คาดกลับเข้าสภาฯ ก.พ. 68 แย้มโครงการ “อากาศสะอาดศึกษา”เตรียมนำบทเรียนห้อง กมธ.สร้างองค์ความรู้ให้คนเข้าใจ อากาศสะอาดในทุกมิติ รู้ถึงสิทธิในการมีอากาศสะอาดไว้หายใจ
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค 2567 การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. (กมธ.อากาศสะอาดฯ) ครั้งสุดท้ายของปี 2567 ก่อนเริ่มประชุมอีกครั้งในวันที่ 3 ม.ค. 2567 The Active สัมภาษณ์ รศ.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง กมธ.อากาศสะอาดฯ ถึงเส้นทางของร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณามาเกือบ 1 ปี พร้อมเผยเตรียมทำ “โครงการอากาศสะอาดศึกษา” Clean Air Study ที่มาจากการทำงานในชั้น กมธ.หวังสร้างองค์ความรู้ต่อยอดอากาศสะอาดเพื่อทุกคน
กฎหมาย “ไม่ล่าช้า” ปัญหาเชิงโครงสร้างต้อง “รอบคอบ”
รศ.คนึงนิจ กล่าวว่า เกือบ 1 ปีที่ร่างกฎหมายเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ในชั้น กมธ.มีความคืบหน้าในการสลายร่างกฎหมายทั้ง 7 ฉบับ หลอมรวมเป็นร่างที่ 8 ก็คือร่างฉบับปัจจุบัน ซึ่งใกล้จะเสร็จแล้ว ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์เนื้อหาก็ 90% ส่วนอีก 10% เป็นการปรับทบทวนบางเรื่อง บางหัวข้อที่ยังค้างอยู่ คือ เรื่องกองทุน ความรับผิดทางแพ่ง อาญา ปรับพินัย แต่ต้องบอกว่ายังไม่ได้เสร็จพร้อมส่งกลับสภาผู้แทนราษฎร เพราะยังต้องเอามาทวนถึงความสอดคล้อง เรื่องบทนิยาม บทเฉพาะกาล ความสอดคล้องระหว่างหมวดต่าง ๆ ทั้งฉบับ ซึ่งต้องใช้เวลาเพื่อความรอบคอบและความถูกต้อง คาดว่าจะเสนอกลับไปได้อย่างเร็วสุดก็คือ ก.พ. 2568
“แต่ถ้ามันช้าด้วยเหตุอุปสรรคอะไรก็ตาม เช่น ห้องใหญ่องค์ประชุมไม่ครบ ไม่มีคนมาประชุมได้ครบซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความล่าช้า ก็น่าจะประมาณ มี.ค.ไม่เกินนั้น ถึงเวลาก็ต้องไปดูอีกที สถานการณ์หน้างานว่ามันจะเป็นอย่างที่คาดเดาหรือเปล่า แล้วเข้าห้อง สส. ต้องดูว่า สส.อภิปรายเยอะไหม มีคนเห็นแย้ง เห็นต่าง ทําให้การจะโหวตช้าออกไป เรายังประเมินอะไรไม่ได้ แต่โดยหลักการก็คือ จาก สส. เสร็จ ก็ส่ง สว.เมื่อ สว.เสร็จถึงจะประกาศเป็นกฎหมาย”
รศ.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม
เมื่อถามว่า 1 ปีในชั้น กมธ.สำหรับกฎหมายฉบับนี้ถือว่านานหรือไม่ ? รศ.คนึงนิจ ยืนยันว่า ไม่ช้า และอาจจะเร็วจนน่ากลัวว่า “จะถูกคว่ำหรือไม่” และปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาโครงสร้างที่ซับซ้อน
แย้ม “โครงการอากาศสะอาดศึกษา” ต่อยอดจาก กมธ.
การที่ประชาชนจะมองว่าช้าอาจจะมาจากความไม่เข้าใจว่าปัญหานี้มีเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลา ด้วยเหตุผลนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีความคิดที่จะตั้ง “โครงการอากาศสะอาดศึกษา” หรือ Clean Air Study เป็นโครงการนําร่องของสมาคมใหม่ที่ตั้งขึ้นมาจากเครือข่ายอากาศสะอาด
“เรามีหมวก 2 ใบ เครือข่ายอากาศสะอาด ตั้งสมาคมชื่อสมาคมเครือข่ายอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ เรารวมพันธมิตรทุกคนที่ทํางานด้านนี้ ใครถนัดแล้วด้านไหนมาร่วมมมือกัน แล้วก็ในโครงการนําร่องนี้ก็มี 3 โมดูล หรือ 3 เสาหลัก”
รศ.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม
รศ.คนึงนิจ อธิบายถึง 3 เสา โครงการอากาศสะอาดศึกษา ได้แก่ เสาที่ 1 Citizen science study มลพิษอากาศสะอาด ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งคนอาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ว่า มลพิษอยู่ตรงไหน เพราะมองไม่เห็น และหากเราจะได้มาซึ่งอากาศสะอาดจะมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร เสาที่ 2 Clean air legal study โดยมีทีมกฎหมายของสมาคม และ เสาที่ 3 Citizen finance study การเงินการคลังภาษีบัญชีงบประมาณแผ่นดิน กองทุน โดยจะมีการจัดให้ความรู้เป็นกลุ่ม เช่น สื่อมวลชน อินฟลูเอนเซอร์ นักต่อสู้ปกป้องสิ่งแวดล้อม ปกป้องสุขภาพ ปกป้องสิทธิมนุษยชน นักเรียนกฎหมาย โรงเรียน องค์กรทางศาสนา ชุมชน ประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐจากองค์กรต่าง ๆ
“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับร่าง พ.ร.บ.เช่น เขาไม่คว่ําทั้งฉบับ แต่เขาส่งกลับมาให้ปรับแก้ ส่วนใหญ่แก้เยอะอะไรอย่างนี้ หรือเขาไม่ได้คว่ำทั้งฉบับ แต่เขาเปลี่ยนไส้ใน ตัดของสําคัญออกเกลี้ยง เหลือแต่หน้าปก ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับร่าง พ.ร.บ.แต่ Clean air study ต้องมี และมันไม่ใช่เนื้อหาเดิมของร่างประชาชนเพียว ๆ แล้ว แต่มันเป็นพัฒนาการที่ได้มาเรียนรู้จากการเป็น กมธ.อาจจะไม่ใช่ทุกคนมาเห็นด้วยกับอาจารย์หมดก็จริง แต่อาจารย์ก็ได้ Feedback หรืออาจารย์อาจจะ Pop up อะไรขึ้นมาที่มันเป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากของเดิมที่อาจารย์ทํา”
รศ.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม