จี้ นายกฯ ถก ‘มิน อ่อง หล่าย’ แก้วิกฤตสารหนูปนเปื้อน น้ำกก-น้ำสาย 

ภาคประชาชน-นักวิชาการ จ.เชียงราย ส่งจดหมายถึง นายกฯ แพทองธาร วอนใช้โอกาสพบ มิน อ่อง หลาย แจ้งสถานการณ์เหมืองทองในเมียนมา ตัวการทำน้ำอุปโภค บริโภค พบการปนเปื้อนโลหะหนัก แนะ ตั้งคณะทำงานแก้มลพิษข้ามแดน เปิดเจรจา 4 ฝ่าย หาทางออกอย่างสร้างสรรค์ และรับผิดชอบ

วันนี้ (17 เม.ย. 68) คณะทำงานภาคประชาชน จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ และนักวิชาการ ได้ส่งจดหมายถึง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปช.) เพื่อขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาแม่น้ำกก และแม่น้ำสาย เป็นการเร่งด่วน

เนื้อหาในจดหมาย ระบุถึง ปัญหาแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย ที่ไหลผ่านจากรัฐฉาน เมียนมา สู่ จ.เชียงราย พบว่าขุ่นข้น และตรวจพบว่าปนเปื้อนสารโลหะหนัก นำมาซึ่งความกังวลเป็นอย่างยิ่งแก่ประชาชนที่อาศัยในลุ่มน้ำ ทั้ง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย เนื่องจากแม่น้ำทั้ง 2 นี้ คือ แหล่งผลิตน้ำดิบสำหรับน้ำประปาที่ประชาชนในอุปโภคบริโภค มีประชาชนที่พึ่งพาน้ำจากแม่น้ำกกประมาณ 1.2 ล้านคน เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ใช้ในการเกษตร และเป็นแหล่งรายได้ของประชาชนหลายหมื่นครอบครัว

เนื้อหาในจดหมายยังอ้างว่า บริเวณต้นแม่น้ำกก และแม่น้ำสาย มีการทำเหมืองแร่อย่างมากมายโดยเปิดหน้าดินอย่างกว้างขวางสามารถเห็นได้จาก google earth ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ (ปี 2566) ระบุว่า พื้นที่ชายแดนภาคเหนือมีจุดเสี่ยงจากเหมืองแร่ฝั่งเมียนมา 14 จุด โดย 5 จุด อยู่ใกล้แม่น้ำที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทย จนบัดนี้ยังไม่พบว่า มีการแก้ปัญหามลพิษข้ามพรมแดนนี้อย่างเป็นระบบแต่อย่างใด ซึ่งรายงานของ World Health Organization (WHO) ระบุว่าการได้รับสารไซยาไนด์ ในปริมาณ 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว สามารถก่อผลกระทบทางสุขภาพได้ในระยะยาว

“เมื่อเดือนกันยายน 2567 ประชาชนลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำสาย ได้เผชิญหายนะจากน้ำหลากท่วมและโคลนถล่มอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนในชีวิต สร้างความเสียหายรุนแรงและกว้างขวาง หลายครอบครัวต้องสูญเสียทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย อาชีพ โดยที่ยังไม่มีมาตรการเยียวยาที่ครอบคลุม ที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง ขณะนี้เราเหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือนก็จะเข้าสู่ฤดูฝน ประชาชนยังไม่เห็นมาตรการของรัฐในการรับมือและป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นอีกในเร็ววันนี้” 

ส่องข้อเสนอแก้วิกฤตมลพิษปนเปื้อนข้ามแดน

ทั้งนี้รัฐบาลควรเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา ได้แก่

  1. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน และนักวิชาการ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งในแหล่งกำเนิดมลพิษ ระหว่างทาง และผู้รับผลพิษ จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำในจังหวัดเชียงราย

  2. เปิดเผยและซักซ้อมมาตรการรับมืออุทกภัยลุ่มน้ำกก และลุ่มน้ำสาย อย่างเป็นระบบ มีส่วนร่วม และมีประสิทธิภาพ 

  3. สร้างความร่วมมือกับประเทศเมียนมาหรือกองกำลังที่ดูแลในพื้นที่ เพื่อเพิ่มจุดเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของสารปนเปื้อน ตลอดลำน้ำกก น้ำสาย ทั้ง พื้นที่ต้นน้ำ ก่อนเหมืองในรัฐฉาน

  4. สร้างระบบสื่อสารสาธารณะที่โปร่งใส เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจุบัน 

  5. ขยายขอบเขตการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นการลุกล้ำหรือทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำสาย

  6. เปิดการเจรจา 4 ฝ่าย คือ ไทย, เมียนมา, กองกำลังชาติพันธุ์ที่ควบคุมพื้นที่สัมปทานเหมือง และ ประเทศจีน เพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ

จี้นายกฯ คุย ผู้นำเมียนมา ชี้ชัดเหมืองทอง ต้นเหตุมลพิษข้ามแดน

สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ระบุว่า ปัญหาสารหนูปนเปื้อนน้ำกก และแม่น้ำสาย เป็นปัญหามลพิษข้ามพรมแดน หมายความว่า มีแหล่งกำเนิดสารพิษในประเทศหนึ่งคือเมียนมา ก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบกับประเทศอื่นซึ่งคือประเทศไทย โดยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้กล่าวต่อสื่อมวลชนในประเทศไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ต้องทำการพูดคุยกับประเทศเมียนมาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

“ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จะประชุมกับ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาในประเทศไทยวันนี้ ดังนั้น แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ควรใช้โอกาสอันดีนี้พูดคุยกับผู้นำทั้ง 2 ประเทศ เพื่อให้เพื่อนบ้านได้เข้าใจถึงการทำเหมืองแร่ในเขตแดนประเทศเมียนมาที่เป็นสาเหตุทำให้สารโลหะหนักปนเปื้อนในแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย” 

สืบสกุล กิจนุกร

สืบสกุล ยังระบุด้วยว่า นายกรัฐมนตรีต้องใช้แนวคิดการทูตสิ่งแวดล้อมสร้างความร่วมมือแก้ปัญหามลพิษข้ามพรมแดนให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด นอกจากนี้ต้องเสนอให้เมียนมา และมาเลเซียเข้าใจด้วยว่า เหมืองแร่อยู่ในเขตควบคุมของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่การเจรจาสันติภาพในเมียนมา ต้องหยิบยกเอาประเด็นมลพิษข้ามพรมแดนเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาด้วย

วอนอย่าแก้แค่ให้คนหยุดใช้น้ำ ต้องแก้ที่ต้นตอให้ชัด

ขณะที่ เพียงพร ดีเทศน์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และผู้อำนวยการฝ่ายรณรงรงค์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) บอกว่า ทั้งแม่น้ำกก และแม่น้ำสายเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ โดยมีต้นน้ำอยู่ในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมา การสร้างเหมืองทองที่บริเวณต้นน้ำ ทำให้ประชาชนและระบบนิเวศท้ายน้ำซึ่งอยู่ในประเทศไทยได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเร่งหาทางยุติการทำเหมืองและเปิดหน้าดินในวงกว้างให้ได้ เพราะนอกจากส่งผลในเรื่องการปนเปื้อนสารโลหะหนักลงแม่น้ำแล้ว ยังส่งผลต่ออุทกภัยที่มีดินโคลนปนมาด้วย กลายเป็นภัยพิบัติร้ายแรงที่คนท้ายน้ำต้องเผชิญและหวาดผวาอยู่ตลอดเวลา

“ทุกวันนี้ทางการสั่งห้ามชาวบ้านสัมผัสน้ำในแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย ขณะเดียวกันเราก็ยังต้องอุปโภคบริโภคน้ำประปาที่ผลิตจากน้ำดิบในแม่น้ำกก แม้ว่าการประปาภูมิภาคจะบอกว่ามีคุณภาพได้มาตรฐาน แต่จริง ๆ แล้ว ประชาชนผู้บริโภคก็ยังรู้สึกไม่ปลอดภัย การที่ทางการตรวจพบสารโลหะหนักปนเปื้อน พร้อมประกาศห้ามประชาชนทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับน้ำกกและน้ำสาย แต่กลับไม่ได้พูดให้ชัดเจนว่าจะแก้ไขที่ต้นตอได้อย่างไร มิต้องพูดถึงนิเวศลุ่มน้ำที่เสียหายอย่างหนัก”

เพียงพร ดีเทศน์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active