รอผล “สารหนู” อย่างเป็นทางการ ก่อนยกระดับเตือนภัย “แม่น้ำสาย”

ผู้ว่าฯ เชียงราย ยัน “ถ้าจะสื่อสารกับประชาชน ต้องใช้ผลที่เป็นทางการ” หลัง ม.แม่ฟ้าหลวง พบสารหนูแม่น้ำสาย แจ้งเตือนประชาชนงดเล่นน้ำหรือหาปลาระหว่างรอผลตรวจสารปนเปื้อน ด้าน “กรมทหารช่าง” เร่งเสริมแนวตลิ่งฝั่งไทยรับมือฤดูฝน หลังฝั่งเพื่อนบ้านยังไม่ขุดลอกแม่น้ำตามข้อตกลง

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2568 ชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ชายแดน อ.แม่สาย ว่าจุดที่ยังคงเป็นปัญหาคือ การขุดลอกแม่น้ำสาย ซึ่งตามข้อตกลง เป็นภารกิจของฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการ จังหวัดเชียงรายจึงจำเป็นต้องเร่งเสริมแนวตลิ่งฝั่งไทยให้มั่นคงแข็งแรงมากที่สุด เพื่อป้องกันน้ำหลากที่อาจเกิดขึ้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ยังระบุว่า จุดเสี่ยงหลักที่ต้องเฝ้าระวังยังคงเป็นพื้นที่เดิม ได้แก่ บริเวณชุมชนถ้ำผาจม ตลาดสายลมจอย ไปจนถึงชุมชนไม้ลุงขน ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากเมื่อฝนตกหนัก แสดงให้เห็นว่า “ธรรมชาติได้บอกเราแล้วว่าจุดไหนคือจุดเสี่ยง” จึงต้องมีการวางแนวป้องกันน้ำอย่างรัดกุม

ในรายละเอียดของโครงการ ผู้ว่าฯ ระบุว่า ทางกรมการทหารช่างจะติดตั้งแผงเหล็กปิดช่องหน้าต่าง ประตู และทางลอดต่าง ๆ เพื่อไม่ให้น้ำไหลลอดเข้าสู่พื้นที่ชุมชน ซึ่งนอกจากแนวตลิ่งแล้ว ต้องมีระบบป้องกันเสริมในจุดที่น้ำสามารถซึมผ่านได้ด้วย

ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ยังขอความร่วมมือจากประชาชนในอำเภอแม่สาย โดยเฉพาะผู้ที่มีสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำทางน้ำหรือขวางเส้นทางการก่อสร้างแนวป้องกัน ขอให้พิจารณารื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

ผู้ว่าฯ เชียงราย ขอรอดูผลตรวจสารหนูจากกรมควบคุมมลพิษ 

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เปิดเผยอีกว่า ขณะนี้จังหวัดได้เร่งดำเนินการก่อสร้างแนวป้องกันตลิ่งแม่น้ำสาย ควบคู่กับการแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเกี่ยวกับกรณีการพบสารปนเปื้อนในแม่น้ำ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการรายงานโดยทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เกี่ยวกับการตรวจพบสารหนูในลักษณะการทดสอบเบื้องต้น โดยยังไม่เป็นผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ

ล่าสุด ในการประชุมร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี ประเสริฐ จันทรรวงทอง ตนได้เสนอขอให้กรมควบคุมมลพิษเข้ามาตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายอย่างเป็นทางการ ซึ่งเมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำแล้ว และอยู่ระหว่างการรอผลตรวจในห้องปฏิบัติการ

“ผลตรวจที่น่าเชื่อถือจำเป็นต้องมาจากหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง ซึ่งมีมาตรฐานการตรวจในห้องแล็บ ผมไม่ได้ไม่เชื่อใครนะครับ แต่ถ้าจะให้สื่อสารกับประชาชน เราต้องใช้ผลที่เป็นทางการ”

แต่ในช่วงที่ผลการตรวจยังไม่ออก จังหวัดได้แจ้งเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำโดยตรง เช่น การเล่นน้ำหรือหาปลา เพราะอาจเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ

ขณะเดียวกัน การประปาภูมิภาคสาขาแม่สาย ซึ่งใช้น้ำดิบจากแม่น้ำสายก็มีการตรวจคุณภาพน้ำเป็นประจำ และยืนยันว่าผลยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สามารถนำมาใช้เพื่ออุปโภคบริโภคได้อย่างปลอดภัย

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ยังเสนอให้มีการตรวจคุณภาพน้ำตลอดแนวแม่น้ำสายอย่างสม่ำเสมอ โดยระบุว่า การตรวจอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้รู้แนวโน้มของคุณภาพน้ำว่าแย่ลงหรือดีขึ้น และประชาชนจะได้ปรับพฤติกรรมตามความเหมาะสม

สำหรับประเด็นระยะยาวที่อาจเกี่ยวข้องกับต้นตอของปัญหา เช่น สารปนเปื้อนจากแหล่งต้นน้ำในประเทศเพื่อนบ้าน ผู้ว่าฯ เชียงราย ระบุว่า ได้มีการหารือในที่ประชุมแล้ว โดยจะประสานผ่านกระทรวงการต่างประเทศและกรมกิจการทหาร เพื่อเตรียมหารือกับประเทศเพื่อนบ้านในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเสียงสะท้อนจากนักวิชาการที่มองว่า จ.เชียงราย เป็นพื้นที่ที่เผชิญกับภัยพิบัติซ้ำซ้อน ผู้ว่าฯ ตอบว่า “ผมมองบวกครับ ถ้ามีปัญหา เราก็ต้องช่วยกันแก้ ไม่ควรไปโทษภูมิศาสตร์หรือธรรมชาติ เราอยู่ด้วยกัน ต้องสร้างความสุขด้วยกัน”

ประเด็นช่องทางลักลอบ – ความร่วมมือผู้เกี่ยวข้องปิดกั้นพื้นที่เสี่ยง

เมื่อถามถึงความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งบางจุดที่ต้องปิดเพื่อสร้างแนวป้องกันตลิ่งนั้น เคยเป็นช่องทางที่ใช้ในการลักลอบขนของหรือยานพาหนะผิดกฎหมาย ผู้ว่าฯ ระบุว่า มีการปิดช่องทางไว้แล้ว แต่ต้องขอความร่วมมือจากอำเภอและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลและบังคับใช้กฎหมายในจุดดังกล่าวด้วย เพื่อไม่ให้มีการลักลอบเปิดช่องทางลับ ให้กลายเป็นช่องโหว่ด้านความมั่นคงอีก

ด้าน วรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ทางอำเภอกำลังร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศในการเจรจาเพื่อจัดการปัญหาแม่น้ำสาย โดยเฉพาะในประเด็นการสร้างพนังป้องกันน้ำท่วม ซึ่งได้มีการหารือกันทั้งอย่างไม่เป็นทางการและอย่างเร่งด่วนจนได้ข้อสรุปเบื้องต้น

“เรากำลังพยายามเต็มที่เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมในปีนี้ เพราะประชาชนวิตกกันมาก โดยเฉพาะหลังมีข่าวเรื่องสารหนูปนเปื้อนในแม่น้ำ หากเกิดน้ำท่วมก็กลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเราต้องทำให้ดีที่สุด”

สำหรับพื้นที่ที่ยังมีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำ นายอำเภอแม่สาย ย้ำว่า ประชาชนควรเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม หากปล่อยให้สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำอยู่ จะเป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำและการสร้างพนังป้องกันน้ำท่วม

“ถ้าต้องใช้กฎหมาย ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่ถ้าเกิดจากความร่วมมือของประชาชน ก็จะง่ายขึ้น ตอนนี้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งให้สำนักงานธนารักษ์จังหวัดยกเลิกสัญญาเช่าบางส่วน เพื่อให้สามารถรื้อถอนได้ทันที”

พื้นที่ลำน้ำสายที่ควรมีความกว้างประมาณ 100 เมตร บางจุดกลับถูกบีบเหลือเพียง 10 เมตร จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถรับมือกับปริมาณน้ำในฤดูฝนได้ โดยมีกำหนดให้ภายในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ หน่วยทหารช่างจะเข้าดำเนินการขยายแนวลำน้ำให้กว้างขึ้น แต่การดำเนินการจะเป็นไปได้ต่อเมื่อไม่มีสิ่งปลูกสร้างกีดขวาง ซึ่งที่ผ่านมาแม้หน่วยทหารจะเข้าไปดำเนินการแล้ว แต่ยังมีบางจุดที่เจ้าของยังไม่ยินยอม

“สำคัญที่สุดคือความร่วมมือ ถ้าเจ้าของรื้อเองได้ก็จะเร็ว ถ้าไม่ ก็ต้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งตอนนี้เราเริ่มต้นจากการยกเลิกสัญญาเช่าแล้ว นั่นหมายความว่าเมื่อไม่มีสัญญา เจ้าของก็ไม่มีสิทธิ์อยู่ต่อ”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีกี่จุดที่เร่งดำเนินการเป็นพิเศษ นายอำเภอแม่สาย ตอบว่า มี 3 จุดหลักที่อยู่ในพื้นที่แคบ ซึ่งจำเป็นต้องเร่งรื้อถอนเพื่อเปิดทางให้น้ำไหลได้สะดวก และให้การก่อสร้างแนวพนังสามารถเดินหน้าได้เต็มที่

ทหารช่างเร่งสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมแม่สาย ชิงแข่งกับเวลาก่อนฤดูฝนมาถึง

พลโท สิรภพ ศุภวานิช เจ้ากรมการทหารช่าง กองทัพบก ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่พร้อมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ว่าแผนหลักแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) การขุดลอกแม่น้ำรวกในเขตประเทศไทย ซึ่งกองทัพบก รับผิดชอบดำเนินการตั้งแต่บริเวณบ้านเกาะช้าง (กม.12) ไปจนถึง กม.44 รวมระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร โดยเริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน และตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ และ 2) การสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมบริเวณหน้าด่านชายแดนไทย-เมียนมา โดยเน้นการปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของอำเภอแม่สาย เช่น ชุมชนผาจม ตลาดสายลมจอย และชุมชนไม้ลุงเบา รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง

แนวป้องกันน้ำดังกล่าวจะมีความยาวรวมประมาณ 3,600 เมตร เริ่มตั้งแต่บริเวณศูนย์กลางของแม่สาย ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 และต่อเนื่องไปถึงชุมชนที่อยู่ท้ายเมือง โดยจะใช้วิธีการผสมผสานแนวป้องกันทั้งหมด 5 รูปแบบ ได้แก่ เข็มเหล็กป้องกันแรงซัด (Steel sheet piles), แผ่นป้องกันน้ำสำเร็จรูป, การเทพื้นคอนกรีต, การใช้แผ่นเหล็กอุดโพรงในแนวเขื่อน และการเสริมคันดินร่วมกับบิ๊กแบ็ก เพื่อเพิ่มความแข็งแรงสูงสุด

สำหรับการลุกล้ำลำน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแคบของทางน้ำ พลโท สิรภพ ระบุว่า เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไขควบคู่ไปกับการสร้างแนวป้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝ่ายเมียนมายังไม่สามารถดำเนินการขุดลอกแม่น้ำสายได้ ทำให้ไทยต้องเร่งมือป้องกันจากฝั่งตนเองก่อน

“ภารกิจครั้งนี้ต้องแข่งกับเวลา เพราะฤดูฝนใกล้เข้ามา เราจึงต้องเร่งระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนเพื่อให้แล้วเสร็จทัน”

พลโท สิรภพ บอกอีกว่า หากสามารถสร้างแนวป้องกันได้ทัน พื้นที่ที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เช่น ตลาดสายลมจอยและชุมชนถ้ำผาจม ซึ่งต่ำที่สุดในพื้นที่ จะสามารถรอดพ้นจากน้ำท่วมได้ในปีนี้

ส่วนประเด็นความกังวลของชาวบ้านเกี่ยวกับสารหนูที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำท่วม พลโท สิรภพ ระบุว่า เป็นอีกประเด็นที่ต้องแยกกันพิจารณา เพราะสารหนูนั้นมาจากกิจกรรมอื่น เช่น เหมืองทองในฝั่งเมียนมา และไม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ส่วนภารกิจของกองทัพบกในขณะนี้คือการป้องกันไม่ให้น้ำเข้าท่วมชุมชนเป็นหลัก

เขายังกล่าวถึงสาเหตุของการท่วมครั้งก่อนว่า เกิดจากมวลน้ำขนาดใหญ่ไหลหลากเข้ามาในเวลาเดียวกัน ประกอบกับลำน้ำตื้นเขิน ทำให้น้ำระบายไม่ทัน พร้อมย้ำว่าแนวป้องกันในครั้งนี้เป็นแนวชั่วคราวที่กองทัพบกรับผิดชอบ ส่วนแนวถาวรนั้นอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง

“น้ำมาเร็วก็ท่วมเร็ว และลดเร็ว ดังนั้นถ้าไม่มีแนวป้องกันที่แข็งแรง น้ำก็จะเข้าทุกครั้งที่ฝนตกหนัก”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากฝั่งเมียนมายังไม่ดำเนินการใด ๆ จะมีผลกระทบต่อไทยหรือไม่ พลโท สิรภพ ตอบว่า “นี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนระดับประเทศ ตอบไปอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ จึงต้องขออนุญาตไม่ให้ความเห็นในส่วนนี้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active