นักปกป้องสิทธิฯ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด แถลงข้อเรียกร้องชดใช้ความเสียหายต่อประชาชน จี้ รัฐสั่งหยุดการใช้ระเบิดขุดเจาะอุโมงค์ใหม่โดยเร่งด่วน ลั่น หากไม่หยุดพร้อมทำอารยะขัดขืนอย่างถึงที่สุด ‘เลิศศักดิ์’ เปิดข้อมูลความเชื่อมโยงพรรคการเมือง ชักใยธุรกิจเหมือง

วันนี้ (9 พ.ค. 2568) เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ในฐานะที่ปรึกษากลุ่มฯ ได้ให้ความเห็นว่า กรณีเหมืองแร่โปแตชไม่ใช่แค่เรื่องปุ๋ย แต่อาจโยงไปถึงเรื่องธุรกิจที่มีฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยง ระหว่าง พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับ อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นอดีตคนสนิทของอดีตนายกฯ ในช่วงที่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปตท. โดยมีการเดินหน้าซื้อหุ้นบางจาก คอร์ปอเรชั่นในอดีต

ต่อมา ยุครัฐบาลเศรษฐา 1 นายพิชัย มีบทบาทอีกครั้ง ด้วยการเป็นที่ปรึกษานายกฯ และได้เสนอแนวคิดพลิกฟื้นเศรษฐกิจการนำอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีมาทดแทน หลังอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิลมีแนวโน้มเติบโตช้าลง โดยรถยนต์อีวีต้องอาศัยแร่ลิเทียมเพื่อทำแบตเตอรี่รถยนต์ ซึ่ง เลิศศักดิ์ คาดว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ประกาศการทำเหมืองแร่โปแตชเป็นวาระเร่งด่วน
ต่อมาวันที่ 6 พ.ย. 2566 นายเศรษฐา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เคยกล่าวไว้ว่า โพแทสเซียม ถือเป็นสารตั้งต้นสำคัญสำหรับการทำปุ๋ยเคมีและประเทศไทยมีโพแทสเซียมมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากแคนาดา สารนี้เมื่อขุดเจาะมาแล้ว สามารถนำไปขายได้ ให้ราคาดีในต่างประเทศ มีความต้องการสูงที่ประเทศจีน ซึ่งหากประเทศไทยทำเหมืองแร่โปแตชได้ จะทำให้ประเทศไทยสามารถลดการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศได้ด้วย เลิศศักดิ์ ระบุว่า นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ภาคอีสานและประเทศไทยกลายเป็นหมุดหมายฐานการผลิตใหม่
กระทั่ง นายเศรษฐา ถูดถอดออกจากตำแหน่งทางการเมือง นายพิชัย ก็ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในยุคของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร
เลิศศักดิ์ ยังให้ข้อมูลโดยระบุถึงสาเหตุที่บางจากต้องมาซื้อหุ้นเหมืองแร่โปแตช บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ว่าเป้าหมายไม่ใช่เพื่อนำแร่โปแตชมาทำปุ๋ย แต่คือความมุ่งหวังการนำแร่โซเดียมคลอไรด์ เพื่อมาทำแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกเพิ่มอีกทาง
“ตอนนี้เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นระดับชาติไปแล้ว เพราะบางจากไม่สนที่จะทำธุรกิจสีเขียวที่ตัวเองสร้างภาพลักษณ์ขึ้นมาอีกต่อไป เนื่องจากไปจับมือกับกลุ่มจีนสีเทาในการทำเหมืองรอบสอง หนำซ้ำ และยังมีความเชื่อโยงกับพรรคเพื่อไทย เพื่อประสานต่อยอดธุรกิจให้ตัวเองเติบโต โดยไม่เห็นหัวชาวบ้าน”
ลั่น ถ้าเจาะอุโมงค์รอบสองเมื่อไหร่ “เราจะสู้ให้ถึงที่สุด”
สำหรับ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ปัจจุบัน เป็นพื้นที่โครงการแห่งเดียวในไทยที่ดำเนินการมาถึงขั้นขุดเจาะแต่ไม่สามารถนำแร่ขึ้นมาได้ เนื่องจากระหว่างการขุดเจาะได้ไม่นานต้องหยุดชะงัก เพราะอุโมงค์ที่ขุดที่เป็นแบบแนวเอียงเดิม ถูกน้ำท่วม แล้วส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในพื้นที่ ต.หนองไทร จ.นครราชสีมา
ผลกระทบดังกล่าว ทำให้ดินและน้ำในพื้นที่มีความเค็มกว่าน้ำทะเลถึง 2 เท่า จนเกษตรกรไม่สามารถปลูกข้าวได้ นอกจากนั้นบ้านเรือนและต้นไม้บริเวณรอบเหมืองถูกกัดกร่อน ซึ่งคาดว่ามาจากความเค็มจากการขุดเหมือง
อย่างไรก็ตาม บริษัท ไทยคาลิ ผู้ได้ประทานบัตรทำเหมือง ยืนยันว่า ความเค็มในพื้นที่เกิดจากธรรมชาติเดิมของดิน และการดำเนินการของเหมืองเป็นระบบปิด ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ล่าสุด กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ให้ใบอนุญาตเหมืองโปแตชอีกครั้ง แต่รอบนี้จะเป็นการขุดเจาะอุโมงค์แนวดิ่ง โดยใช้ระเบิดในพื้นที่ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
พิริยะกร ดีขุนทด นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวว่า การเจาะอุโมงค์แรกได้สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านอย่างมาก น้ำเกลือไหลท่วมพืชไร่ชาวบ้าน เมื่อเกิดกรณีดังกล่าวแล้ว ได้ตั้งคำถามว่าทำไมยังมีการเดินหน้ารอบสองอีก
“แร่โปแตชอยู่ของมันดี ๆ แต่มีคนนอกพื้นที่ นายทุนขุดมันออกมา ทำไมไปกวนขึ้นมา สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านแบบนี้ ยืนยันว่า หากเกิดระเบิดลูกแรกเพื่อเปิดอุโมงค์เหมืองรอบสองเมื่อไหร่ เราจะสู้ให้ถึงที่สุด”

แสดงออกเชิงสัญลักษณ์เปลี่ยนสีโลโก้เอกชน พร้อมเผาเสื้อเหมืองโปแตช
ขณะที่การชุมนุม “เราจะบล็อค ก่อนบ้านจะบึ้ม” แสดงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเปลี่ยนโลโก้ของบริษัทบางจาก จากโลโก้สีเขียวเป็นสีเทา โดย จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวว่า ตอนนี้บางจากได้เปลี่ยนเป็นสีเขียวที่อาบไปด้วยสีเทา พร้อมกับเผาเสื้อของบริษัทไทยคาลิพร้อมการอ่านแถลงการณ์ของกลุ่ม โดย กมล ปราณีตพลกรัง นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด

สาระสำคัญของแถลงการณ์ ระบุว่า สิ่งที่ บริษัท ไทยคาลิ กระทำโดยให้รัฐวิสาหกิจจีนในนาม China Coal No.3 Mine Construction (Group) Corporation Limited หรือ CCMC ทำการขุดเจาะอุโมงค์ใหม่ด้วยสัญญาประเภท EPC+O หรือสัญญาประเภทออกแบบ จัดซื้อก่อสร้างและเดินระบบตลอดอายุประทานบัตร 30 ปี คือ การเลี่ยงความรับผิดชอบจากการทำเหมือง ซึ่งหากเกิดผลกระทบใด ๆ จากการทำเหมืองโดยอุโมงค์ใหม่ จะถือว่ามิใช่ภาระและความรับผิดชอบของ บริษัท ไทยคาลิ โดยตรงอีกต่อไป ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะต้องไปร้องเรียนเอากับ CCMC แทน
ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 19 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ในกรณีที่แหล่งแร่ใดมีศักยภาพในการพัฒนา แต่เทคโนโลยีที่จะใช้ในการทำเหมืองและมาตรการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนยังไม่เหมาะสม ให้สงวนแหล่งแร่นั้นไว้จนกว่าจะมีเทคโนโลยี และมาตรการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่เหมาะสม” นั่นแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้บริษัทที่เป็นผู้ขอประทานบัตรโดยตรงต้องใช้เทคโนโลยีและมาตรการป้องกันผลกระทบของตัวเอง แต่เนื่องจาก บริษัท ไทยคาลิ มิสามารถมีเทคโนโลยีและมาตรการป้องกันผลกระทบโดยตัวเองได้ ถ้าว่าตามพระราชบัญญัติแร่ดังกล่าวแล้วนั่นแสดงว่าเหมืองแห่งนี้ยังมีเทคโนโลยีและมาตรการที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น เหมืองโปแตชแห่งนี้ควรยุติการทำเหมือง แต่เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายและมิยอมยุติการทำเหมือง จึงได้ทำสัญญา EPC+O เพื่อโยนความรับผิดชอบทั้งหมดให้พ้นตัวเอง โดยให้ประชาชนไทยไปเผชิญปัญหากับบริษัทนอกประเทศไทย
โดย กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จึงมีข้อเรียกร้องต่อบริษัท ไทยคาลิ จำกัด, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และรัฐบาล ดังนี้
ส่วนของไทยคาลิ
1. ขอให้ชดใช้ความเสียหายต่อประชาชน สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองโปแตชโดยอุโมงค์เดิมให้เท่ากับความรุนแรงกับผลกระทบที่เกิดขึ้น
2. ขอให้กลับไปแก้ไขอุโมงค์เดิมที่อยู่ในเขตโรงงานที่ ต.หนองไทร เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิมหากประสงค์จะทำเหมืองต่อไป
3. หยุดการดำเนินการในการขุดเจาะอุโมงค์ใหม่ที่ดอนหนองโพ ในเขตพื้นที่ ต.หนองบัวตะเกียด โดยทันที
ส่วนของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ขอให้ถอนหุ้นทั้งหมดออกจากไทยคาลิโดยเร่งด่วน
ส่วนของรัฐบาล
1. ขอให้มีคำสั่งหยุดการใช้ระเบิดเพื่อขุดเจาะอุโมงค์ใหม่ที่ดอนหนองโพโดยเร่งด่วน และหยุดการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะอุโมงค์ใหม่ที่ดอนหนองโพโดยเร่งด่วน
2. ขอให้มีคำสั่งตรวจสอบและเอาผิดการถือหุ้นอำพรางในบริษัท ไชน่า โคล นัมเบอร์ 3 ไมน์นิ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท ไชน่า โคล นัมเบอร์ 3 คอนสตรัคชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ CCMC
“นี่ถือเป็นข้อเรียกร้องที่เหมาะสมและสมเหตุสมผลที่สุดแล้วสำหรับไทยคาลิ หากไม่หยุดการดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ใหม่ที่ดอนหนองโพ ถ้าระเบิดลูกแรกเข้ามาในพื้นที่เมื่อไหร่ พี่น้องกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดพร้อมที่จะทำการอารยะขัดขืนอย่างถึงที่สุด เพื่อยุติการทำเหมืองแร่โปแตชที่ด่านขุนทดให้จงได้ เพื่อที่ผู้คนที่นี่จะรอดพ้นจากผลกระทบที่ขยายตัวรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และเพื่อที่สังคมไทยจะปราศจากการดำเนินธุรกิจของจีนเทาที่กัดเซาะบ่อยทำลายสังคมเรารุนแรงขึ้นทุก ๆ วัน”