สส.พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ทวงถามความคืบหน้าแก้ปัญหามลพิษโรงงาน วิน โพรเสส ‘รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม’ เผย ได้ผู้รับงานกำจัดอะลูมิเนียมดรอส 7,000 ตันแล้ว ใช้งบฯ เพียง 4 ล้าน เตรียมของงบฯ กลาง ปี 68 อีก 40 ล้าน กำจัดส่วนที่เหลือ เล็งออก กฎหมายฉบับใหม่ เพิ่มโทษ – มีกองทุนฯ เฉพาะ
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 67 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน จ.ระยอง ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีไฟไหม้ โรงงาน บริษัท วิน โพรเสส จำกัด และสารเคมีที่หลงเหลือจากการถูกไฟไหม้ยังไม่ได้รับการจัดการ แม้เวลาจะล่วงเลยมานานแล้ว ชาวบ้านจึงมีการตั้งคำถามกับรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยมี 3 ประเด็นคำถาม โดยมี เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ตอบ
มีมาตรการขนย้าย สารเคมี ที่ถูกต้องหรือไม่ ?
ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.พรรคประชาชน ระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 22 เม.ย. ผ่านมาแล้ว 243 วัน เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทั้งรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน มาจนรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร บอกว่าให้ความสำคัญ และหลังจากที่ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ไปด้วยกันเมื่อ 11 ก.ย. จนถึงวันนี้ผ่านมา 2 เดือนแล้ว
“ท่านยืนอยู่ตรงนั้นกับผม แล้วก็ได้อยู่กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และได้บอกว่ามีนโยบายเร่งด่วนที่ท่านจะเร่งทำ ทำไม่หยุด และทำจนกว่าจะเสร็จ”
ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ
ชุติพงศ์ อธิบายเพิ่มว่า สิ่งที่ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม จะทำ คือ 1. ทำการเบี่ยงทางน้ำป้องกันปริมาณน้ำฝนกัดเซาะบ่อสารเคมีชะล้างทำให้ไหลออกไปปนเปื้อนในพื้นที่ของชาวบ้านข้างเคียง 2.จะเร่งกำจัดตะกรันอะลูมิเนียม โดยใช้งบประมาณ 4 ล้านบาท ที่ได้จากเงินวางของศาล และเร่งบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ เพื่อลดการปนเปื้อนและรั่วซึมไปยังพื้นที่ของชาวบ้าน คือสิ่งที่ประกาศไว้ตอนลงพื้นที่ ทุกคนจำได้เป็นอย่างดี แต่หลังจากวันนั้นได้ลงพื้นที่ไปพบปะประชาชน ได้ถูกสอบถามถึงความคืบหน้าของคำสัญญาจากรัฐมนตรี
“วันนั้นชาวบ้านชื่นชมท่านมาก ๆ และดีใจที่ท่านกระตือรือร้น แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้ นอกจากการเบี่ยงทางน้ำที่ทำที่บ้านลุงสัญญา เพื่อไม่ให้น้ำเข้าไปเติมที่บ่อดำจนล้นทะลักออกไป อย่างอื่นยังคงไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด กลิ่นที่ท่านดมวันนั้น วันนี้ก็กลิ่นเดิมครับ ฝนตกลมพัดทีเหม็นไปทั้งชุมชน เป็นความเจ็บปวดเดือดร้อน ที่เขาเองก็ได้แต่ตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใด การขนย้ายสารเคมี ที่ถูกกองทิ้งไว้ยังไม่ได้บำบัดถึงยังไม่เริ่มต้นสักที”
ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ
ชุติพงศ์ บอกอีกว่า ตอนนี้ “ประเทศไทยกำลังตกเป็นถังขยะอุตสาหกรรม” เพราะเศษขยะอุตสาหกรรมจากทั่วโลกกำลังไหลเข้ามา แล้วมาจมอยู่ที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.ระยอง เป็นจำนวนมาก เกิดข้อสงสัยว่าทำไม ไม่มีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเสียที
ตั้งคำถามแรกว่า รัฐบาลมีมาตรการในการขนย้ายสารเคมีทั้งหมดออกไปกำจัดอย่างถูกต้อง อย่างไรบ้าง ?
ขณะที่ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า มีความพยายามในการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง เพราะเชื่อว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งโอกาส น่าจะมีโอกาสในการขยายตัวและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยืนยันว่าการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมจะต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน
กรณีของ วิน โพรเสส มีการร้องเรียนมาก่อนหน้านี้แล้วและมีคดีความในส่วนคดีอาญา ซึ่งศาลมีคำพิพากษา เมื่อปี 2564 ซึ่งตัดสินโทษจำคุกและให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ปรากฏว่าตลอดระยะเวลาตั้งแต่ 2564-2566 ไม่มีผลเป็นที่น่าพอใจ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงไปแถลงต่อศาลว่าขอเข้าดำเนินการจัดการด้วยตัวเอง แต่เงินที่บริษัทวางประกันไว้อยู่มีค่อนข้างจำกัด เพียง 4.9 ล้านบาท ซึ่งหลังจากลงไปตรวจสอบพื้นที่ด้วยตัวเอง ก็ได้ข้อสรุปว่าจำนวนสารเคมีขยะอุตสาหกรรมทั้งหมดในโรงงานมี 33,800 ตัน ใจว่าทั้งหมดนี้ต้องได้รับการจัดการโดยเร็วที่สุด
เอกนัฏ ยังบอกด้วยว่า จากการประเมินว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด อยู่ที่ 493 ล้านบาท ต่อมาในเดือน ต.ค. ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม มี 2 วาระ คือ มีการรายงานสถานะกับอุตสาหกรรมที่กองอยู่ทั่วประเทศ และอีกวาระ คือเป็นการรับรู้ รับทราบความเสียหายที่เกิดขึ้น ของแต่ละพื้นที่ว่าต้องมีการดำเนินการจัดการของเสียในปริมาณเท่าไร ใช้งบประมาณเท่าไร ของ วิน โพรเสส อยู่ที่ 493 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เคยมีการตั้งงบประมาณเอาไว้ และงบประมาณที่ตั้งได้เร็วที่สุดคืองบประมาณปี 69 ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งงบสำหรับจัดการปัญหาที่ วิน โพรเสส ให้ครบถ้วน จะได้เท่าไรนั้นอีกเรื่อง
“ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่ที่ วิน โพรเสส นั้นรอไม่ได้ ผมไปวันนั้น ตอนสัมภาษณ์สื่อฯ ถอดหน้ากากออกมา ใช้เวลาเพียง 5-10 นาที ผมขึ้นรถไปเกือบเป็นลม กลิ่นของตัวกรด แล้วก็สภาพพื้นที่ตัวกรดที่วางอยู่ในบ่อ ในปริมาณแบบนั้นเป็นปัญหามาก ความจำเป็นเร่งด่วนี่สุดคือ ตะกรันอลูมิเนียม ที่ฝนตกลงมา ก็จะมีทั้งกลิ่น ทั้งไอกรด ที่เล็ดลอดออกมา”
เอกนัฏ พร้อมพันธุ์
เอกนัฏ กล่าวอีกว่า การขนย้ายอะลูมิเนียมดรอสออกมานั้น อย่างที่ทราบดี คือ เคยขนออกไปแล้วรอบหนึ่ง ก็มีปัญหากับพื้นที่ที่รับไป แล้วไม่มีความพร้อม มี 2 โจทย์สำคัญ คือ จะขนย้ายออกไปทั้งหมดโดยเร็วที่สุด แต่เงินก้อนแรกที่มีน้อยมาก และเงิน 4.9 ล้านบาท ต้องผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยกรมโรงงาน ในที่สุดปัญหาทั้ง 2 เรื่อง มีคำตอบแล้วคือ มีการประมูลจัดซื้อจัดจ้างไปแล้วเมื่อ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา รับดำเนินการด้วยงบฯ 4 ล้านบาท
“4 ล้านบาทนี้ จะได้ปริมาณงานมา 70 ล้านบาท จำนวนอะลูมิเนียมดรอสทั้งหมด 7,000 ตัน ถ้าเราตีมูลค่าตลาดสำหรับการจัดการต่อตันอยู่ที่ 7,000-10,000 บาท ต้องใช้เงินประมาณ 70 ล้านบาท เพราะนอกจากงานขนย้ายเขาสามารถนำไปใช้ต่อได้ เชื่อว่าถ้าไม่ติดขัดอะไร หวังว่าจะเสร็จภายในปีนี้ แต่ไม่เกินต้นปีหน้าในเวลา 1 เดือน จะเริ่มดำเนินการ”
เอกนัฏ พร้อมพันธุ์
เอกนัฏ กล่าวถึงส่วนที่เหลือว่า หากรองบฯ 69 น่าจะไม่ทันการ จะของบกลางของปี 68 ให้ทีมงานศึกษาจนได้ข้อสรุปว่าจะของบฯ เป็นวงเงิน 40 ล้านบาท ซึ่งเตรียมเสนอต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว
ถามหามาตรการ ป้องกันไม่ให้ไทยเป็นถังขยะอุตสาหกรรม
ชุติพงศ์ ยังถามด้วยว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต มีมาตรการและแนวทางป้องกันไม่ให้การเกิดโรงงานลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะโรงงานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ทำการตัดราคา แต่ไม่มีการกำจัดจริง นี่คือต้นตอปัญหาโรงงานลักลอบนำเข้าและเก็บกักสารเคมีแล้วไม่กำจัด กระจายอยู่ทั่วประเทศ ในภาคตะวันออก พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) บางที่ก็มีแคดเมียมและสารตัวอื่น และคำถามสุดท้าย คดีความกับโรงงานในลักษณะเดียวกัน เจ้าของที่โดนตำรวจจับ ยังถูกจำคุกหรือดำเนินคดีอยู่หรือไม่ กระทรวงอุตสาหกรรม จะเอาผิดเครือข่ายโรงงานอย่างไร
เอกนัฏ ตอบว่า เมื่อเจอผู้กระทำผิดก็ต้องดำเนินคดี ในกรณีของ วิน โพรเสส เห็นความเชื่อมโยง ไปถึงบริษัทเอกอุทัย ที่พระนครศรีอยุธยา โรงงานที่ภาชี รวมถึงเอกอุทัยที่กลางดง และที่ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่อื่นก็ยังพบอีกอย่าง จ.ราชบุรี โรงงาน แวกซ์ กาเบจ และกำลังค้นพบอีกหลายพื้นที่เช่นเดียวกัน ทั้งจ.ปราจีนบุรี จ.ลพบุรี จะเห็นทีมงานลงจับบ่อยครั้ง
“วิน โพรเสส ไม่จบเพียงเท่านี้ ร้องทุกข์กล่าวโทษไปเฉพาะ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย แต่ตอนนี้เรามีการร้องทุกข์กล่าวโทษทางคดีอาญาด้วย ในเรื่องการกระทำความผิดเกี่ยวกับแหล่งน้ำ รวมถึงความเป็นเป็นพิษในแหล่งน้ำ ไม่ใช่แค่ที่ วิน โพรเสส ที่เดียว ทุกบริษัทที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องทั้งหมดได้มีการไปร้องทุกข์กล่าวโทษทั้งกับ สภ. ในพื้นที่ และตำรวจสอบส่วนกลางด้วย”
เอกนัฏ พร้อมพันธุ์
เอกนัฏ บอกอีกว่า ยินดีรับทุกเบาะแสสามารถแจ้งเข้ามาได้ “และยืนยันว่าจะไม่ให้ใครมาหากินบนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเด็ดขาด”
“ผมประกาศไปทั่วประเทศเลยนะครับ ถ้าใครทำอยู่หยุดเดี๋ยวนี้เลย ถ้าท่านไม่หยุดผมจับแน่นอน ทั้งหมดเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น ถ้าจะแก้ปัญหาต้องแก้ที่ระบบ แก้ที่ตัวกฎหมาย”
เอกนัฏ พร้อมพันธุ์
ก.อุตสาหกรรม ลุย ร่างกฎหมายใหม่ ปิดทางธุรกิจสีเทา
รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม บอกด้วยว่า คนทำธุรกิจที่ดีก็มี แต่ก็มาติดปัญหาตรงธุรกิจสีเทาที่เน้นการจ่ายใต้โต๊ะที่มารับจ้างทำการกำจัดขยะอย่างไร้ความรับผิดชอบจะกำจัดให้ สีเทา สีดำ ไม่มีการต่อรองไม่มีการเปรียบเทียบปรับ ดำเนินคดีอย่างเดียว เพื่อเปิดทางให้ธุรกิจสีขาวได้เกิดขึ้น ที่รับจ้างกำจัดขยะแบบมีความรับผิดชอบ โดยได้มีการจัดวางระบบติดตามตรวจสอบทั่วประเทศ ของการกำจัดขยะอุตสาหกรรมทั้งหมดเพื่อจัดระบบใหม่ เพื่อให้ขยะอุตสาหกรรมเหล่านี้ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง 100% และไม่มีการลักลอบนำเข้า ไม่ให้ประเทศไทยถูกตราหน้าว่าเป็นโรงขยะของโลก
สิ่งสำคัญที่สุดเรื่องนี้ต้องขอการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะจะต้องมีการออกกฎหมายใหม่ เพราะปัจจุบันเราไปจัดการกับขยะอุตสาหกรรมด้วยกฎหมาย พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ ไม่ได้มีเจตนาในการจัดการผู้ที่ลักลอบนำเข้าขยะแล้วสร้างความเสียหายให้กับประชาชนและสิ่งแวดล้อม โทษมีเพียงแค่ 2 ปี ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานฯ จะทำให้ตัวกฎหมายมีความสับสน เพราะกฎหมายมีไว้เพื่อจัดระเบียบกลุ่มผู้ประกอบการที่ผลิตของดีอย่างสุจริต
เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีการร่างกฎหมายใหม่ คือ พ.ร.บ. กากอุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขณะนี้ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเตรียมนำร่างไปปรึกษากับทั้งสมาชิก ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ผ่านการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะอุตสาหกรรมทั้งหมด ไปศึกษาดูงานกับกระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำบทเรียนมาปรับใช้กับประเทศไทย
“ผมยืนยันว่าสิ่งที่ผมจะทำคือจะต้องมีกฎหมายนี้ขึ้นมาให้ได้ครับ มีการกำหนดโทษให้หนักพอ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สามารถตรวจจับได้ จะต้องมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อที่จะรวบรวมเงินค่าปรับทั้งหมด ไว้สำหรับเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างกรณีที่เกิดขึ้นที่ วิน โพรเสส ทันที ไม่ต้องรอของบฯกลาง ของบฯประจำปี เพราะเจตนาต้องการนำคนกระทำความผิด มารับผิดชอบ ไม่ควรไปรบกวนเงินภาษีของประชาชนที่เขาไม่ได้มีส่วนร่วมกับการสร้างปัญหานี้เลย”
เอกนัฏ พร้อมพันธุ์