คนเชียงใหม่สูดฝุ่นพิษจิ๋วรายชั่วโมงแตะเกือบ 200 มคก./ลบ.ม.

ค่าฝุ่น PM2.5 เชียงใหม่ พุ่งสูงในระดับอันตรายต่อเนื่อง 3 วัน สัมพันธ์กับจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่า พบปีนี้ จุดความร้อนสะสมเพิ่ม ร้อยละ 23.27  หลายหน่วยผนึกกำลังป้องกันไฟป่า WHO เผย 99%ของประชากรโลกกำลังสูดดมอากาศพิษ

วันนี้ (11 ก.พ. 2566)  แอปพลิเคชัน air 4 thai รายงานสภาพอากาศ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือฝุ่น PM 2.5  ในพื้นที่ภาคเหนือ​หลายจังหวัดปริมาณฝุ่นฯ ยังอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะใน ต.หางดง อ.ฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ปริมาณฝุ่นPM2.5 รายชั่วโมงสูงถึง 183 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ค่าเฉลี่ย24 ชั่วโมง ย้อนหลัง7 วัน ปริมาณฝุ่นฯสะสมต่อเนื่องและเพิ่มสูงขึ้นเกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 3 วันแล้ว 

 ขณะที่ค่าฝุ่นรายชั่วโมงในจังหวัดอื่น ๆ ของภาคเหนือ ยังคงมีปริมาณฝุ่นที่อยู่ในระดับส่งผลกระทบสุขภาพ หรือ สีแดง หลายพื้นที่เช่น ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง ปริมาณฝุ่น PM2.5 รายชั่วโมงสูงถึง 114 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ปริมาณฝุ่นฯ 97 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน ปริมาณฝุ่นฯ 85 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ปริมาณฝุ่นฯ 83 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต.นาจักร อ.เมือง จ.แพร่ ปริมาณฝุ่นฯ 66 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย ปริมาณฝุ่นฯ 69 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  

ปริมาณฝุ่น PM2.5ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ในพื้นที่ภาคเหนือ มีความสัมพันธ์กับจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่า ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 กุมภาพันธ์ 2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566) มีจุดความร้อนสะสม รวม 19,844 จุด มากกว่า ปี 2565 ในช่วงเวลาเดียวกันถึง 3,746 จุด หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.27 

บุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)  เปิดเผยว่า มีการสั่งการและทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างใกล้ชิด ทั้งการติดตามและประเมินสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับใช้ในการวางแผนการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ร่วมกับกองทัพบก (ทบ.) สนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 จำนวน 2 ลำ พร้อมด้วยกำลังพล ประกอบด้วย นักบิน ช่างประจำอากาศยานเจ้าหน้าที่ภาคพื้น และชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) เข้าประจำการ ณ ที่ตั้งส่วนหน้า ค่ายทหารเสือพระองค์ดำ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป โดยจะปฏิบัติการร่วมกับกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และกองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า

โดยมีฐานปฏิบัติการ 2 จุด ได้แก่ ฐานปฏิบัติการที่ 1 พล.ร.7 ค่ายทหารเสือพระองค์ดำ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะประจำการทั้ง 2 ลำ ในห้วงวันที่ 7 – 22 กุมภาพันธ์ 2566 และฐานปฏิบัติการที่ 2 เฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 จำนวน 1 ลำ จากเชียงใหม่จะบินไปประจำการ ณ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป ซึ่งเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 ทั้ง 2 ลำ จะประจำการเพื่อสนับสนุนการควบคุมไฟป่าและลดผลกระทบจากปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนืออย่างต่อเนื่องจนสิ้นสุดฤดูกาล

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า 99% ของประชากรโลกกำลังสูดอากาศที่มีค่ามลพิษเกินกว่ามาตรฐานของ WHO ทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่า 7 ล้านคน ซึ่งมลพิษที่อันตรายที่สุด และส่งผลต่อสุขภาพคนที่สุดคือ PM 2.5  เนื่องจากมีอนุภาคเล็ก ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ และสิ่งที่ติดมากับฝุ่น PM 2.5  จะขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกัน เช่น  โลหะหนัก ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และสารก่อกลายพันธุ์ 

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยระบุว่าคนไทยเสียชีวิตจากฝุ่น PM 2.5 ประมาณ  71,184 คนต่อปี สูงเป็นอันดับสามของอาเซียนรองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม ขณะที่องค์การอนามัยโลกพบว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 สูงเป็น 4 เท่าของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจราจรทางบก 

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ จากหน่วยวิชาโรคระบบการหายใจเวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า แนวโน้มการเสียชีวิตในช่วงที่มีค่ามลภาวะทางอากาศสูงจากปี 2559-2562 เพิ่มขึ้นกว่า 200% และ เมื่อ PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายแล้ว อาจแพร่กระจายเข้าทางเดินหายใจ กระแสเลือด แทรกซึมเข้าอวัยวะ ทำให้ผู้ที่สูดดมเสี่ยงเป็นมะเร็ง ทั้งมะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งไต มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคอื่น ๆ เช่น หัวใจล้มเหลวหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดอุดตันในสมองเฉียบพลัน สมองเสื่อม เบาหวาน ระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ หอบหืด โรคซึมเศร้า โรคอ้วน เยื่อบุตาอักเสบ จมูกอักเสบ ผื่น และภูมิแพ้ 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active