เผยงานวิจัย ชี้ชัด สัมผัสฝุ่น PM2.5 ต่อเนื่อง เสี่ยงความเปราะบางทางร่างกายในผู้สูงอายุ พบในสหรัฐฯ ส่งผลต่อการเสื่อมถอยทางสติปัญญา โรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน ขณะที่ ‘โฆษก กมธ.อากาศสะอาด’ แนะมาตรการระยะสั้น ทำได้ทันที โดยไม่ต้องรอกฎหมาย
วันนี้ (7 ม.ค. 68) เป็นอีกวันที่กรุงเทพมหานคร มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน อยู่ในระดับสีส้ม ถึง 70 พื้นที่ โดยเฉพาะ เขตหนองแขม, ภาษีเจริญ, คลองสามวา, ตลิ่งชัน และ ธนบุรี ซึ่งมีค่าฝุ่น เฉลี่ยอยู่ที่ 57 – 65 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในระดับสีส้ม “เริ่มมีผลต่อสุขภาพ”
The Active ยังพบว่า เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมา ยังครบ 1 ปี ที่ ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝุ่น ร่วมกับ ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้แถลงไปเมื่อต้นปี 2567 ที่ขอให้ทุกหน่วยงานคุมเข้ม ควบคุมต้นตอแหล่งกำเนิดฝุ่น
ทั้งนี้เมื่อเทียบตัวเลขของจุดความร้อน (hotspot) ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ถึง 3 มกราคม 2567 พบ จุดความร้อนสะสมในประเทศไทยทั้งสิ้น 1,207 จุด ส่วนข้อมูลจากกรมป่าไม้ ชี้ให้เห็น จุดความร้อนช่วงวันที่ 29 ธันวาคม 2567 ถึง 3 มกราคม 2568 พบจุดความร้อนสะสมในไทย 1,738 จุด เพิ่มขึ้นมากว่า 44% เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุฝุ่นควันพิษเหล่านี้
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ระบุแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นระยะสั้นด้วยการรณรงค์ “โปรดงดการเผาในที่โล่ง ใช้รถเท่าที่จำเป็น” ในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งมีปัญหาฝุ่นกลับมาอีกครั้ง และ ศกพ. ได้ประสานกับหน่วยงาน และจังหวัดให้ติดตามควบคุมการเผาในพื้นที่ 15 จังหวัด ภาคเหนือ, ภาคกลาง และภาคอีสาน อย่างเคร่งครัด
ขณะที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมหาทางออกเรื่องฝุ่นควันด้วยการลงตรวจศูนย์ฝนหลวงหัวหิน และหารือการระบายฝุ่น PM2.5 ใน กทม. เมื่อวันที่ 4 มกราคม ที่ผ่านมา โดยสอบถามเรื่องการเจาะชั้นบรรยากาศเพื่อระบายฝุ่น และได้เจรจาให้ทำฝนหลวงบินในพื้นที่ชั้นใน กทม. เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ใน กทม. เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงได้มีมาตรการลดฝุ่น เช่น การเปลี่ยนไส้กรองรถยนต์, เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง, ทะเบียนสีเขียวสำหรับรถบรรทุก และโครงการการทำงานที่บ้าน
ผู้ว่าฯ กทม. ยังย้ำถึงการเน้นความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เพื่อปรับปรุงสถานการณ์ฝุ่นใน กทม. รวมทั้งการคิดทางออกใหม่ ๆ สำหรับการแก้ไขปัญหามลพิษนี้ด้วย
“ที่ผ่านมาหากไม่มีการทำฝนหลวง ฝุ่นจะมากกว่านี้แน่นอน ปัญหาของประเทศไทยอาจไม่เหมือนที่ใดในโลก เราอาจจะต้องคิดค้นเครื่องมือหาวิธีการขึ้นเองเลย”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
จากมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นของ กทม. นำมาซึ่งเสียงตอบรับ และคำวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน ที่บ่งชี้ให้เห็นว่า นโยบายการจัดการฝุ่นพิษด้วยวิธิการนี้อาจจะยังไม่ใช่ทางออก โดยมีคอมเมนต์ของทางโซเชียลถึง ผู้ว่าฯ กทม. เช่น
“เป็นการ….แก้ที่ไม่ถูกทาง รู้ปัญหาเกิดจากอะไรไม่แก้..”
“มันได้ไม่คุ้มเสียหนิ..”
“แค่ออกกฎหมายคุ้มรถให้มันน้อยลง ไม่ดีกว่าเหรอ เช่น ไม่มีที่จอดรถซื้อรถไม่ได้ ถ้าเข้มงวดผมว่าช่วยได้เยอะกว่านะ”
ข้อเสนอแก้ฝุ่นระยะเร่งด่วน
รศ.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. เปิดเผยกับ The Active ถึงข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่สามารถดำเนินการได้ทันทีในระยะสั้น สำหรับฤดูฝุ่นปีนี้ โดยที่ไม่สามารถรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ได้
สำหรับภาคประชาชน รัฐต้องส่งเสริม มาตรการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ในช่วงที่มีฝุ่นควันรุนแรง พร้อมเร่งสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของ ฝุ่น PM2.5 และรณรงค์การสวมหน้ากากอนามัย ผ่านสื่อที่เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม
“ฝุ่นเริ่มมาแล้วนะครับ คำถามคือ เห็นคนใส่หน้ากากบ้างไหม ตอนนี้กลับมาเหมือนยุคก่อนโควิดที่ไม่มีคนใส่หน้กาก ผมไปเชียงใหม่มาช่วงที่ฝุ่นเยอะมากแต่คนไม่ใส่หน้ากากกันเลย ในเรื่องของความตระหนักรู้คือคนยังไม่รู้”
รศ.วิษณุ อรรถวานิช
ด้าน การคมนาคม ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับรถควันดำในตอนกลางคืนให้มากขึ้น เทียบเท่าช่วงกลางวัน ด้วยปัจจัยของรถบรรทุกที่มักวิ่งในเวลากลางคืน
ขณะที่ ภาคการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นควันสำคัญ รัฐควรเร่งขยายตลาดรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตร พร้อมสนับสนุนการขนส่งในพื้นที่ที่อยู่ห่างจากจุดรับซื้อเกิน 50 กิโลเมตร และส่งเสริมการเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อลดการเผา
“ปัจจุบันเกษตรกรไม่อยากเผาหรอก แต่เขาไม่สามารถหาตลาดรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตรได้ ตลาดมีสองอย่าง คือมันไกลจนไม่สามารถรับค่าขนส่งได้ และ ไม่มีคนซื้อเศษวัสดุเพราะคนใช้น้อย”
รศ.วิษณุ อรรถวานิช
สำหรับการแก้ปัญหาไฟป่า รศ.วิษณุ เสนอให้ใช้ มาตรการจ่ายค่าตอบแทนการดูแลระบบนิเวศ (PES หรือ Payment for Ecosystem Service) โดยให้เงินสนับสนุนชุมชนที่อาศัยในพื้นที่ป่าที่สามารถควบคุมการเผาได้ต่ำกว่าสถิติในอดีต
ส่วน ภาคอุตสาหกรรม แม้จะเป็นภาคที่แก้ไขได้ยากที่สุด แต่สามารถเพิ่มการตรวจสอบโรงงานขนาดกลางและเล็ก พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสโรงงานที่ปล่อยมลพิษ
“อุตสาหกรรมเป็นภาคส่วนที่เหมือนกล่องดำที่แก้ไขยากที่สุด จะแก้ไขในฤดูฝุ่นปีนี้ได้ไหมก็คงยากมากเพราะเป็นภาคส่วนเดียวที่ข้อมูลมลพิษไม่ถูกเปิดเผย ตอนนี้เจ้าหน้าที่เข้าไปไม่ถึงโรงงานขนาดกลางกับเล็ก สิ่งที่ทำได้คือเพิ่มการตรวจดูโรงงาน เพิ่ม active citizen ให้ช่วยจับตา มีรางวัลแจ้งเบาะแส ก็อาจจะพอขู่โรงงานเหล่านี้ได้บ้าง”
รศ.วิษณุ อรรถวานิช
รศ.วิษณุ จึงมีข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นระยะสั้น ที่สามารถดำเนินการได้ทันที ประกอบด้วย
- ภาคประชาชน: รณรงค์สวมหน้ากากอนามัยผ่านสื่อที่เข้าถึงทุกกลุ่ม และส่งเสริม Work from Home
- ภาคคมนาคม: เพิ่มความเข้มงวดตรวจจับรถควันดำทั้งกลางวันและกลางคืน
- ภาคเกษตร: ขยายตลาดรับซื้อเศษวัสดุการเกษตร สนับสนุนการขนส่ง และส่งเสริมการเข้าถึงเครื่องจักรกล
- ภาคป่าไม้: ใช้มาตรการ PES จ่ายเงินสนับสนุนชุมชนที่ควบคุมการเผาได้
- ภาคอุตสาหกรรม: เพิ่มการตรวจสอบโรงงานขนาดกลางและเล็ก พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวัง
ความน่ากังวลอีกมิติมาจากเพื่อนบ้าน เมื่อ กรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ขึ้นแท่นอันดับ 1 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุดในโลก มีระดับของอนุภาค PM2.5 ถูกวัดได้ที่ 266 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเช้าวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นค่าสูงสุดจากทุกเมืองตามข้อมูลจาก AirVisual
ความหนาแน่นของฝุ่นพิษในฮานอย สะท้อนให้เห็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตในระดับภูมิภาค ได้รายงานปัญหาหมอกควันอย่างรุนแรงในเมืองใหญ่ ๆ มาหลายปีแล้ว และปัญหาหมอควันเหล่านี้ก็ไม่มีทีท่าที่จะลดลง
วิจัย ย้ำชัด PM2.5 ก่อความเปราะบางในร่างกาย – เสี่ยงสติปัญญาเสื่อมถอย
นอกจากฝุ่นที่มากขึ้น ในเรื่องของผลกระทบด้านสุขภาพจากฝุ่น ก็มีงานวิจัยชี้ชัดเพิ่มขึ้นทุกวัน อย่างงานวิจัย เมื่อปลายปี 2567 จาก BMC Public Health ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสฝุ่น PM2.5 กับความเปราะบางทางร่างกาย (frailty) ในกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า การสัมผัส PM2.5 ในระยะยาวเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเรื่องความเปราะบางทางร่างกาย และอาจมีความสัมพันธ์เชิงเป็นสาเหตุ
การลดความเข้มข้นของ PM2.5 จึงเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันความเปราะบางในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่เกี่ยวข้องกับ ปัจจัยสุขภาพอย่างความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โรคเรื้อรังอย่างโรคหัวใจและหลอดเลือด อาการซึมเศร้า หรือโอกาสการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น โดยใช้ข้อมูลจาก 122 เมืองในประเทศจีน และ 7 ประเทศในยุโรป
มากกว่าเรื่องความเปราะบาง ผลการศึกษาจากวารสาร Alzheimer’s & Dementia ชี้ถึง ผลต่อการเสื่อมถอยทางสติปัญญาจาก PM2.5 โดยการสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 เป็นระยะเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน การศึกษาในสหรัฐฯ พบว่า ผู้สูงอายุที่สัมผัสกับ PM2.5 ในระดับสูง มีความเสี่ยงในการเสื่อมถอยทางสติปัญญาเพิ่มขึ้นถึง 81% และมีความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 92%