ชัชชาติ เร่งหารือทุกหน่วยงาน หลังพบฝุ่น กทม. หนาแน่น พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัน เตรียมเดินหน้าตามแผนวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นให้ลดลงในระยะยาว แก้ปัญหารถเก่าก่อมลพิษ การเผาชีวมวลเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน ห้องเรียนปลอดฝุ่น
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 66 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นให้ลดลงในระยะยาว
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หน่วยงานต่าง ๆ ได้มาประชุมติดตามความคืบหน้า โดยดำเนินการตามแผนวาระแห่งชาติซึ่งทุกหน่วยงานดำเนินการอยู่ คาดว่าในวันที่ 5 ก.พ. 66 สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จะดีขึ้น เนื่องจากได้รับรายงานจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตรว่าได้มีการทำฝนหลวงใน จ.ระยอง อาจจะส่งผลให้มีฝนตกในกรุงเทพฯ พื้นที่เขตลาดกระบัง ประเวศ บางนา ซึ่งอาจจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นให้ดีขึ้น คาดการณ์ว่าฝนตกและความชื้นที่เพิ่มขึ้นจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของฝุ่นลงได้
“ด้านกองทัพภาคที่ 1 มีการฉีดละอองน้ำตามจุดต่าง ๆ ส่วนสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ได้ร่างระเบียบการออกรถยนต์ใหม่โดยใช้มาตรฐาน ยูโร 5 ซึ่งปล่อยไอเสียน้อยกว่าเดิม 10 เท่า และกรมธุรกิจพลังงานได้ปรับเปลี่ยนน้ำมันรองรับเครื่องยนต์ใหม่อีกด้วย นอกจากนี้ กรมสรรพสามิต ซึ่งสามารถคิดภาษีในการออกรถ เช่น รถที่ปล่อยมลพิษน้อยคิดภาษีน้อย รถที่ปล่อยมลพิษเยอะคิดภาษีเยอะ ในอนาคตอาจจะออกข้อบัญญัติเก็บภาษีกับรถที่ปล่อยมลพิษเยอะในรายปี”
ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เน้นการกวดขันวินัยจราจร เพื่อให้การจราจรไม่ติดขัด ก็จะช่วยลดฝุ่นได้ ด้านการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เน้นย้ำการลดฝุ่น โดยทำความสะอาดในไซต์ก่อสร้าง คืนพื้นผิวการจราจรในเส้นทางการสร้างรถไฟฟ้าที่แล้วเสร็จเพื่อลดปัญหาการจราจร สำหรับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้เร่งทบทวนแผนแม่บทการย้ายท่าเรือคลองเตยไปท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งจะช่วยลดจำนวนรถบรรทุกกว่า 2 ล้านเที่ยวต่อปีในท่าเรือคลองเตย และจะส่งผลถึงการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ได้ นอกจากนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีรถกว่า 2,000 คันซึ่งยังใช้น้ำมันดีเซล ได้ขอความร่วมมือเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด
ส่วนเรื่องการฉีดพ่นน้ำลดฝุ่นละอองนั้น มองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เนื่องจากฝุ่นมีปริมาณมาก จะได้ผลบ้างก็ต่อเมื่อฉีดพ่นน้ำอยู่กับที่ เช่น อาคาร โรงเรียน และต้องใช้น้ำสะอาดเมื่อฉีดพ่นในที่มีคนสัญจรหรือชุมชน ซึ่งได้ประสานเรื่องน้ำกับการประปาบ้างแล้ว จึงอยากให้ประชาชนได้ทราบถึงสถานการณ์และกำจัดต้นตอฝุ่นให้ได้มากที่สุด เช่น Work from Home ที่ทำให้ปัญหาการจราจรลดน้อยลงปริมาณฝุ่นก็จะน้อยลงตามด้วย โดยในตอนนี้ฝุ่นไม่ได้หนักแค่เพียงในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่หนักตั้งแต่ภาคกลางถึงภาคเหนือ ส่วนหนึ่งคาดว่าสาเหตุเกิดจากการเผาชีวมวล
ดังนั้นจึงขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในการแก้ไขระยะยาวจะมีการปรับมาตรฐานรถให้มีคุณภาพดีขึ้น เพิ่มมาตรการดูแลแก้ไขปัญหารถเก่าที่ก่อมลพิษ ส่งเสริมให้ประชาชนมาใช้บริการขนส่งมวลชนเพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ที่ต้องมีการจดบันทึกและได้รับการดูแล เพื่อให้ต้นไม้ได้เติบโตเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นแนวป้องกันฝุ่นได้ในอนาคต รวมถึงต้องมีการรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ อาทิ การเผาชีวมวลในปริมณฑล ก็ต้องขอความร่วมมือจากจังหวัดข้างเคียง ส่วนการเผาชีวมวลในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ต้องขอความร่วมมือผ่านเวทีอาเซียน นอกจากนี้จะต้องมีการให้ความรู้เรื่องฝุ่น PM2.5 แก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีความตระหนักรู้มากขึ้น
ในการนี้ กรมอนามัยได้แนะนำว่า เด็กในชุมชนยังขาดความรู้เรื่องฝุ่น ซึ่งส่งผลต่อระบบหัวใจในระยะยาว จึงต้องเพิ่มการทำพื้นที่ปลอดภัยในชุมชนและโรงเรียน เช่น ห้องเรียนปลอดฝุ่น ซึ่งจะต้องทำให้มากขึ้นโดยใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
“ในส่วนของตัวเลขผู้ป่วยทางเดินหายใจจากสำนักอนามัย กทม. พบว่าเพิ่มขึ้นวันละ 25 คน มีอาการระคายเคืองตา เกิดโรคผิวหนัง โรคทางเดินหายใจ เป็นต้น ซึ่งหน้ากากอนามัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ โดยฝุ่นในกรุงเทพฯ จากรถยนต์ทำให้เกิดฝุ่นในสภาวะอากาศเปิด 30 มคก./ลบ.ม. ในสภาพอากาศปิดจะเพิ่มเป็น 60 มคก./ลบ.ม. ยิ่งมีการเผาชีวมวลก็จะเพิ่มปริมาณฝุ่นขึ้นอีก เป็น 90 มคก./ลบ.ม.”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมควบคุมมลพิษ ได้มีพัฒนาศักยภาพการพยากรณ์ฝุ่น PM2.5 ที่มีความแม่นยำมากขึ้น ทำให้กทม.สามารถเตือนภัยได้อย่างแม่นยำผ่านแอปพลิเคชัน AirBKK หรือผ่าน Line Alert เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมการป้องกัน เช่น การ Work from Home เป็นต้น
“ทั้งนี้ กทม.ได้เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศเพิ่มเป็น 6 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร และล่าสุดคือโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ ทุกหน่วยงานทำงานเต็มที่ ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ซึ่งเชื่อว่าเมื่อทุกคนทำเต็มที่แล้ว ในระยะยาวฝุ่นจะลดลงได้”
การประชุมครั้งนี้มี จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร พลตรีพิสิฐ์ มหิงษ์ ที่ปรึกษากองทัพภาคที่ 1 รองเลขานุการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานภาค 1 กองทัพภาคที่ 1 ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร พรพรหม ณ.ส.วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการแพทย์ ขสมก. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กองบังคับการตำรวจจราจร ศูนย์โอโซนและรังสี กรมอุตุนิยมวิทยา กรมควบคุมโรค กรมควบคุมมลพิษ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดนครปฐม จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง และประชุมผ่านระบบออนไลน์