‘สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต’ จี้รัฐบาล หลังยังไร้การเจรจาระหว่างประเทศ หาทางแก้วิกฤตสารพิษปนเปื้อน หวั่น หายนะความหลากหลายทางชีวภาพ เปลี่ยนแม่น้ำเพื่อชีวิต เป็นแม่น้ำแห่งความตาย ขณะที่กรณี ชาวบ้านงมหาของในน้ำกก ตาบวม ยังไม่รู้สาเหตุมาจากสารพิษหรือไม่ ?
กรณีโลกออนไลน์เผยแพร่ภาพชาวบ้านที่มีลักษณะดวงตาบวมโต ซึ่งภายหลังพบว่า เป็นภาพที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา โดย มูลนิธิสยามเชียงราย ได้รับแจ้งจากชาวบ้านเมืองงิม หมู่ที่ 4 ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ทำของตกหายในคลองผันน้ำซึ่งชาวบ้านได้งมหา โดยคลองดังกล่าวเป็นคลองส่งน้ำที่ผันมาจากแม่น้ำกกจากโครงการฝายชลประทานเชียงราย เพื่อใช้ในหมู่บ้าน และพื้นที่เกษตรกรรม

โดยระบุว่า ชาวบ้านลืมตาในน้ำหาของ กลับบ้านมีอาการปวดแสบ บริเวณดวงตา และตาเริ่มบวมจึงโทร.หากู้ภัยซึ่งก็แนะนำให้ไปหาหมอดูก่อน
อาสาสมัครกู้ภัย มูลนิธิสยามเชียงราย ยังระบุด้วยว่า จากการดูเบื้องต้นของอาสาสมัครกู้ภัยไม่ใช่อาการระคายเคืองจากแมลงหรือหนอน เพราะเป็นการบวมจากข้างใน และตอนเกิดเหตุผู้ป่วยไม่ยอมไปพบแพทย์ จะรักษาเองโดยใช้น้ำเกลือและยาล้างตา ทั้งนี้ได้ไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ส่งต่อให้แพทย์ตรวจรักษาว่าเป็นอันตรายหรือผลกระทบจากสารพิษในแม่น้ำกกหรือไม่
สำหรับแม่น้ำกกในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ตรวจพบสารหนู และสารโลหะหนักอื่น ๆ เกินค่ามาตรฐาน จนนำไปสู่การแจ้งเตือน และเฝ้าระวังอันตรายกับผู้ใช้น้ำ
ทวงถามรัฐเจรจาระหว่างประเทศ แก้มลพิษเหมืองน้ำกกไม่คืบ
ขณะที่ล่าสุดวันนี้ (6 พ.ค. 68) สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต โพสต์ทวงถามถึงข้อเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งตั้งคณะทำงานแก้ปัญหา รวมถึงการเจรจาระหว่างประเทศ ผ่านข้อเสนอการแก้ไขปัญหาแม่น้ำกก 7 ข้อ ตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา ประกอบด้วย
- แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน และนักวิชาการ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งในแหล่งกำเนิดมลพิษ ระหว่างทาง และผู้รับผลพิษ จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำกก จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ภายใน 30 วัน
- เปิดเผยและซักซ้อมมาตรการรับมืออุทกภัยลุ่มน้ำกก และลุ่มน้ำสาย อย่างเป็นระบบ มีส่วนร่วม และมีประสิทธิภาพ
- สร้างความร่วมมือกับประเทศเมียนมา และกลุ่มกองกำลังว้า เพื่อเพิ่มจุดเก็บตัวอย่างน้ำ เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของสารปนเปื้อน ตลอดลำน้ำกก น้ำสาย ทั้งพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ทำเหมืองในรัฐฉาน ประเทศพม่า และพื้นที่แม่น้ำกกในประเทศไทย
- การสร้างระบบสื่อสารสาธารณะที่โปร่ง เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำจังหวัดเชียงราย
- การขยายขอบเขตการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นการลุกล้ำหรือทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดลุ่มน้ำ
- เปิดการเจรจา 4 ฝ่ายคือ ไทย เมียนมา กองกำลังชาติพันธุ์ที่ควบคุมพื้นที่สัมปทานเหมือง และประเทศจีน เพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ โดยมีกลไกระดับอาเซียนบวกประเทศจีน
- การแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะทำงานในทุกระดับให้มีสัดส่วนของประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบภาคประชาสังคม
แต่พบว่า ปัจจุบันยังไม่มีการเจรจาระหว่างประเทศเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำเหมืองต้นน้ำอย่างเป็นรูปธรรม
หวั่นแม่น้ำเพื่อชีวิต กลายเป็น แม่น้ำแห่งความตาย!
ทั้งนี้สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ยังระบุถึงการศึกษาสำรวจสัตว์น้ำในแม่น้ำกก ซึ่งพันธุ์ปลาที่พบในแม่น้ำกกส่วนใหญ่เป็นชนิดที่พบในแม่น้ำโขง มีการอพยพขึ้นลงระหว่างสองแม่น้ำ มีระบบนิเวศน์ย่อยที่ใกล้เคียงกับแม่น้ำโขง ที่ประกอบด้วย เกาะดอน แก่งหิน หาดทราย หาดหิน ร้อง ห้วย ริมฝั่ง หนอง บวกและออบเป็นต้น มีลำห้วยสาขาจำนวน 24 ลำห้วย จากตำบลท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ถึง อ.เมืองเชียงราย
ทั้งนี้จากการศึกษาพันธุ์ปลาในแม่น้ำกก พบถึง 71 ชนิด แบ่งออกเป็นปลาท้องถิ่น 64 ชนิด ปลาต่างถิ่น 7 ชนิด ปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปลากดคัง, กดขาว, กดเหลือง, ปลาแข้, ปลาเค้าขาว, ปลาคางเบือน, ปลาดังแดง, ปลากาดำ, ปลาสวาด, ปลายอน, ปลาหวาน, ปลาดุกอุย, ปลาสร้อย, ปลาตะเพียนขาว, ปลากระทิง, ปลาไหลเป็นต้น
ส่วนปลาที่มีความสำคัญอยู่ในการจัดอันดับของ IUCN redlist อย่างน้อย 2 ชนิดได้แก่ ปลากระเบนลาว และปลายี่สกไทย จึงนับได้ว่าลุ่มน้ำกกประเทศไทย มีความอุดมสมบูรณ์ด้านหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูงจากการพบเจอสัตว์น้ำที่หลากหลายชนิด
ข้อกังวลของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำกก อิง โขง ได้พยามเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงปัญหาในระยะยาว เนื่องจากแม่น้ำกกเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชุมชนสองฝั่งแม่น้ำมาตั้งแต่อดีต จากแม่น้ำเพื่อชีวิตกำลังเป็นแม่น้ำแห่งความตาย

สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคแม่น้ำเพื่อชีวิต จึงร่วมกับเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำกก อิง โขง รวมข้อเสนอแผนการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสารเคมีในแม่น้ำกก
“ด้วยความห่วงใยในสถานการณ์ตอนนี้ ทางเครือข่ายฯ ร่วมกันตรวจสอบการปนเปื้อนในตัวของปลา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของคนในลุ่มน้ำ ทางสมาคมฯ ได้ประสานกับชาวประมงเพื่อนำปลาตัวอย่างที่มีลักษณะผิดปกติ ตรวจหาสารปนเปื้อน เพื่อให้รับรู้ และรับมือกับสารปนเปื้อนที่มากับน้ำ และในการป้องกันการบริโภคปลาที่มีสารปนเปื้อน แต่การแก้ไขปัญหาหลักคือการแก้ไขปัญหาผลกระทบการทำเหมืองในเขตรัฐฉาน ซึ่งมันเกินกำลังของรัฐท้องถิ่นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเร่งเจรจา 4 ฝ่ายคือ ไทย เมียนม่า กลุ่มกองลังชาติพันธุ์และจีน เพื่อตรวจสอบ หามาตรการควบคุมมลพิษตามกฎหมายหรืออนุสัญญาสิ่งแวดล้อมระดับสากลหรือถ้าไม่สามารถควบคุมได้ข้อเสนอสูงสุดคือต้องยุติการทำเหมือง”

ทั้งนี้ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำกก อิง โขง ได้เสนอแผนป้องกันและรับมือผลกระทบ 3 ระยะ คือ
- ระยะที่หนึ่ง ระยะเร่งด่วน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบสารเคมีปนเปื้อนในน้ำ ปลา และสัตว์น้ำ ในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำรวก และแม่น้ำมะ
- ระยะที่สอง ตรวจสอบสารเคมีปนเปื้อนในน้ำ ปลา และสัตว์น้ำในลำน้ำโขงจังหวัดเชียงราย และลำห้วยสาขาแม่น้ำกก จากอำเภอท่าตอน จังหวัดเชียงใหม่จนถึงปากแม่น้ำกกจำนวน 28 ลำห้วย
- ระยะที่สาม ตรวจสอบสารเคมีปนเปื้อนในน้ำ ปลา และสัตว์น้ำในแม่น้ำคำ แม่น้ำอิง และแม่น้ำงาว ระยะทาง 10 กิโลเมตรจากปากแม่น้ำ
“เพื่อหาข้อเท็จจริงในการสื่อสารให้กับชุมชนได้ตั้งรับปรับตัวจากข้อกังวลผลกระทบที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น ขณะนี้ได้ส่งตัวอย่างปลา จำนวน 4 ตัวอย่าง ให้ประมงจังหวัดเชียงรายตรวจสอบ คาดว่าจะทราบผลในอีก 3 สัปดาห์”