BKK Zero Waste ขยายต่อโครงการไม่เทรวม แยกขยะเปียก-ขยะแห้ง

กทม. รวมพลังภาคี คนกรุงเทพฯ แยกขยะ ลดมลพิษ ขอความร่วมมือ สถานประกอบการ หน่วยงานขนาดใหญ่ หลังพบเมืองกรุงสร้างขยะมากถึง 18% ของทั้งประเทศ

วันนี้ (3 มี.ค. 2566) สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แผนงานคนไทย 4.0 และสมาคมโรงแรมไทย จัดกิจกรรม “BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม” เพื่อแสดงพลังองค์กรภาคีทุกภาคส่วน กว่า 100 องค์กร ที่ต้องการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนด้วยการจัดการขยะที่ต้นทาง ส่งเสริมให้องค์กร/หน่วยงานและสาธารณชนตระหนักถึงปัญหาขยะและมีส่วนร่วมลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะที่ต้นทางโดยเรียนรู้ผ่านองค์กรต้นแบบ

ชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พลังในการเปลี่ยนเมืองอยู่ที่พวกเราทุกคน เมื่อเราผลิตขยะเฉลี่ยคนละ 1.5 กิโลกรัมต่อวัน กทม. เป็นพื้นที่พิเศษ ทิ้งไว้กลางคืน เช้ามาก็หายไปหมดแล้ว แต่มีต้นทุนเบื้องหลัง ใช้เงินเกือบ 8 พันล้านบาทในการบริหารจัดการ มากกว่างบประมาณด้านการศึกษาเกือบครึ่งหนึ่ง ขยะที่เราเอาขยะเปียกกับแห้งรวมกันทำให้เกิดก๊าซมีเทน ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน จึงต้องพยายามสร้างพลังประชาชนในการร่วมกันเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้

“พันธสัญญาทางสังคม เราอยู่กันไม่ใช่เรื่องของกฎระเบียบอย่างเดียว แต่มันขึ้นอยู่กับพันธะสัญญาทางสังคม ว่าเราจะดูแลเพื่อนบ้าน ดูแลเมือง ดูแลสังคมเราอย่างไร กทม. รับผิดชอบอย่างเต็มที่ ประชาชนร่วมมือลดขยะ มันก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่ย้อนกลับ วันนี้เป็นก้าวเล็ก ๆ แต่มีทางเดินที่ยาวไกล ถ้าเราทำเรื่องนี้ได้ก็ทำเรื่องอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุจริต คอร์รัปชัน ขอให้ใช้ความร่วมมือนี้ทำเมืองของเราให้น่าอยู่ต่อไป”

พรพรม วิกิตเศษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปี 2565 ขยะ 3.7 ล้านตันต่อปี 55% เป็นขยะอินทรีย์ เป็นความตั้งใจของโครงการไม่เทรวม เขตปทุมวัน เขตพญาไท เขตหนองแขม แยกขยะเปียกกับแห้งออกจากกัน เน้นรีไซเคิล ช่วยคุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่เก็บขยะ จัดการกับขยะแห้งอย่างเดียว เราเริ่มจากส่วนที่ยากที่สุดคือประชาชนทั่วไป ไม่มีกฎหมายจะมาบังคับ ขอความร่วมมือเท่านั้น ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ว่าถ้าแยกขยะมา เจ้าหน้าที่แยกต่อแน่นอน และถ้ามีการแจ้งมาถึงสำนักงานเขต ก็จะมีการเข้าไปเก็บให้รายเฉพาะ

สำหรับโครงการไม่เทรวมเฟสแรก แบ่งขยะเปียก ขยะแห้ง เริ่ม 3 เขตนำร่อง ได้รับความร่วมมือดี 10% ที่มีการคัดแยกให้ แต่ที่มีผลมากคือสถานประกอบการ จึงต่อยอดเฟส 2 เน้นแยกที่สถานประกอบการ ได้รับความร่วมมือราว 700 องค์กร ให้แยกต้นทาง และวิธีการจัดการต่อเนื่อง เช่น เขตไปเก็บ เกษตรกรนำไปให้ประโยชน์ หรือจัดการเองที่โรงแรม ส่วนที่ 3 สำหรับคนที่ต้องการแยกแต่ไม่มีที่ทิ้งจะไปวางจุด drop point ในจุดต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร เพื่อให้มีจุดรับขยะ ครอบคลุมความต้องการทุกภาคส่วน

“สำหรับการต่อยอดโครงการในวันนี้ คือการต่อยอดความร่วมมือกับโครงการใหญ่ ๆ ทั้งสถานประกอบกิจการ วัด โรงแรม สถานที่ต่าง ๆ ถ้าเราสามารถเข้าไปสร้างความร่วมมือ จะช่วยลดต้นทุนในการจัดการขยะของ กทม.​ได้เป็นอย่างดี วันนี้จึงเป็นโอกาสที่จะเชิญชวนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมต่อยอดองค์ความรู้ เป็นเครือข่ายลดขยะ และนำขยะไปให้ประโยชน์ ให้ กทม. เป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น”

สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ความสำคัญสูงสุดของเรื่องกำจัดขยะคือ ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งมลพิษเป็นหนึ่งใน 7 ประเด็นหลักที่ต้องเร่งดำเนินการ เราจึงขอเป็นแนวร่วมในการสนับสนุน โดยเริ่มดำเนินการในระดับชุมชน การก้าวมาสร้างความร่วมมือของ กทม. เป็นก้าวสำคัญ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีขยะมากที่สุดของประเทศ และเราพร้อมขยายผลต่อไปยังเทศบาลทั่วประเทศ​ ขยะยังเชื่อมโยงกับมิติอื่น ๆ ทางสังคมมากมาย เช่น ขยะจากอาหาร มาจากการทิ้งอาหารอย่างไม่เหมาะสมและทำให้เกิดมลพิษย้อนกลับ

“สสส. เรามีแนวทางที่เชื่อมประสานนโยบายต่าง ๆ และเชื่อมกับองค์กรมากกว่าร้อยองค์กร เพื่อร่วมพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ และเอาผลมานำเสนอกัน สสส. มีความมุ่งมั่นในพันธกิจเดียวกัน พร้อมที่จะประสานความร่วมมือกับทั้งวัด โรงแรม ประชาสังคม ประชาชน เพื่อทำเรื่องนี้ให้สำเร็จในประเทศไทย เพื่อสุขภาพ และสุขภาวะของคนไทย”

รศ.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ร่วมโครงการจัดการขยะที่ต้นทาง กับกรุงเทพมหานคร และ สสส. พัฒนาเขตนำร่องจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทางอย่างยั่งยืน 3 เขต คือ ปทุมวัน พญาไท และหนองแขม มีเป้าหมายพัฒนาระบบการเก็บขยะแบบแยกประเภทร่วมกับสำนักงานเขต มีระบบฐานข้อมูลกลาง ส่งเสริมให้แหล่งกำเนิด อาทิ โรงเรียน วัด ชุมชน โรงแรม อาคารสำนักงาน รวม 84 องค์กรในเขตปทุมวันและหนองแขม ลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะในพื้นที่ นอกจากนี้ โครงการฯ ได้ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนสวนต้องก้าว และบริษัท เจเนซิส เอ๊กซ์ จำกัด พัฒนาต้นแบบจัดการขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงทหารดำ หรือ Black Soldier Fly (BSF) ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม กทม. โดยคาดหวังว่าโครงการนี้ จะช่วยกระตุ้นให้หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ดำเนินการลดขยะที่ต้นทางมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระในการจัดการขยะที่ปลายทางของกรุงเทพมหานครและส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active