ชี้จุดอ่อนรัฐบาล รับมือล่าช้า ขาดข้อมูล ไร้คนรับผิดชอบ จัดการมลพิษข้ามพรมแดน เสนอตั้งคณะเจรจาระดับสูง พร้อมศูนย์ตรวจคุณภาพน้ำประจำจังหวัด หวั่น มลพิษปนเปื้อน ลุกลามลงแม่น้ำโขง กระทบห่วงโซ่อาหารทั้งภูมิภาค ขณะที่ ‘กรมอนามัย’ ตรวจฉี่ชาวบ้านหาสารหนู คาดรู้ผลใน 2 สัปดาห์ ย้ำ เบื้องต้นยังไม่พบผลกระทบต่อสุขภาพ
สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์สำนักนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Policy Watch จับตาอนาคตประเทศไทย ถึงปฏิกิริยาของรัฐบาลไทยต่อการรับมือกับปัญหาการปนเปื้อนในแม่น้ำกก โดยเห็นว่า รัฐบาลยังตอบสนองล่าช้า ทั้งที่สถานการณ์เริ่มส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างแล้ว

ให้สัมภาษณ์รายการ Policy Watch จับตาอนาคตประเทศไทย
5 ปัญหาที่รัฐบาลไทยยังขาดความพร้อม
ทั้งนี้ยังชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่สะท้อนถึงการที่รัฐบาลยังขาดความพร้อมต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกอบด้วย
- การรับมือที่ล่าช้า – อาจเป็นเพราะเป็นปัญหาใหม่ มีความซับซ้อน และผู้ก่อมลพิษไม่ใช่ภาครัฐโดยตรง
- ขาดข้อมูลต้นตอของมลพิษ – โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับเหมืองที่อยู่นอกอาณาเขตประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นแหล่งกำเนิดของสารโลหะหนัก
- ขาดผู้รับผิดชอบในระดับนโยบาย – รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย 2 ท่านแยกการทำงานกัน ไม่มีหน่วยงานหลักที่เป็นเจ้าภาพชัดเจน
- ใช้กลไกแบบเดิมที่ไม่ทันการณ์ – การประสานงานผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง (MRC) หรือ สทนช. อาจไม่เพียงพอ เพราะคู่ขัดแย้งไม่ใช่รัฐ แต่อาจเป็นเอกชนหรือกลุ่มติดอาวุธ
- ไม่มียุทธศาสตร์หรือแผนแก้ไขในระยะยาว – ซึ่งถือเป็นการพลาดโอกาสสำคัญ เช่น ตอนที่นายกรัฐมนตรีเมียนมาเยือนไทย แต่รัฐบาลไทยกลับไม่ได้หยิบยกเรื่องแม่น้ำกกขึ้นพูดคุย
แนะ นายกฯ – รองนายกฯ นั่งหัวโต๊ะเจรจาแก้ปัญหา ไม่ใช่หน่วยงานปกติ
สืบสกุล จึงเสนอให้ เจรจากับประเทศเมียนมา จีน และกลุ่มกองกำลังในพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งควรอยู่ในระดับนายกรัฐมนตรี หรือ รองนายกฯ ไม่ใช่แค่หน่วยงานปกติ เนื่องจากปัญหานี้เกินขอบเขตของกลไกเดิม เช่น MRC ที่เมียนมาไม่ได้เป็นสมาชิก หรือแม้แต่ LMC ซึ่งไทยจะต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนก่อนจึงจะใช้กลไกดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มลพิษไร้พรมแดน ผลกระทบอาจไกลเกินกว่าที่คิด
สำหรับแม่น้ำกก และแม่น้ำสาย ล้วนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งหมายความว่า หากสารพิษปนเปื้อนจะกระจายไปในแม่น้ำสายสำคัญของภูมิภาคนี้ และอาจเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร เช่น ปลา สัตว์น้ำ หรือแม้แต่พืชผลการเกษตร ที่ใช้น้ำจากแม่น้ำเหล่านี้ จึงตั้งข้อสังเกตว่า น้ำในแม่น้ำกกมีลักษณะขุ่นผิดปกติมาตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ปีที่แล้ว แต่ประชาชน และนักท่องเที่ยวก็ยังคงใช้สอยน้ำโดยไม่รู้ถึงอันตราย เพราะไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนจากภาครัฐ
เสนอตั้ง ‘ศูนย์ตรวจคุณภาพน้ำลุ่มน้ำโขงเหนือ’
สืบสกุล ยังมองว่า แม้หน่วยงานในพื้นที่ เช่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมเขต 1 หรือสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย จะเร่งตรวจสอบคุณภาพน้ำทันทีที่ทราบข่าวการปนเปื้อน แต่ปัญหาสำคัญคือ การตรวจคุณภาพน้ำยังต้องพึ่งห้องปฏิบัติการในส่วนกลาง ใช้เวลานาน 7–14 วัน และไม่สามารถติดตามสถานการณ์แบบเรียลไทม์ได้
พร้อมทั้งเสนอให้เร่งจัดตั้งศูนย์ตรวจคุณภาพน้ำประจำจังหวัดเชียงราย เพื่อให้สามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำได้รวดเร็วต่อเนื่อง และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการตัดสินใจของหน่วยงานในพื้นที่ พร้อมเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้
ส่วนในระดับระหว่างประเทศ สืบสกุล เสนอให้รัฐบาลตั้งคณะทำงานที่มีอำนาจเต็ม เพื่อเจรจากับประเทศเมียนมา กลุ่มว้า และกลุ่มกองกำลังอื่น ๆ ที่ดูแลพื้นที่ต้นน้ำ รวมถึงกับทางการจีน เนื่องจากบริษัทเหมืองที่เกี่ยวข้องมีต้นทางจากจีนและจีนก็เป็นผู้ซื้อรายใหญ่
ข้อมูลเหมืองยังไม่ชัด ความสัมพันธ์ว้า-เมียนมาเป็นอุปสรรค
สืบสกึล ยังชี้ว่า กลุ่มว้าไม่ได้ขึ้นตรงกับรัฐบาลเมียนมา แม้จะไม่ได้ขัดแย้งกัน ซึ่งทำให้การเก็บข้อมูลหรือเจรจายากยิ่งขึ้น และยังเป็นข้อท้าทายของรัฐบาลไทยในการจัดการปัญหานี้ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
สธ. ตรวจฉี่ชาวบ้าน หาสารหนูแม่น้ำกก คาดรู้ผลใน 2 สัปดาห์
ขณะที่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย ลงพื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบสถานการณ์สารหนูปนเปื้อนในแม่น้ำกก โดยมีการเฝ้าระวังใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านสุขภาพประชาชน ด้านคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภค และด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับความร่วมมือระหว่างประเทศ

เบื้องต้นพบว่า ขณะนี้ยังไม่มีประชาชนมีอาการผิดปกติจากพิษสารหนู หรือตะกั่ว และผลการตรวจคุณภาพน้ำประปาในพื้นที่ยังไม่พบสารปนเปื้อนเกินมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ได้มีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะและน้ำจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะทราบผลภายใน 2 สัปดาห์
นอกจากนี้ กรมอนามัยยังให้ความสำคัญกับการสื่อสาร และสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแม่น้ำกกโดยตรง เฝ้าระวังอาการผิดปกติที่อาจเกิดจากพิษสารหนูและตะกั่ว และจัดการน้ำในครัวเรือนให้ปลอดภัย เช่น การกรองและเติมคลอรีน ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการเฝ้าระวังและให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ