‘กฎหมายอากาศสะอาดฯ’ เตรียมเข้าสภาฯ วาระ 2 ปลาย ธ.ค. นี้ คาดประกาศใช้ ปี 68

หลังผ่านการศึกษา รวม 7 ฉบับ ทั้งของ ครม. พรรคการเมือง และฉบับประชาชน เป็นร่างเดียว เตรียมเปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นกลางเดือน ธ.ค. นี้ ย้ำ กฎหมายนี้เป็นการตอกหมุดครั้งใหญ่ จัดการผู้ก่อมลพิษ 

วันนี้ (30 ต.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … แถลงข่าว รายงานความคืบหน้าในการพิจารณากฎหมาย หลังจากผ่านสภาวาระหนึ่ง และเริ่มทำการศึกษาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2567 

จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 กำลังเข้ามา ทำให้ต้องชี้แจงถึงความคืบหน้าในการพิจารณากฎหมายว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง กำลังทำอะไรอยู่ และจะทำอะไรต่อไป ซึ่งกฎหมายผ่านเข้าสู่สภาฯ มา 7 ฉบับ โดยมี 5 ฉบับของพรรคการเมือง 1 ฉบับของคณะรัฐมนตรี และ 1 ฉบับของภาคประชาชน ดังนั้นการทำงานของ กมธ. เพื่อที่จะรวมเป็นร่างที่ 8 ซึ่งจะเป็นร่างที่สมบูรณ์และครบถ้วนที่สุด โดยยอมรับว่า มีความยากและท้าทายในบางประเด็น ทำให้การพิจารณาทพอย่างเข้มข้น เพื่อให้ครอบคลุมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น ด้านสิทธิและหน้าที่ ของทั้งภาคประชาชนและภาครัฐ โดยมีการออกแบบให้มีรายละเอียดเรื่องของการบริหาร จัดการ ตั้งแต่คณะกรรมการระดับชาติ ไปจนถึงระดับท้องถิ่น มีเครื่องมือสำคัญที่จะนำมาใช้บริหารจัดการพื้นที่ที่หลากหลาย มีเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ มีบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญา ปรับทางพินัย และมี การป้องกันและสร้างแรงจูงใจ ซึ่งจะอยู่ใน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ฉบับนี้

จักรพล บอกอีกว่า ความคืบหน้าล่าสุด จากการประชุมทุกสัปดาห์ และเพื่อความละเอียดไม่ให้ประเด็นสำคัญหลุดหายไป ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมธิการ เพื่อศึกษาถึง 2 ชุด โดยชุดที่ 1 คณะอนุกรรมธิการพิจารณาหลักการ โครงสร้างของกฎหมาย และ ชุดที่ 2 คณะอนุกรรมมาธิการพิจารณาความรับผิดชอบทางกฎหมาย ซึ่งตั้งแต่หมวดที่ 7 เป็นต้นไป ซึ่งต้องอาศัยความถูกต้องเพื่อที่จะไม่ให้ถูกตีตกเมื่อกลับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

“การทำงานของเรา มีทั้งหมด 10 หมวด 102 มาตรา ซึ่งในระหว่างทางการพิจารณาของห้องใหญ่มีประเด็นที่ ควรจะผิดพลาด หรือปล่อยผ่าน ก็จะมีอนุฯ นำไปกลั่นกรอง และนำกลับมารายงานในห้องใหญ่อีกครั้งเพื่อ ความครบถ้วนในทุกมิติ และเมื่อทำงานมาได้ระยะหนึ่งก็ได้มีการตั้งคณะอนุฯ ชุดที่ 2 ขึ้นมา เพื่อดูแลกำหนดความรับผิดชอบของกฎหมาย เพื่อที่จะดูเรื่องศัพย์แสงทางกฎหมาย เรื่องของกฤษฎีกา เรื่องของความถูกต้องและครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดกรณีที่ว่า ส่งเข้าไปในสภาฯ แล้ว ถูกตีตรงกลับมา เราจะพยายามรอบคอบและรัดกุมในประเด็นเหล่านั้น”

จักรพล ตั้งสุทธิธรรม

จักรพล ระบุอีกว่า การพิจารณาของคณะอนุกรรมธิการจะถูกนำกลับเข้ามาในห้องประชุมของคณะกรรมาธิการชุดใหญ่อีกครั้ง โดยคณะทำงานกันมาแล้วเกินครึ่งทาง โดยมีไทม์ไลน์การพิจารณาเฉพาะห้องใหญ่ 37 ครั้ง การพูดคุยทั้งเรื่องของ มลพิษข้ามพรมแดน การกำหนดให้ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ ทั้งการชดใช้ค่าเสียหาย การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม 

“อยากให้เห็นว่าพวกเราทุกคน ทั้งคณะกรรมาธิการ จึงจะต้องผลิตกฎหมายที่จะมาต่อสู้ ฝ่าฟันเพื่อทวงคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับพวกเรา ขณะที่ฝั่งของรัฐบาลเมื่อวานนี้ นายกฯ แพทองธาน มีข้อสั่งการตรง ให้ทั้ง กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม ในการแก้ไข PM2.5 ไม่รับซื้อสินค้าที่ก่อให้เกิดมลพิษ การลด การห้าม การควบคุม ไม่ให้เกิดมลพิษทั้งทางอุตสาหกรรมและยานยนต์”

จักรพล ตั้งสุทธิธรรม
จักรพล ตั้งสุทธิธรรม

นอกจากนี้ยังมีแผนยุทธศาสตร์ฟ้าใสโดย เป็นการทำงานร่วมกันของกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของ 3 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเมียนมาร์ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อที่จะแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน ขณะที่ กรุงเทพมหานคร ก็ได้ประกาศ 1 พ.ย. 67 เริ่มประกาศเขตควบคุมมลพิษ ทางเขตก่อสร้าง รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษใน 9 เขต ขณะที่ภาคเหนือมีการพูดคุยในเรื่องของคณะทำงานป้องกันจัดการไฟป่า โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนในการจัดการเชื้อเพลิงระดับพื้นที่ ควบคุมการเผา

“พอเรามองอย่างนี้จะเห็นว่าภาพใหญ่ที่เรากำลังทำ เรื่องนิติบัญญัติอยู่ ก็มีทุกแขนงที่พยายามทำ การควบคู่ไปกับเนื้อหาสาระภายในกฎหมาย ได้คุยกับรับมนตรีหลายท่านที่เกี่ยวข้องว่านี่เป็นช่วงโค้งอันตรายแล้ว การทำงานตอนนี้ เรียกว่า เป็นการใส่เกียร์หน้าเตรียมพร้อมรับปัญหาฝุ่น”

จักรพล ตั้งสุทธิธรรม

รศ.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย และรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. คนที่ 1 กล่าวว่า การพิจารณากฎหมายฉบับนี้ มีความท้าทาย 2 เรื่อง คือ เชิงเนื้อหาและเชิงกระบวนการ โดยใน เชิงเนื้อหา กฎหมายนี้จะต้องได้รับการบังคับใช้โดยที่ไม่มีการครอบงำ และให้ความสำคัญต่อสิทธิในการหายใจอากาศสะอาดของประชาชน นอกจากนี้ต้องสามารถแก้จุดอ่อนในการแก้ไขปัญหามลพิษที่มีลักษณะเฉพาะ จากทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคคมนาคม ภาคป่าไม้ ภาคเกษตรกรรม ภาคเมือง และภาคมลพิษข้ามแดน ซึ่งแต่ละภาคจะมีกฎหมายเฉพาะอยู่ กฎหมายฉบับนี้จะต้องหนุนเสริมและเชื่อมโยงและบูรณาการร่วมกันได้

ในส่วนของ เชิงกระบวนการ คือ การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ ประชาชน เอกชน และสถาบันการศึกษา และความรับผิดชอบต่อส่วนรวมในการสร้างระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ มาตรฐานการควบคุมมลพิษ ที่เหมาะสมแต่ละประเภทของกิจการ และ กิจกรรม ขณะเดียวกันต้องไม่เป็นภาระเกินควรแก่ผู้ประกอบการ

“การแก้ปัญหามลพิษข้ามแดนยังเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง มีข้อจำกัดในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายนอกราชอาณาจักร และมีความซับซ้อนในการพิสูจน์ความเชื่อมโยงระหว่างแหล่งกำเนินมลพิษ กับผลกระทบที่เกิดขึ้นในภายราชอาณาจักร รวมถึงการชดใช้ความเสียหาย และการบังคับคดี จากผู้กระทบผิดในต่างประเทศ ซึ่งหมายถึง จะต้องมีการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน”

รศ.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม

ส่วนขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ รศ.คนึงนิจ กล่าวอีกว่า อนุกรรมาธิการทั้ง 2 ชุด จะประชุมร่วมกัน และส่งงานให้กับ กมธ. เพื่อพิจารณาร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมามีการประชุมทั้ง 3 ชุดรวมไปแล้ว 114 ครั้ง โดยจะมีการแปรญัตติ และเปิดให้ประชาชนเข้ามาแสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์ของสภาผู้แทนราษฎรช่วง กลางเดือน ธ.ค.ปีนี้ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการ จากนั้นจะนำกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในวาระ 2 ปลายเดือน ธ.ค. ปีนี้ ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบ ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา ในช่วงต้นปี 2568 ถ้าสว. มีข้อแก้ไขและสภาฯ ไม่เห็นด้วยต้องตั้ง กมธ.ร่วม แต่ท้ายที่สุด หาก สว. ให้ความเห็นชอบโดยไม่มีการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ฉบับนี้จะนำขึ้นทูลเกล้า เพื่อลงปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป คาดว่าจะประกาศใช้เป็นกฎหมายภายในปี 2568

ประธาน กมธ. อากาศสะอาดฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การทำงานของ กมธ. ไม่ได้ตอบต้นปีหน้าค่าฝุ่น PM2.5 จะลดลง หลังจากกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่ต่อสู้ กับ PM 2.5 และมลพิษทางอากาศออกมาใช้ จะมีเส้นทางเดินคือ แผนสั้น กลาง ยาว ในการเปลี่ยนผ่านระบบ และแนวคิดต่าง ๆ กับการก่อมลพิษได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้เพื่อให้การทำงานคืบหน้าเร็วยิ่งขึ้น ได้เพิ่มวันประชุมจากเดิม ทุกวันศุกร์ เป็น จันทร์ และศุกร์ ย้ำว่า กฎมายนี้จะเป็นการตอกหมุดครั้งใหญ่กับผู้ก่อมลพิษ ซึ่งจะต้องเจอมในเรื่องภาษีบาป ตามหลักคิด “ผู้ก่อคือผู้จ่าย”

“ต้องขอบคุณคณะกรรมาธิการที่รวบรวม ทั้งนิติบัญญัติ วิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่สละเวลามาร่วมงานกัน ตลอด 114 ครั้งที่ผ่านมา ขอพูดในฐานะกรรมาธิการว่าได้รับความกดดัน และความคาดหวังจากพ่อแม่พี่น้องชาวไทย ทุกการทำงานของเรา เราเข้าใจดีว่า ความคาดหวังของทุกท่านคืออะไร เราจะตั้งไจทำงานกันอย่างหนักเพื่อที่จะนำกฎหมายที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ มาให้พี่น้องชาวไทย”

จักรพล ตั้งสุทธิธรรม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active