ชาวบ้านหนองพะวา พอใจ ขนย้าย ‘อลูมิเนียมดรอส’ สำเร็จ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบ เยียวยา พื้นที่เกษตรใกล้โรงงาน หลังยังไร้การเหลียวแล ถูกกดราคาผลผลิต เพราะไม่มีใครการันตีความปลอดภัย ด้าน ‘เอกนัฏ’ ย้ำ สิ้นสุดมหากาพย์ พร้อมวางแนวทางป้องกันรัดกุม ตัดตอนน้ำปนเปื้อนสารเคมี ช่วงหน้าฝน
วันนี้ (3 มี.ค. 68) เพจ กระทรวงอุตสาหกรรม รายงานว่า เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยภายหลัง ลงพื้นที่ตรวจสอบความเรียบร้อยการขนย้ายตะกรันอลูมิเนียม หรือ อลูมิเนียมดรอส ที่ตรวจพบการลักลอบกักเก็บสะสมในพื้นที่โรงงานของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ว่า ได้เร่งสะสางปัญหา บริษัท วิน โพรเสส อย่างต่อเนื่อง จนเห็นผลภายในระยะเวลา 5 เดือน
ล่าสุดได้ดำเนินการขนย้ายอลูมิเนียมดรอส ที่เป็นกากของเสียอันตรายออกจากพื้นที่จนแล้วเสร็จ แม้เดิมทีจะติดปัญหาในส่วนตัวเลขค่าใช้จ่ายการบำบัดกำจัด รวมค่าขนส่ง ซึ่งสูงถึงประมาณ 10,000 บาทต่อตัน หรือต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดอย่างน้อย 70 ล้านบาท จึงได้สั่งการให้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม แถลงต่อศาลจังหวัดระยอง ขอเบิกเงินที่ บริษัท วิน โพรเสส วางไว้ต่อศาล จำนวน 4.94 ล้านบาท มาใช้ในการบำบัดกำจัดอลูมิเนียมดรอส ราว 7,000 ตัน เป็นลำดับแรก อีกทั้งยังได้ผนึกกำลังภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผ่านกิจกรรม อุตสาหกรรมรวมใจ ทำการขนย้ายอลูมิเนียมดรอสไปบำบัดกำจัด ด้วยงบประมาณเพียง 4 ล้านบาทเท่านั้น

รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยด้วยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เริ่มปล่อยรถขนย้ายคันแรกออกจาก บริษัท วิน โพรเสส จำกัด เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 โดยกำชับให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม คุมเข้มการขนย้ายอย่างระมัดระวัง รัดกุม เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดในทุกขั้นตอน พร้อมเร่งรัดเดินรถขนย้ายเต็มกำลัง กระทั่งสามารถขนย้ายอลูมิเนียมดรอสทั้งหมดแล้วเสร็จ 100% ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม – 1 มีนาคม 2568 รวมระยะเวลาเพียง 46 วัน ด้วยรถขนย้าย 225 เที่ยว จำนวนกว่า 5,400 ตัน เร็วกว่ากำหนดเดิมที่คาดการณ์ไว้ 60 วัน
“กรณี วิน โพรเสส ถือเป็นปัญหาที่สะสมมานานกว่า 15 ปี จนเรามาเร่งสะสาง และเห็นผลใน 5 เดือนที่เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งก็ต้องชื่นชมและขอบคุณข้าราชการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมแรงร่วมใจจนสามารถขนย้ายกากของเสียอันตราย บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝนในปีนี้ ที่สำคัญยังใช้งบประมาณในการขนย้ายและบำบัดกำจัดสุดคุ้มเพียง 3.09 ล้านบาท สามารถลดการใช้งบประมาณของภาครัฐลงได้กว่า 67 ล้านบาท”
เอกนัฏ พร้อมพันธุ์

สั่งคุมเข้มการปนเปื้อนช่วงหน้าฝน – ยันเร่งเคลียร์ปัญหาทุกพื้นที่
เอกนัฏ ยังบอกด้วยว่า นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมมาตรการรับมือช่วงฤดูฝน โดยบูรณาการความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลบางบุตร กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุมชนบ้านหนองพะวา เพื่อบล็อกน้ำฝน เบี่ยงเบนทางน้ำไม่ให้ไหลหลากผ่านพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนสารเคมี รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ ซีลคันดินบ่อที่กักเก็บน้ำเสียปนเปื้อน ป้องกันไม่ให้ของเหลวซึมรั่วไหลออกมา ตลอดจนสำรวจและแก้ไขจุดรั่วไหลที่ตรวจพบ ด้วยการนำหินมาเสริมความแข็งแรงแนวคันดิน และนำดินมากลบทับอุดจุดที่รั่วเพื่อเสริมแนวป้องกันการรั่วซึม พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

“ผมจะไม่หยุดแค่พื้นที่นี้ จะเดินหน้าเคลียร์ทุกพื้นที่ ทุกปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยจะนำทีมเฉพาะกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม “ตรวจสุดซอย” เฝ้าระวังการประกอบการที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หากตรวจพบจะสั่งการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอย่างเด็ดขาด เพื่อปั้นภาคอุตสาหกรรมตามนโยบาย สู้ เซฟ สร้าง ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย MIND ใช้หัว และใจปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน”
เดินหน้าบำบัดเคมีวัตถุ ซากของเสียไฟไหม้ตกค้างใน วิน โพรเสส
ขณะที่ พรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม บอกว่า จะเร่งบำบัดกำจัดกากของเสียที่เหลือในพื้นที่โรงงาน วิน โพรเสส ให้เร็วที่สุด ขณะนี้อยู่ระหว่างรองบฯ กลาง ปี 2568 จำนวน 40 ล้านบาท ที่จะใช้บำบัดของเสียเคมีวัตถุและเศษซากของเสียที่ถูกไฟไหม้ ประมาณ 4,000 ตัน โดยเฉพาะสารเคมีที่บรรจุอยู่ในถัง IBC และถุงบิ๊กแบ็กที่อยู่นอกอาคารปริมาณ 2,600 ตัน รวมถึงวัตถุอันตรายในบ่อซีเมนต์อีกกว่า 1,400 ตัน ส่วนในปี 2569 อยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบ EEC วงเงินงบประมาณ 459 ล้านบาท สำหรับบำบัดของเสียที่เหลือทั้งหมดอีกกว่า 24,300 ตัน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนเป็นสำคัญ
ชาวหนองพะวา พอใจ หวังรัฐจัดการสารเคมีให้จบ
ภายหลังความคืบหน้าการแก้ปัญหาอลูมิเนียมดรอสนั้น สนิท มณีศรี ตัวแทนชาวบ้านหนองพะวา เปิดเผยกับ The Active ว่า ค่อนข้างพึงพอใจกับการดำเนินการครั้งนี้ ส่วนสิ่งที่อยากให้ดำเนินการต่อซึ่งอยู่ในแผนของกรมโรงงานอุตสาหกรรมนับจากนี้ คือ ขนสารเคมีที่เป็นกรดที่อยู่ภายในถังเบ้าท์ที่ชำรุดออกไป คาดว่า กำลังรองบฯ กลาง ที่ขออนุมัติไป

เมื่อถามถึงความกังวลต่อน้ำเสียที่อยู่ในบ่อเก็บน้ำ ภายในโรงงาน ว่า จะรั่วไหลออกนอกพื้นที่หรือไม่นั้น สนิท ยอมรับว่า ได้สื่อสารเรื่องนี้กับ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้ประสานบริษัทผู้รับเหมา ดำเนินการปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว เพราะยังอยู่ในเวลาประกัน
“โดยรวมแล้ว การดำเนินการของรัฐมนตรี ค่อนข้างตรงกับที่ชาวบ้านต้องการ แต่ก็มีสิ่งที่ต้องติดตามคือว่า จะเริ่มดำเนินการต่อเมื่อไร และจะสำเร็จตอนไหน”
สนิท มณีศรี
สนิท ยังระบุถึงอีกประเด็นที่อยากสื่อสาร คือ ฝุ่นละออง จากการขนย้าย เนื่องจากในกระบวนการขนย้ายอลูมิเนียมดรอสล่าสุด มีข้อสังเกตว่า เกิดฝุ่นละอองในพื้นที่จำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน และชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง หากเป็นไปได้ อยากให้มีการวางแผนขนย้ายที่ปลอดภัย
พืชผลทางการเกษตร ชาวหนองพะวา ยังไร้การตรวจสอบความปลอดภัย
ขณะเดียวกันพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวหนองพะวา ก็ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารเคมีเช่นกัน ทั้ง สวนผลไม้ สวนยางพารา ซึ่งประเด็นนี้ สนิท ก็ยอมรับว่า ตั้งแต่เกิดไฟไหม้ ยังไม่มีหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง ให้เกิดความมั่นใจกับเกษตรกร อีกทั้งการเยียวยาก็ไม่เคยเกิดขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้ชาวบ้านจะเคยฟ้องบริษัทจนชนะคดี แต่ก็ไม่เคยจ่ายค่าชดเชยตามคำสั่งศาลแต่อย่างใด ซึ่งนับตั้งแต่เกิดเหตุไฟไหม้เป็นข่าวออกไป ทำให้พ่อค้าที่มารับซื้อผลไม้จากในพื้นที่ กดราคาต่ำลงกระทบรายได้เกษตรกรอย่างมาก
“พื้นที่เกษตร ที่น้ำท่วมยังได้รับการเยียวยา แต่ที่นี่ไม่เคยได้รับ ปัญหาน้ำท่วมเดือนเดียวน้ำลดเขาก็สามารถกลับมาทำสวนต่อได้ แต่สารเคมีอยู่ในพื้นที่เป็น 10 ปี 20 ปี ชาวบ้านขาดรายได้ อยากให้ทางเกษตรฯ มาถามข้อมูลกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบบ้าง ไม่ใช่ไปเอาข้อมูลแต่กับ อบต.”
สนิท มณีศรี