‘ชัชชาติ’ หนุน กม.อากาศสะอาดฯ ชี้ ‘ฝุ่นข้ามแดน กฎหมาย รถยนต์เก่า’ สาเหตุแก้ PM2.5 ไม่จบ

เปิดข้อมูลคนไทยเจอมลพิษพุ่งสูงขึ้น กระทบสุขภาพ ครึ่งปีป่วยแล้วเกือบ 7 ล้านคน กทม. ผนึกกำลัง สสส. – ศวอ. เดินหน้าโครงการเขตมลพิษต่ำ ระยะ 2 เผย ผลดำเนินการ 5 เขต กทม. ชั้นใน สถานประกอบการ สถานศึกษา ศาสนสถาน ร่วมโครงการ 21 แห่ง

วันนี้ (13 ส.ค. 2567) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) จัดงานสรุปผลการดำเนินงานศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ พร้อมพิธีมอบรางวัล โครงการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone : LEZ) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ระยะที่ 2 ให้แก่สถานประกอบการ สถานศึกษา และศาสนสถาน ระดับดีเด่น 21 แห่ง และมอบโล่รางวัลให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ผู้ชนะผลงานศิลปะในกิจกรรม Clean Air Art หัวข้อ “อากาศดี๊ดี ของคนกรุงเทพ” เพื่อสร้างความร่วมมือสู่การแก้ไขปัญหามลพิษอากาศอย่างมีส่วนร่วม

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ปัญหาจากฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาที่สำคัญและซับซ้อน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยสรุปปัญหามาจาก 3 สาเหตุ คือ 1. ฝุ่นที่มาจากเผาพืชผลทางการเกษตรของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้กระแสและทิศทางลมได้นำพาเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งมีความจำเป็นมากที่ต้องอาศัยนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเข้ามาดูแลในส่วนนี้  2. เรื่องกฎหมายที่มีความซับซ้อนเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง กทม.ที่ได้มีกฎเรื่องการปรับรถโดยสารสาธารณะเป็นรถไฟฟ้า ซึ่งผ่านสภากรุงเทพมหานครแล้ว แต่ไม่ผ่านคณะรัฐมนตรี เนื่องจากอยู่นอกเหนืออำนาจของ กทม. แต่ในส่วนของ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ทางกรุงเทพมหานครสนับสนุนให้มีผลบังคับใช้เพื่อประชาชนจะได้มีอากาศที่สะอาดบริสุทธิ์ 3. ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่มาจากภาคการจราจร ผู้ที่มีรายได้น้อยยังมีการใช้รถยนต์สันดาบการไม่ดูแลสภาพรถยนต์จึงทำให้เกิดมลพิษตามมา

ชัชชาติ กล่าวอีกว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาระดับชาติ ซึ่ง กทม. ได้ดำเนินการแผนลดฝุ่น 365 วัน รวมทั้งแผนบริหารจัดการฝุ่นระยะวิกฤต โดยมีแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ กทม. ประจำปี 2567 ประกอบด้วย พยากรณ์แจ้งเตือนป้องกันฝุ่น, ขยายระบบติดตามฝุ่นระดับแขวง 1,000 จุด, จัดทีมนักสืบฝุ่นศึกษาต้นตอฝุ่นละออง PM2.5, ตรวจจับควันดำ, สนับสนุนให้เกิด Ecosystem ของรถพลังงานไฟฟ้า, ทดลองดัดแปลงรถยนต์เก่าเป็นรถไฟฟ้า, ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลช่วงเร่งด่วน, ลดการเผาในที่โล่ง สร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมลดมลพิษอากาศของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง, พัฒนาสู่พื้นที่ปลอดฝุ่น ห้องเรียนสู้ฝุ่น ห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียน, จัดทำแนวกันต้นไม้ลดฝุ่นด้วยต้นไม้ 1 ล้านต้น และสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคมร่วมกับสภาลมหายใจกรุงเทพมหานคร เป็นต้น รวมถึงร่วมมือกับ สสส. ในการดำเนินโครงการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone : LEZ)ระยะที่ 2 ในนำร่องพื้นที่ทั้ง 5 เขต เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาฝุ่น  PM2.5 ด้วย

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส.

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ย อยู่ที่ 59.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี จากข้อมูลผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ ล่าสุด เดือน ก.ค. 2567 ของระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข จากเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ พบว่า เฉพาะปี 2567 มีผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ กว่า 6,800,000 คน สะท้อนความรุนแรงจากพิษภัยของฝุ่น PM 2.5 สสส. ตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพในทุกกลุ่มประชากร โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ กลุ่มเปาะบาง ผู้ปฏิบัติงานกลางแจ้ง ผู้มีความเสี่ยงและป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ และโรคไม่ติดต่อ (NCDs) จึงได้ยกระดับการดำเนินงานด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เรื่อง “การลดผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม” เป็น 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์หลัก 10 ปี (2565-2574)

“นอกจากนี้ สสส. ร่วมกับ กทม. ศวอ. และภาคีเครือข่าย เร่งพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการ นำร่องแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วยเขตมลพิษต่ำ ระยะ2 ร่วมมือกับสถานประกอบการ สถานศึกษา และศาสนสถาน ทั้ง 5 เขต กทม. เช่น เขตปทุมวัน ในศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์ เซ็นทรัล MBK สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ในมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง รวมถึงวัดสระเกศ วัดมังกรฯ ศาลเจ้ากวางตุ้งโรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงพยาบาลธนบุรี เขตคลองสาน ในศูนย์การค้าไอคอนสยาม เขตคลองเตย ท่าเรือกรุงเทพ ศูนย์การค้า เอ็มโพเรียม คอนโดโมดิซ สุขุมวิท 50 และ เขตบางรัก ในคอนโด CULTURE CHULA เป็นต้น โดยมุ่งเป้าขยายผลการดำเนินงานไปยังเขตอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ ต่อไป”

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Clean Air Art จัดงานมอบรางวัลประกวดวาดภาพผลงานศิลปะในหัวข้อ “อากาศดี๊ดี ของคนกรุงเทพ” ของนักเรียนชั้นระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่ 5 เขต ที่เข้าร่วมโครงการ โดยหวังกระตุ้นและปลูกฝังจิตสำนึกเยาวชนซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศในการเข้ามามีส่วนร่วม ภายในงานมีการจัดนิทรรศการของภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ และสถานประกอบการต่าง และผลงานภาพวาดทั้ง 43 ผลงานให้ชมด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active