ไกลก้อง จี้ กสทช. ทำระบบเตือนภัยพิบัติผ่าน SMS

อดีตผู้อํานวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อนวัตกรรมสังคม เปิดแคมเพนผ่าน Change.org เร่ง กสทช. ถอดบทเรียนสารเคมีรั่ว นครปฐม ทำระบบเตือนภัยพิบัติ แบบ Wireless Emergency Alerts (WEAs) ย้ำชีวิตแพงกว่าค่าส่ง SMS เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5 กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ กรณีสารเคมีรั่วไหลในพื้นที่ ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม จากการตรวจสอบเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลจากโรงงานใน ต.ขุนแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม พบว่า เป็นสารกลุ่มอะโรเมติก เบนซีน Diphenyl Oxide (ไดฟีนีล ออกไซด์) และ Biphenyl (ไบฟีนีล) ซึ่งสารเคมีดังกล่าว มีน้ำหนักเบา ลอยไปในอากาศได้ระยะไกล หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ และส่งผลต่อทางเดินหายใจ

แม้สถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่เป็นประเด็นที่ต้องถอดบทเรียน เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยที่เกิดภัยพิบัติร้ายแรง ก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุการณ์ใหญ่หลายครั้ง แต่ประชาชนกลับรับรู้ข่าวสารได้ช้า และบ่อยครั้งที่ข้อมูลเกิดความสับสน

ไกลก้อง ไวทยการ คณะก้าวหน้า อดีตผู้อํานวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อนวัตกรรมสังคม หนึ่งในผู้ผลักดันนโยบายเปิดเผยข้อมูลรัฐกำจัดทุจริต หรือ Government Open Data ได้สร้างแคมเพนรณรงค์ “สารเคมีรั่วนครปฐม น้ำมันรั่วที่ระยอง และอีกหลายกรณี กสทช.ต้องทำระบบ SMS เตือนภัย” ผ่านเว็บไซต์ Change.org ระบุ เหตุการณ์สารเคมีรั่วที่นครปฐม มีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะมีส่วนผสมของ “โทลูอีน” ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเมื่อเกิดการสูดดม ซึ่งมีทีท่าว่าจะขยายข้ามเขตมาถึงกรุงเทพและปริมณฑล หนำซ้ำยังเป็นช่วงฤดูฝนที่สารเคมีมีสิทธิ์ที่จะถูกปนเปื้อนมากับน้ำฝน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยเกิดเหตุภัยพิบัติร้ายแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุน้ำมันรั่วกลางทะเลที่จังหวัดระยอง เหตุโรงงานสารเคมีไฟไหม้ที่สมุทรปราการ และอีกหลาย ๆ เคส ประชาชนต่าง ๆ กลับได้รู้ข่าวสารได้ช้า และ บ่อยครั้งที่ข้อมูลสร้างความสับสน

ในต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นมีการใช้ระบบข้อความสั้น หรือ SMS แบบ Wireless Emergency Alerts (WEAs) ในการเข้ามาเตือนภัย ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติธรรมชาติ แบบพายุเข้าหรือแผ่นดินไหว รวมไปถึงภัยจากการกระทำของมนุษย์ที่เป็นอุบัติเหตุ ที่เกาหลีใต้ปริมาณฝุ่น PM 2.5 เป็นอันตรายก็มี SMS เป็น Emergency Alert เตือน

ในฐานะคนที่มีประสบการณ์ทำงานด้านไอทีเพื่อสังคม ไกลก้อง มองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ประชาชนจะต้องรู้ข้อมูลเตือนภัยทันท่วงที รวมไปถึงข้อแนะนำสำคัญ ๆ เช่น การแจ้งอพยพ หรือการห้ามดื่มน้ำและใช้น้ำในบริเวณดังกล่าวเป็นระยะเวลาเท่าไร จนกว่าการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ

เรื่องนี้ กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับกิจการโทรคมนาคม การสื่อสารมวลชน และปกป้องสิทธิ์ของประชาชน ร่วมกับหน่วยงานที่มีระบบฐานข้อมูลภัยพิบัติ สามารถขอเชื่อมโยงข้อมูลกับเครือข่ายผู้ให้บริการมือถือ เพื่อทำข้อความสั้นหรือ SMS แบบ Wireless Emergency Alerts (WEAs) ในการเตือนภัย สำหรับมือถือที่ลงทะเบียนในเขตเสาสัญญาณเครือข่ายบริเวณพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติได้ จึงควรต้องเป็นคนทำเรื่องดังกล่าว เพื่อพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติให้ประชาชนที่ได้รับผล กระทบในพื้นที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และ ทันเวลา อย่ารอให้ใครต้องตายไป เพราะชีวิตของคนแพงกว่าค่าส่ง SMS และ เงินเดือน+เบี้ยประชุมของ กสทช. ได้รับในแต่ละเดือน

สำหรับประชาชนที่สนใจ และเห็นด้วยกับแคมเพนนี้สามารถร่วมโหวตได้ที่ เว็บไซต์ Change.org

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active