‘เครือข่ายอากาศสะอาดฯ’ จัดเวที ‘ถอดหน้ากาก สู่ อนาคต’ เนื่องในวัน อากาศสะอาดโลก แพทย์ ย้ำ อากาศสะอาดสู่ความยั่งยืน และอายุยืน ขณะที่ นักวิชาการ-ภาคประชาชน ฝาก กฎหมายเข้มผู้ก่อมลพิษ เป็นผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ
วันนี้ (8 ก.ย. 67) ที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย Thailand Can จัดกิจกรรมเนื่องใน วันอากาศสะอาดโลก ตามที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น วันอากาศสะอาดสากล หรือ International day of clean air ในชื่อ “Unmask the future” ถอดหน้ากาก สู่ อนาคต เพื่อคนไทยจะได้หายใจอากาศสะอาดด้วยกัน โดยมีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมจัดนิทรรศกาล กิจกรรม ร้อยเรียงเรื่องราวสู่อนาคต เพื่อให้ทุกคนมีอากาศที่ดี
สร้างพลังพลเมืองตื่นรู้ ‘อากาศสะอาด’ ต้องมีทุกวัน
รศ.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย และรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เนื่องจากต้องการให้เกิดความตื่นรู้ในประชาชน และอัพเดทให้เห็นว่ากระบวนการของการมีอากาศสะอาดอยู่ในการจับตามองของภาคประชาชน ซึ่งคนที่ทำร่างกฎหมายต้องตระหนักรู้ด้วยเช่นกันว่าประชาชนรออยู่และพวกเขามีความคิดเห็นอย่างไร นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงออกถึง “พลังของพลเมือง” ว่าเขามีความเข้าใจในประเด็นเรื่องอากาศสะอาดมิติต่าง ๆ อย่างไร และจะสะท้อนไปถึงว่ามิติต่าง ๆ เหล่านี้จะสามารถ ไปปรากฏอยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ได้หรือไม่
“ภาพรวมคือต้องการให้มันครบรสในหลายหลายมิติ เพื่อที่จะได้ เห็นข้อมูลความเห็นของทุกคน ซึ่งร่างกฎหมายก็จะเอาไปใช้เป็นข้อมูลได้ ของภาคพลเมืองเองก็จะใช้ในการต่อยอดงานของแต่ละภาคส่วนได้ เครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทยเองต้องการเป็นศูนย์รวมของพลัง พลเมืองตื่นรู้ ให้เกิดความตระหนักถึงความรู้และความต่อเนื่อง ว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องรอให้กฎหมายเสร็จ หรือ แม้ว่า พ.ร.บ. จะประกาศใช้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเรื่องนี้จะจบลง โดยได้อาศัยโอกาสวันอากาศสะอาดโลกด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวันอากาศสะอาดโลกมีแค่ปีละครั้งแล้วตื่นรู้แค่วันเดียว ใน 365 วัน”
รศ.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม
รศ.คนึงนิจ กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้าย ไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือชิ้นเดียว ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ทั้งมุมมองทางการเมืองของภาครัฐ ภาคการเมือง ข้อเรียกร้องจากประชาชน องค์กรความรู้จากสถาบันการศึกษา ข้อมูลจากหน่วยงานเอกชน จากเครือข่ายต่าง ๆ เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนไม่ใช่แค่เครือข่ายอากาศสะอาดฯ แต่เป็นเหมือนคนจุดประเด็น และรักษาประเด็นนี้ให้มันต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
โดย เครือข่ายอากาศสะอาด เป็นองค์กรที่ร่วมตั้งคำถามถึงสาเหตุและกลุ่มบุคคลที่อาจจะมีส่วนในการก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพอากาศในประเทศ รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาอากาศไม่สะอาดในประเทศไทย โดยเฉพาะการเสนอ “ร่าง พ.ร.บ.การจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ” เป็นร่างกฎหมายฉบับประชาชนเสนอชื่อต่อรัฐสภา
อากาศสะอาด เพื่อความ ‘ยั่งยืน’ และ ‘อายุยืน’
ในงานมีเวทีเสวนา “การตายก่อนวัยอันควร (Premature Death) กับ อากาศสะอาดเพื่อความยั่งยืนและอายุยืน : สองเรื่องในกฎหมายอากาศสะอาด ที่แยกออกจากกันไม่ได้” โดยมี 3 บุคคลากรทางการแพทย์มาร่วมให้ข้อมูลทั้งมุมจากแพทย์ผู้รักษา แพทย์ที่ทำงานร่วมภาคประชาสังคม และแพทย์ที่ทำงานภาคนโยบาย กับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ
รศ.นพ. นิธิพัฒน์ เจียรสกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบทางเดินหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้มาสนใจเรื่องอากาศสะอาด เนื่องจากเป็นงานที่ทำอยู่แล้ว ในคอนเสปต์ “ลมหายใจของคุณ คือ งานของเรา” ซึ่งมนุษย์เราหายใจนาทีละ 5 ลิตร ใน 1 ชั่วโมง เราหายใจ 300 ลิตร ใน 1 วัน เราหายใจ 72,000 ลิตร ใน 1 ปี เราหายใจ 20 ล้านลิตร และตั้งแต่เกิดจนตายเราหายใจมากถึง 1,500-2,000 ล้านลิตร ตลอดชีวิต ไทยมีการติดตามคุณภาพอากาศมานานหลายสิบปี แต่เป็นลักษณะของงานวิจัย โดยมีทั้งข้อมูลเรื่อง PM 10 PM 2.5, คาร์บอนไดออกไซด์, โอโซน, ไนโตรเจนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แม้ปัจจุบันคนเริ่มตื่นตัวปัญหามากขึ้น แต่มักพบว่าความสนใจจะมาเฉพาะช่วงฤดูฝุ่นเท่านั้น
“ตั้งแต่ปลายปี 2561 ตอนนั้น คน กทม. ดีใจที่มีหมอก ทั้งที่อากาศร้อน 30 กว่าองศาฯ พอไปดูในระบบ พบว่า เป็นค่า PM 2.5 ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ตอนนี้มีสถานีวัดเยอะขึ้นแล้วในฐานะที่ทำงานในโรงเรียนแพทย์ เกิดความตื่นตัวของสังคม คนให้ความสนใจ มากขึ้น พอเจอโควิด กิจกรรมลดลง ก็ทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น พอปี 2565 มลพิษก็กลับมาแย่อีก มีทั้งเรื่องโลกร้อน ภัยแล้ง ทำให้ปัญหาหนักขึ้น คนตระหนักกันตามฤดูกาล และคงไม่แปลกที่ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ โดน พ.ร.บ. อื่นแซงไป ด้วยเหตุผลว่าไม่รีบ รัฐบาลเองก็ประกาศนโยบาย มี 10 เรื่อง มีแต่เรื่องสังคม ไม่มีนโยบายไหนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม”
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรสกุล
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ยังกล่าวถึงการหาเสียงทุกพรรคการเมือง มีการนำประเด็นเรื่อง PM 2.5 มาหาเสียง และช่วงต้นรัฐสภา มีการ ผ่าน ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ เข้ามา คาดว่าคงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี กว่าจะเห็นภาพของมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจน แต่อยากให้ทุกฝ่ายคำนึงว่า ขณะที่ทำงานออกกฎหมายมลพิษเปลี่ยนแปลงไปเสมอ
“ขณะที่เรากำลังทำงาน อย่าลืมว่ามลพิษ มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น เรามีมลพิษในอาคาร ห้องนอน บ้าน โรงเรียน คุณภาพอากาศในอาคาร เป็นเรื่องที่ต้องทำร่วมไปด้วย ยอมรับว่าหนักใจในเรื่อง การเปลี่ยนให้ประเทศไทย มีอากาศที่ดี 2565 ปรับค่า เฉลี่ย 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่องค์การอนามัยโลกกำหนด”
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรสกุล
นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. บอกว่า เริ่มเข้ามาสนใจเรื่องนี้ เพราะหลังจากจบการศึกษาจากต่างประเทศ ในปี 2561 พาลูกมาเข้าโรงเรียนทางเลือก พ่อแม่มีบทบาทกับโรงเรียนเยอะ และในฐานะหมอ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข และยังทำงานด้านมานุษยวิทยา ช่วงเวลานั้นปัญหาฝุ่นในไทยหนัก เป็นจุดเริ่มที่มาทำงานกับ เครือข่ายอากาศสะอาดมาจนถึงวันนี้ และสิ่งที่ยากในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ คือ เรื่องความเข้าใจ ข้อมูลมีการเก็บมานานแล้ว แต่ คพ. ไม่เคยนำมารายงาน จนปี 2562 คนเริ่มตื่นตัว เพราะการเข้าถึงข้อมูลมีมากขึ้น
“สิ่งที่สังคมไม่ชอบ คือ การโกหก เรื่องข้อมูล และสิ่งที่เป็นกำแพง คือ รัฐบาลบอกว่าเราจะมีมาตรฐานเดียว เพราะกลัวประชาชนสับสน มันเป็นวิธีคิดที่มองว่าชาวบ้านโง่ แต่จริง ๆ คือ เขาไม่โง่ แต่เข้าไม่ถึง รัฐควรทำให้เกิดความเข้าถึง และต้องชัดเจนว่า ใครบ้างควรได้รับความช่วยเหลือ ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น ชาวบ้านไม่มีเครื่องมือ ไม่มีอุปกรณ์ อย่างดิจิทัลวอลเลต คนที่เปราะบางจริง ๆ เข้าไม่ถึง ต่อให้มีอุปกรณ์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต”
นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท
นพ.วิรุฬ ยังกล่าวถึง สิ่งที่เห็นจากโครงการของ กทม. ชื่อ โครงการนักสืบฝุ่น ที่แจกเครื่องมือวัด และให้รายงานข้อมูลช่วง 8 โมงเช้า และปรากฎว่าคุณภาพอากาศดี แต่ในความเป็นจริงคือ ชวบ้านยังเผชิญปัญหาฝุ่น โดยเฉพาะในช่วงเช้า 7 โมง แต่เวลาที่ตรวจวัด 8 โมง ฝุ่นเริ่มเบาบางแล้ว สิ่งนี้คือชาวบ้านสะท้อนมาว่า อากาศดี ฝุ่นน้อย แต่ยังมีอาการภูมิแพ้ แสบจมูก มีผื่นคัน
“ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องโครงสร้างกายภาพเมืองด้วย เป็นเหตุให้ พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ ต้องมีภาคเมืองเข้ามาด้วย เราจะทำอย่างไรให้คนที่เปราะบางจริง ได้รับการดูแล และสิ่งที่ต้องทำ คือการสร้างความเป็นธรรมด้วยระบบของสังคม ที่จะได้รับรู้ ได้รับการแจ้งเตือน”
นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท
ขณะที่ พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้เชี่ยวชาญโรคจากสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สมัยที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยังมีชีวิตอยู่ ได้เขียนข้อความให้ในหนังสือให้เล่มหนึ่ง บอกว่า “ฝากเรื่องโรคสิ่งแวดล้อมไว้ในมือด้วย” และการที่เป็นหมอ มีหน้าที่ดูแลคน โดยเฉพาะโรคจากสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมโรค มี 3 เรื่อง หลัก ๆ ที่ดูแลประชาชน สำหรับในด้านนโยบายเวลานี้ เมื่อดูจากข้อมูลการตายก่อนวัยอันควร โดยอายุคาดเฉลี่ย (Premature Death) จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ ม.ค. 2567 พบว่า ตั้งแต่แรกเกิดผู้ชายจนเสียชีวิต เฉลี่ยอยู่ที่ 71.9 ปี ผู้หญิง อยู่ที่ 80 ปี หากตายก่อนอายุที่ว่านี้ คือ “การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร” และเมื่อดูที่ภาระโรค แต่ละโรค เปรียบเทียบกับจำนวนปีที่ตายก่อนวัยอันควร จะบพว่า โรคติดต่อที่คร่าชีวิตเด็กตั้งแต่อายุยังน้อย หมายความว่าโรคนั้น ๆ ภาระโรคสูงมาก ขณะที่วัยทำงานตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ทำให้แนวโน้มของนโยบายที่เกิดขึ้นมาในทิศทางที่จะให้ความสำคัญกับโรคเหล่านี้มากเป็นพิเศษ
พญ.ฉันทนา กล่าวอีกว่า โรคจากสิ่งแวดล้อม จากรายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยของประชากรไทย พ.ศ.2562 พบว่า โรคที่เกิดมลพิษทางอากาศ ได้แก่ โรคติดเชื้อระบบทางเดิน หายใจส่วนล่าง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคมะเร็งหลอดลมและปอด โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง โดยมลพิษทางอากาศ อยู่อันดับที่ 5 ของสาเหตุการเสียชีวิตคนไทยอีกด้วย
“อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ยังมี พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพ และโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ซึ่งได้พยายามกระตุ้นให้เกิดการใช้กฎหมายโดยการส่งสัญญาณถึง คุณอนุทิน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ซึ่งกฎหมายนี้ ได้กำหนดว่า หากสงสัยว่าการเจ็บป่วยอาจมาจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม ต้องมีการแจ้ง สอบสวน ที่มา ซึ่งในเรื่องการบังคับใช้ มีประเด็นอยู่ แต่อย่างน้อยการมีกฎหมายนี้ ทำให้เกิดความชัดเจนว่า โรคจากมลพิษทางอากาศมีอยู่จริง”
พญ.ฉันทนา ผดุงทศ
พญ.ฉันทนา ยังกล่าวว่า อาการโรคจากมลพิษทางอากาศและอาการ มี 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
- หอบเหนื่อยมากกว่าปกติ ไอขึ้นมากกว่าปกติ มีปริมาณเสมหะมากขึ้นกว่าปกติ เสมหะเปลี่ยนสี ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีการกำเริบเฉียบพลัน
- ไอ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด หอบเหนื่อย อันอาจเป็นอาการของโรคหอบหืดดเฉียบพลัน ทั้งนี้อาการดังกล่าวอาจหายได้เอง หรือเมื่อได้รับยาขยายหลอดลม
- เจ็บเค้นที่บริเวณอกอย่างรุนแรเฉียบพลัน หรือขณะพักนานกว่า 20 นาที ซึ่งอาจเพิ่งมี หรือมีอาการรุนแรงขึ้น ใจสั่น เหื่อออก เหนื่อยมากขึ้นกว่าปกติขณะออกแรง วิงเวียน หน้ามืด หรือหมดสติ หรือเสียชีวิต อาจเป็นอากรของโรคหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน
- ตาแดง แสบตา เคืองตา น้ำตาไหลมาก มีสารคัดหลั่งออกจากตา หรือมีขี้ตา อาจเป็นอาการของโรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือ มีอาการตาแห้ง สู้แสงไม่ได้ ตามัว มีแผลถลอกที่กระจกตาหรือเยื่อบุตา อาจเป็นสาเหตุของโรคกระจกตาอักเสบ หรือ แสบตา เคืองตา น้ำตาไหล อาจเป็นสาเหตุของโรคตาแห้ง
- ผิวหนังมือผื่นแดง คัน ตุ่มแดง ตุ่มน้ำ หรือมีขุยร่วม อาจเป็นอาการโรคผื่นผิวหนังอักเสบ หรือ ผิวหนังมีผื่นบวมนูนแดง อาจเป็นอาการโรคผื่นลมพิษ
“ในการวิเคราะห์ ว่าเกี่ยวข้องไหม ยังยากอยู่ เพราะไม่ได้ตรงไปตรงมา เราใช้ข้อมูลร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ พยายามเข้าถึงกลุ่มผู้ป่วย 5 กลุ่ม ถ้า AQI สูง ควรมีการเตือนภัยไปที่มือถือ”
พญ.ฉันทนา ผดุงทศ
พลเมืองตื่นรู้ ถามหา พ.ร.บ.อากาศสะอาด แบบไหน กี่โมง?
ขณะที่เวทีเสวนา เรื่อง “ขอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่นึง” กับ เราจะได้ พ.ร.บ.อากาศสะอาดแบบไหน และ กี่โมง? โดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ชวนคุยถึง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ที่ชาวบ้านอย่างเรา ๆ ทำอะไรได้บ้าง กับ Active citizen for clean air จาก 3 ภาคส่วน ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองตื่นรู้ปัญหามลพิษทางอากาศ
เอาจริงจัดการ ‘ฝุ่นข้ามแดน’
สงบ อินเทพ รองประธานสภาลมหายใจจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ความรู้สึกแรกที่สัมผัสว่าอากาศไม่ดี เมื่อเวลาผ่านไปคนมักจะชิน แต่เราในฐานะพลเมืองตื่นรู้จะไม่ขอทน แต่ถามว่าอยากเห็นอะไรใน พ.ร.บ. นี้ มองว่า การที่เครือข่ายอากาศสะอาดผลักดันกันจนมีร่าง พ.ร.บ.ขึ้นมา และเข้าสู่รัฐสภาได้ แต่ระหว่างนั้นเจอที่ปัญหาฝุ่น รัฐบาลได้มีนโยบายขอความร่วมมือ ช่วง เม.ย.ปี 2565 ลดการเผาในป่า ได้อย่างมาก เป็นการทำงานอย่างบูรณาการร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ฝ่ายปกครอง ประชาชน ห้ามเผา ใช้แอปพลิเคชันติดตามตามไฟ ประชาชนตื่นรู้มากขึ้น แม้จะยังไม่มีกฎหมาย แต่ต่อมาเกิดมีฝุ่นข้ามพรมแดนเกิดขึ้น ดังนั้นกฎหมายจึงสำคัญอย่างมากในการแก้เรื่องนี้
“แต่ถ้าเรามีกฎหมาย เราไปกำกับต่างประเทศไม่ได้ แต่ พ.ร.บ.อากาศสะอาด สามารถไปควบคุมผู้ประกอบการเอกชนไทย ที่ไปลงทุนในต่างประเทศได้ คาดหวังว่า พ.ร.บ. นี้ จะทำให้รัฐมีอำนาจ เข้าไปควบคุมผู้ประกอบการได้ เชียงราย รับทั้งน้ำ ทั้งฝุ่น เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
สงบ อินเทพ
ผู้ก่อมลพิษ คือ ผู้จ่าย เงินสมทบกองทุนฯ
ธชณัฐ ภัทรสถาพรกุล อาจารย์คณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ในเชิงกฎหมาย การไปบอกชาวบ้านว่าควรเริ่มอย่างไร ต้องมีการกำหนด ว่าผู้ก่อ คือผู้จัดการมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นภาษี ควรต้องเอาออกมาใช้อย่างเป็นมาตรฐาน มีแต่การรณรงค์ แต่ไม่มีบทลงโทษที่ชัดเจน ไม่ว่าจากบนลงล่าง หรือ การกระจายอำนาจ ให้เขาสามารถจัดการในพื้นที่ อย่าง ในร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ของภาคประชาชน มีส่วนหนึ่งที่พูดถึงเรื่องกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ โดย การให้ผู้ที่มีส่วนในการก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายเงิน โดยการลงเงินในกองทุน “ผู้ก่อ คือ ผู้จ่าย” เป็นร่างเดียวที่มีเรื่องกองทุน เหตุผลที่ทำให้เรื่องนี้ไม่ได้รับความสนใจ อาจเป็นไปได้ว่า ภาคการเมือง อาจมีทุนหนุนหลัง อาจจะทำให้มองไม่เห็นภาพนี้
กฎหมาย เชื่อม ‘พันธกิจ’ เพื่ออากาศสะอาด
สอดคล้องกับ จตุพร เมืองหมิ้น นักศึกษาปริญญาเอก สังคมศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี บอกว่า ในภาพการทำงานของภาครัฐ แรงจูงใจในการทำงานคือการทำงาน “พันธกิจ” การทำงานอะไรก็ตามที่นอกเหนือพันธกิจ เขาจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นไปได้ว่าเรื่องนั้น ๆ จะไปขัดกับงานซึ่งเป็นภารกิจหลักตามพันธกิจที่เขาทำอยู่ เช่น หน่วยงานที่มีพันธกิจขับเคลื่อนเรื่องการท่องเที่ยว ก็ไม่สามารถ ไปบอกผู้ประกอบการได้ว่าให้ลดการปล่อยมลพิษ ดังนั้น ถ้ามีกฎหมายอากาศสะอาด จะช่วยเปลี่ยนเรื่องนี้ได้ อย่างน้อยหากสามารถทำให้พันธกิจของหน่วยงานนั้น ๆ มีเรื่องการบริหารจัดการเพื่อให้มีอากาศสะอาด เขาก็จะสามารถทำได้