‘ปธ.กลุ่มรักษ์เชียงของ’ เรียกร้อง เก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ตรวจสอบการสะสมสารพิษในพืช สัตว์น้ำ ครอบคลุม ขณะที่ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฯ ม.ราชภัฏเชียงราย เตือนสารหนูเป็น ‘ภัยสะสม’ แม้ไม่แสดงผลทันที
วันนี้ (4 พ.ค. 68) นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และครูใหญ่โฮงเฮียนแม่น้ำของ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชาวไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล Leaders on the Frontlines จากมูลนิธิเอเชีย (The Asia Foundation) ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยกับ The Active โดยเตือนรัฐบาลถึงความรุนแรงของกรณีแม่น้ำสายที่ไหลผ่าน อ.แม่สาย รวมถึงแม่น้ำกก ที่ไหลผ่าน อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งปนเปื้อนสารหนู และไหลลงสู่แม่น้ำโขง ตามที่ทีมวิจัย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ โดยบอกว่า ผลกระทบครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก หากรัฐยังเพิกเฉยอาจกลายเป็นหายนะระดับภูมิภาค
“นี่ไม่ใช่เรื่องที่ควรกลัวว่าเศรษฐกิจจะเสียหาย แต่ควรกลัวว่าประชาชนจะตายก่อน
ครูตี๋
เพราะนี่คือเรื่องของชีวิตจริง”
ครูตี๋ ยังย้ำว่า รัฐบาลต้องเร่งสื่อสารข้อมูลให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำกก ลุ่มน้ำสาย และแม่น้ำโขงรับรู้ เพื่อให้สามารถป้องกันตัวเองได้ทันท่วงที พร้อมเสนอให้ตรวจสอบสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในลำน้ำ ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ เพื่อดูว่ามีการสะสมสารพิษหรือไม่

ครูตี๋ บอกอีกว่า รัฐบาลไทยควรใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับจีน เนื่องจากมีข้อมูลว่าบริษัทเจ้าของเหมืองในรัฐฉานเป็นทุนจากจีน ซึ่งจีนควรรับรู้ถึงผลกระทบและเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ปล่อยให้ไทยรับภาระเพียงฝ่ายเดียว
“นี่ไม่ใช่เรื่องของความกล้าหาญทางการเมือง แต่เป็นเรื่องของความจริงที่ต้องพูดคุยกับจีนอย่างตรงไปตรงมา เพราะบริษัทที่ทำเหมืองเป็นของจีน เราไม่ได้ไปกล่าวโทษว่าเขาผิด แต่ต้องขอให้เขาเข้ามารับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวข้อง”
ครูตี๋
ในด้านวิชาการ ครูตี๋ เสนอให้ตรวจสอบอย่างครอบคลุมทั้งพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับลำน้ำทั้งหมด เพื่อประเมินขอบเขตของผลกระทบจากสารพิษ พร้อมรวบรวมข้อมูลให้เป็นระบบกลางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่ให้ข้อมูลกระจัดกระจายเหมือนที่ผ่านมา
ชี้ความท้าทายภาคประชาชนแก้มลพิษข้ามแดน เรียกร้อง สส.พื้นที่ดันเรื่องเข้าสภาฯ
นอกจากนี้ ครูตี๋ ยังกล่าวถึงความท้าทายของภาคประชาชนว่า สถานการณ์ครั้งนี้ยากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะปัญหาเกิดขึ้นนอกประเทศ ซึ่งหมายความว่าการจัดการทรัพยากรน้ำไม่สามารถทำแค่ในประเทศได้อีกต่อไป
“แม่น้ำไม่ได้ไหลอยู่แค่ในประเทศเราอีกแล้ว เราเรียกร้องแค่ในประเทศไม่ได้ ต้องขยับออกไประดับภูมิภาค ต้องมองทั้งลุ่มน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ”
ครูตี๋
ครูตี๋ ยังทิ้งท้ายว่า ผู้แทนราษฎรในพื้นที่ควรออกมาแสดงจุดยืนและผลักดันให้เรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาโดยเร็ว เพื่อให้เกิดมาตรการเชิงระบบที่ครอบคลุมและปกป้องสุขภาพของประชาชนในระยะยาว
เตือนสารหนูเป็น ‘ภัยสะสม’ ไม่แสดงผลทันที
ขณะที่ ผศ.ปิยพร ศรีสม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย บอกกับ The Active ด้วยว่า ถึงสิ่งที่น่าวิตกกังวลคือ ต้นตอของมลพิษยังคงปล่อยลงแม่น้ำอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีมาตรการบำบัดหรือเจรจาข้ามพรมแดน
“ถ้าเราคุยกันที่ต้นทางไม่ได้ เราต้องหาวิธีอยู่กับมันให้ได้ เช่น พัฒนานวัตกรรมกรองน้ำจากธรรมชาติ ปลูกพืชชะลอการแพร่สารพิษ แต่ทั้งหมดนี้คือการ อยู่กับปัญหา ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นตอ”
ผศ.ปิยพร ศรีสม

พร้อมทั้งอธิบายว่า ปัญหาโลหะหนักในลำน้ำ โดยเฉพาะ สารหนู ซึ่งตรวจพบเกินมาตรฐานบางจุดนั้น ไม่ใช่สิ่งที่สร้างผลกระทบทันที แต่เป็น ระยะยาว ที่น่ากังวล เพราะจะเข้าสู่ระบบนิเวศและสะสมในห่วงโซ่อาหาร เช่น ตะกอนดิน → พืชน้ำ → ปลา → มนุษย์
“วันนี้ยังไม่อันตราย แต่ถ้าปล่อยให้สะสมเรื่อย ๆ โดยไม่มีการจัดการ ต้นน้ำยังคงปล่อยมลพิษ เราก็จะเจอปัญหาใหญ่ในอนาคตแน่นอน”
ผศ.ปิยพร ศรีสม
นอกจากนี้เห็นว่า เชียงรายมีทีมบูรณาการ นำโดยจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานกลาง เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมประมง และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เช่น มรภ.เชียงราย ราชมงคลพะเยา ฯลฯ โดยมุ่งเน้นให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับชุมชน สร้างความมั่นใจในการใช้น้ำและบริโภคสัตว์น้ำในพื้นที่
“สิ่งที่อันตรายไม่แพ้มลพิษคือ ข่าวลวง และความตื่นตระหนกจากข้อมูลที่ไม่ผ่านการกลั่นกรอง เช่น ข่าวปลามีตุ่มที่อาจเกิดจากเชื้อโรค ไม่ใช่โลหะหนัก”
ผศ.ปิยพร ศรีสม
แม้ปลาที่จับได้จากแม่น้ำกกจะตรวจพบสารโลหะหนักในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ แต่ ผศ.ปิยพร ยืนยันว่า “ถ้าไม่สบายใจ ให้เลี่ยงบริโภคปลาในพื้นที่” โดยเฉพาะปลาธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันมีน้อยอยู่แล้ว เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่บริโภคปลาจากฟาร์มและระบบประมง
ในส่วนของตะกอนดินที่พบโลหะหนัก แม้ไม่อันตรายกับมนุษย์โดยตรง แต่กระทบต่อระบบนิเวศและอาจย้อนกลับมาสู่คนผ่านการบริโภคพืชน้ำหรือสัตว์น้ำในระยะยาว