที่สถานการณ์ เมื่อปี 2564 หนักกว่าปี 2563 ส่วนปีนี้ ยังเพิ่งเริ่มต้น
The Active ตรวจสอบพบว่า สาเหตุที่จุดความร้อนมักเกิดในเขตป่ามากกว่าพื้นที่เกษตร อย่าง เขต สปก. ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำเกษตรบนพื้นที่สูงในเขตภาคเหนือ เป็นการทำเกษตรในพื้นที่ป่า ขณะที่การจัดการพื้นที่สูงมีข้อจำกัด ทั้งพื้นที่ทับซ้อน ขาดเจ้าภาพ โดยเฉพาะพื้นที่รอยต่อหลายจังหวัด กลายเป็นพื้นที่ไฟป่าซ้ำซาก
สถิติการเกิดไฟไหม้หรือจุดความร้อน ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ตั้งแต่ปี 2558 – 2562 วิเคราะห์จากการเกิดไฟป่าซ้ำซากในพื้นที่เดิม ตลอด 5 ปี เพื่อประเมินระดับความเสี่ยงที่จะเกิดไฟ โดยกองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า พบว่ามีพื้นเสี่ยงระดับ 1 กว่า 11 ล้านไร่ เสี่ยงมาก 1 ล้าน 8 แสนไร่ และเสี่ยงมากที่สุด คือ 738,000 ไร่ แม้ที่ผ่านมาจะพยายามใช้มาตรการห้ามเผามาแล้วหลายปี แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้
การแก้ไขปัญเฉพาะหน้า ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุวันนี้ (6 มี.ค.) ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงกลาโหม เป็นห่วงสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ สั่งให้ทำฝนหลวง และดำเนินคดีกับผู้ที่ลักลอบเผาป่า ทั้งนี้ ขอความร่วมมือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในพื้นที่ สังเกต เฝ้าระวังและแจ้งปัญหาภัยธรรมชาติต่าง ๆ ผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
ด้าน รศ.สมพร จันทระ ประธานคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอว่าต้องสำรวจแหล่งกำเนิดมลพิษ ทำบัญชีรายชื่อออกมา และมีแผนลดมลพิษ ตั้งเป้าให้ชัดเจนว่า จะใช้เวลาเท่าไหร่ เพื่อแก้ปัญหาให้แล้วเสร็จ
แม้ไม่ควรให้เกิดไฟขึ้นเลย แต่ก็ยอมรับว่าการชิงเผาหรือลดเชื้อเพลิง ยังเป็นทางออกให้กับวิถีชาวบ้าน ขณะที่โครงสร้างการให้งบประมาณต้องปรับ จากที่เทงบฯให้ชุมชน หรือจุดที่เกิดไฟ เปลี่ยนมาสนับสนับหมู่บ้านที่แก้ปัญหาไฟได้อย่างจริงจังแทน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาไฟไหม้ในภาพรวมและพื้นที่ไหม้ซ้ำซาก
“งบประมาณควรจะจัดการในลักษณะกลับกันจากในตอนนี้ ที่เราให้งบประมาณกับหมู่บ้านที่มีปัญหาไฟในพื้นที่ เราน่าจะปรับเปลี่ยนเป็นให้รางวัลกับพื้นที่ที่ไม่มีไฟ น่าจะสนับสนุนงบประมาณให้พัฒนาพื้นที่ของเขาได้มากกว่า มันอาจจะต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างงบประมาณที่ใช้ดับไฟ ก็ส่วนหนึ่งแต่งบฯ ให้ในลักษณะเป็นรางวัลก็ส่วนหนึ่ง เพื่อให้เกิดความสมดุล ในบางพื้นที่ที่ดูแลดีไม่มีไฟเลย มันก็เลยกลายเป็นว่าเขาไม่ได้งบประมาณสนับสนุน”
The Active ลงสำรวจบางพื้นที่ แก้ปัญหาไฟป่าด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่า ซึ่งเป็นการดำเนินการผ่านงานวิจัยที่บ้านป่าตึงงาม อ.เชียงดาว ในโครงการ CMU โมเดล สะท้อนความสำเร็จในการจัดการไฟป่า ซึ่งเลือกวิธีการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตป่าให้ดีขึ้น โดยผ่านการปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรจากพืชเชิงเดี่ยว เป็นไม้ผลแล้วกลายเป็นหมู่บ้านจัดการไฟป่าตัวอย่างของอุทยานศรีลานนา
เศรษฐี พะโย ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าตึงงาม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าเดิมพื้นที่บริเวณนี้ของบ้านป่าตึงงาม เคยเป็นไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมด แต่ตอนนี้เริ่มเปลี่ยนเป็น มะม่วง ลำไย ผสมไปกับพืชผักสวนครัว และการทำปศุสัตว์หลังจากที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้ามาให้องค์ความรู้และสนับสนุนพัฒนาสาธารณูปโภคให้ดีขึ้น
การเปลี่ยนวิถีเกษตรแบบไม่ต้องใช้การเผา ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าตึงงาม ระบุว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นพืชสวน ชาวบ้านเริ่มต้นด้วยการปลูกกล้วย เพื่อสร้างรายได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีต่อมาหมู่บ้านแห่งนี้ ไม่มีพืชเชิงเดี่ยวและไม่ต้องเผาอีก ทั้งยังสามารถพึ่งพาตนเองจากทรัพยากรอาหารที่หลากหลายในพื้นที่
“การจัดการไฟป่าให้มีประสิทธิภาพและได้ผลมากที่สุดต้องจัดการคน ทุกวันนี้เราไม่ได้จัดการคน เราจัดการไฟป่า เป็นการจัดการปลายทาง จริง ๆ แล้วป่าไม่ต้องการไฟ มนุษย์ต่างหากที่ต้องการไฟ”