อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แนะตรวจเลือด ปัสสาวะ เส้นผมประชาชนในพื้นที่ริมแม่น้ำกก ห่วงสารหนู โลหะหนักจากเหมืองทองเมียนมา ส่งผลกระทบสุขภาพ ชี้ ต้องสร้างฐานข้อมูลเปรียมเทียบก่อน-หลัง ปนเปื้อน บูรณาการหน่วยงาน รับมือระยะยาว
วันนี้ (9 เม.ย. 68) พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ The Active ถึงกรณีพบสารหนู และโลหะหนักปนเปื้อนในแม่น้ำกก ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการทำเหมืองทองในเมียนมา โดยเน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข
ทั้งนี้สารหนู และโลหะหนักไม่ใช่สารที่พบตามธรรมชาติในน้ำ การปนเปื้อนอาจส่งผลต่อสุขภาพมนุษย์ผ่านการบริโภคน้ำ พืชผัก หรือสัตว์ที่อาศัยในแม่น้ำ ดังนั้น ต้องตรวจสอบ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
- ผลกระทบต่อสุขภาพ : ต้องตรวจร่างกายประชาชนในพื้นที่ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ หรือเส้นผม เพื่อประเมินการสัมผัสสารพิษและระยะเวลาที่ได้รับ

“สำหรับโลหะหนัก เราอาจตรวจพบทันทีได้จากเลือดหรือปัสสาวะ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการตรวจเส้นผม เพราะช่วยบอกได้ว่า สารปนเปื้อนอยู่ในร่างกายมานานแค่ไหน การตรวจจึงต้องเริ่มจากคำถามว่า มีหรือไม่ มากเกินปกติหรือเปล่า และสะสมมานานเพียงใด”
พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์
- แหล่งที่มา : ต้องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าสารหนูมาจากกิจกรรมใด โดยอาจเปรียบเทียบกับข้อมูลเดิม (Baseline Data) ถ้ามี
“เราควรให้ความสำคัญกับ การสร้างฐานข้อมูลเพื่อให้สามารถเปรียบเทียบ ผลการตรวจสอบในปัจจุบันกับข้อมูลในอดีต ซึ่งเป็นการช่วยให้สามารถประเมินได้ว่า สารหนูมีการปนเปื้อนเพิ่มขึ้นในช่วงหลังจากการดำเนินการเหมืองทองในเมียนมาหรือไม่”
พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์
อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ยังยกตัวอย่างกรณีเหมืองทองอัคราในไทย ที่พบว่า การแก้ปัญหาขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน เช่น กรมอนามัยตรวจน้ำ แต่ไม่มีการตรวจสุขภาพประชาชนอย่างต่อเนื่อง หรือไม่ประเมินผลกระทบเชิงลึก เช่น เด็ก อาจได้รับผลกระทบต่อพัฒนาการ ผู้ใหญ่ เสี่ยงต่อการทำงานของสมอง สิ่งแวดล้อม ต้องตรวจทั้งดิน น้ำ และห่วงโซ่อาหาร (ปลา พืชเกษตร)
“การแจ้งเตือนอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีระบบติดตามระยะยาว และบูรณาการข้อมูลระหว่างกระทรวงสาธารณสุข เกษตร และสิ่งแวดล้อม”
พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์
อย่างไรก็ตาม พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ยอมรับว่า การควบคุมแหล่งกำเนิดสารปนเปื้อนในเมียนมาทำได้ยาก จึงต้องเน้นการป้องกันผลกระทบในไทย โดยติดตามการกระจายของน้ำปนเปื้อนว่าลงสู่แม่น้ำสาขาใดบ้าง และเร่งสร้างฐานข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงในอนาคต