4 ปี ชนะคดี ไร้เยียวยา มลพิษ ‘แว็กซ์ กาเบ็จ’ ชาวบ้าน ร้อง ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ เร่งช่วยเหลือ

‘มูลนิธิบูรณะนิเวศ’ ชี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมมักถูกแก้ปลายเหตุ เตรียมดัน แก้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ถ่วงดุลอำนาจหน่วยงานกำกับดูแล  

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 68 The Active ติดตามความคืบหน้า กรณีชาวบ้านตำบลน้ำพุ อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการของ โรงงาน บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิลเซ็นเตอร์ จำกัด จากการปนเปื้อนของมลพิษในน้ำจนกระทบต่อสุขภาพ และรายได้ในการทำเกษตรของชาวบ้าน  

ทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหา และข้อเรียกร้องจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบรวมทั้งได้จัดประชุมหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างตัวแทนกลุ่มคนรักษ์ต้นน้ำ จ.ราชบุรี และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม 

โดยกรณี โรงงาน แว็กซ์ กาเบ็จ ชาวบ้านได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2544 จนกระทั่ง ปี 2560 ชาวบ้าน ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งศาลแบบกลุ่ม (Class Action) ซึ่งนับว่าเป็นการฟ้องกลุ่มด้านสิ่งแวดล้อมคดีแรกของประเทศไทย และเมื่อปลายปี 2563 ศาลได้มีคำพิพากษา ให้ตัวแทนชุมชนชนะคดี 

ศาลยังมีคำสั่งให้ทางบริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ ในฐานะจำเลย ชำระเงินแก่โจทก์ รวมถึงสมาชิกชุมชน ที่ประสบปัญหาผลกระทบลักษณะเดียวกัน ตลอดจนให้จำเลยร่วมกันแก้ไขดูแลฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบริเวณที่ตั้งโรงงาน และพื้นที่ของสมาชิกกลุ่ม รวมถึงคลองสาธารณะโดยรอบ แต่ผ่านมาแล้วเกือบ 4 ปี ชาวบ้าน กลับยังไม่ได้รับการเยียวยา

ธงชัย เกษรบุบผา เกษตรกรบ้านน้ำพุ หมู่ 1 ยอมรับว่า ชาวบ้านสู้จนท้อ กว่าจะชนะคดีใช้เวลาต่อสู้กันมากว่า 20 ปี ชาวบ้านบางคนถอดใจไปหลายคน

“ชาวบ้านหลังชนฝากันหมดแล้ว แต่จะทำยังไงถ้าเราไม่สู้รุ่นลูกรุ่นหลาน ก็ต้องตกอยู่ในสภาพแบบเรา แต่ชนะแล้วหน่วยงานรัฐก็ไม่ได้เข้ามาดูแลอะไรมากมาย แทบจะไม่ค่อยเข้ามาดูแล”

ธงชัย เกษรบุบผา

นอกจากนี้ประชาชนในพื้นที่ยังคงเผชิญกับมลพิษจากการประกอบกิจการคัดแยกและรีไซเคิลของเสียอุตสาหกรรมของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ อยู่ โดยเฉพาะมลพิษที่ปนเปื้อนในน้ำ ทำให้คนในชุมชนไม่สามารถใช้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคได้ พืชผลทางการเกษตรยังเกิดความเสียหาย และคนในชุมชนสูญเสียรายได้ จึงได้สะท้อนปัญหาหลัก 7 ด้าน ที่ต้องการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งแก้ปัญหา ประกอบด้วย

  1. สุขภาพของกลุ่มผู้พบสารอันตรายปนเปื้อนในเลือด

  2. แหล่งน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมี

  3. กลิ่นที่ยังได้รับผลกระทบ

  4. อาชีพที่คนในชุมชนขาดรายได้

  5. การเร่งดำเนินคดีกับผู้ประกอบการ

  6. การดำเนินการขนย้ายกากสารเคมีใต้ดิน

  7. การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของชุมชน

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า ขณะนี้หลายกรณีคืบหน้าไปมากโดยเฉพาะการแก้ปัญหาระยะกลาง ระยะยาว อย่างเรื่องของคดีความ การจัดการเรื่องการติดตั้งเครื่องกรองน้ำ การขุดเจาะบาดาลสำรวจน้ำใต้ดิน ซึ่งได้มีการวางแผนและจัดสรรงบประมาณแล้ว แต่ในเรื่องเงินเยียวยา การสร้างอาชีพผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องติดตามต่อ 

ขณะที่ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) บอกว่า คดีสิ่งแวดล้อมมีความยากอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว พื้นที่ตำบลน้ำพุ ชาวบ้านเลือกต่อสู้ด้วยการฟ้องกลุ่ม ซึ่งการฟ้องกลุ่มมีเกณฑ์ที่ค่อนข้างละเอียด ซับซ้อน และยาก รวมถึงต้องมีเงินจำนวนมากในการต่อสู้ ส่งผลให้คดีมีความล่าช้า ซึ่งตอนนี้ทางบริษัทยังไม่ยอมรับผิด ว่า เป็นต้นเหตุในการสร้างผลกระทบ จึงได้ยื่นอุทธรณ์ ในเรื่องการยอมรับในการจ่ายเงินเยียวยาให้กับชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านสุขภาพ หรือความเสียหายของพืชผลทางการเกษตร

“คดีสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องปลายเหตุทั้งหมดเลย ปัญหามันเกิดและรุนแรงแล้วด้วยกว่าที่ชาวบ้านจะตัดสินใจ ในกรณี แว็กซ์ กาเบ็จ เรื่องมันเกิดตั้งแต่ 2544 แต่มาฟ้องปี 2560 ใช้เวลานานต่อสู้มานานกว่าที่จะรู้ว่ากลไกรัฐต่าง ๆ เขาพึ่งพาไม่ได้ เขาเลยต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรม และเมื่อศาลตัดสินคดีเราต้องใช้เวลาอีกนานในการที่จะได้รับการเยียวยาเพื่อได้รับความเป็นธรรมตามคำตัดสินนั้น”

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง

สำหรับแนวทางการป้องกันจากนี้ เพ็ญโฉม ระบุว่า มีความพยายามแก้ไข  พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มบทบาท อำนาจหน้าที่ที่จะมาถ่วงดุลระหว่างหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม กับ กรมโรงงานอุตสหกรรม และอุตสาหกรรมจังหวัด ให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม อย่าง กรมควบคุมมลพิษ สามารถสั่งโรงงานที่ก่อปัญหา สร้างความเดือดร้อนจากการที่ชาวบ้านร้องเรียน ให้โรงงานดังกล่าวหยุดประกอบกิจการชั่วคราวได้ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานข้างต้นยังไม่มีอำนาจ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active