นายกฯ สั่งด่วนแก้มลพิษ ‘น้ำกก’ เล็งช่วยเมียนมา ปรับวิธีทำเหมือง หยุดสารปนเปื้อนลงแหล่งน้ำ

มอบ ‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ นั่งหัวโต๊ะ แก้ปัญหา เดินหน้าแผนบูรณาการลดการปนเปื้อนทุกมิติ เน้นเพิ่มความถี่ตรวจสอบน้ำ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ศึกษาความเป็นไปได้จัดการตะกอนปนเปื้อนในแม่น้ำ ขณะที่ กพร. เตรียมหาแนวทาง ช่วยเหลือเมียนมา ด้านการทำเหมืองที่ถูกต้อง ตามหลักวิชาการ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (20 พ.ค. 68) จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์พบสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก นายกรัฐมนตรีมีข้อห่วงใยให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชน ตั้งแต่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ซึ่งได้มุ่งประเด็นไปที่การทำเหมืองของประเทศเพื่อนบ้านเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา

นายกฯ ได้มอบหมายให้ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะกำกับ ดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาสั่งการให้ จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามและรายงานการจัดการแหล่งที่มาของปัญหา เจรจาหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อการหยุด หรือปรับปรุงวิธีการทำเหมือง ป้องกันการระบายสารปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ

จิรายุ บอกด้วยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานการณ์พบสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกกอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประชุมกับกรมกิจการชายแดนทหาร คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำแม่น้ำระหว่างประเทศ ลุ่มน้ำโขงเหนือ ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 68 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธาน สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA ได้จัดทำข้อมูลย้อนหลัง 8 ปี ตั้งแต่ 2560 – 2568 โดยใช้ดาวเทียม พบการเปิดหน้าดินในพื้นที่เมียนมาเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ในช่วงปี 2567 – 2568 และได้ใช้ดาวเทียมแปลผลข้อมูลความขุ่น (turbidity) พบมีความขุ่นเพิ่มมากขึ้นในบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยได้ส่งข้อมูลดังกล่าวให้กรมกิจการชายแดนทหาร และกรมควบคุมมลพิษดำเนินการต่อไปแล้ว

ส่องแผนบูรณาการแก้ปัญหาสารปนเปื้อน

พร้อมกันนี้ หลายหน่วยงานได้เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาความร่วมมือแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก ดังนี้

  1. ด้านการจัดการแหล่งที่มาของปัญหา กรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการจัดประชุมหารือเตรียมความพร้อมของข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อม และภาพถ่ายดาวเทียม ร่วมกับกรมกิจการชายแดนทหาร กรมเอเชียตะวันออก GISTDA และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่แล้ว เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 68 และมีข้อตกลงให้กรมควบคุมมลพิษ เป็นหน่วยงานหลักในการประมวลผลและสังเคราะห์ข้อมูล 1) การบ่งชี้ทางสิ่งแวดล้อม 2) ผลกระทบต่อสุขภาพและระบบนิเวศ และ 3) ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) พิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือเมียนมาด้านการทำเหมืองที่ถูกต้องตามหลักวิชาการหรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษจะหารือร่วมกับ GISTDA กรมอนามัย และ กพร. เพื่อจัดส่งข้อมูลภาพรวมให้กับกรมกิจการชายแดนทหาร และกรมเอเชียตะวันออกใช้ประกอบการเจรจา

  2. ด้านการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนในแหล่งน้ำและการบรรเทาผลกระทบ เน้นวิธีปฏิบัติในการป้องกันการแพร่กระจายของโลหะหนัก และการจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภค บริโภค และการประกอบอาชีพ ซึ่งหน่วยทหารช่าง มีแผนขุดลอกแม่น้ำกก ระยะทาง 3 กิโลเมตร บริเวณหมู่บ้านธนารักษ์ – สะพานย่องลี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย


    ขณะที่ กรมควบคุมมลพิษ อยู่ระหว่างการศึกษาพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดการตะกอนในแม่น้ำ อาทิ การปรับสภาพน้ำ ระบบตักตะกอน การเบี่ยงกระแสน้ำ สำหรับการประปาส่วนภูมิภาค ได้จัดเตรียมแผนการบริหารจัดการกรณีแหล่งน้ำผิวดินปนเปื้อนในระยะยาว

  3. ด้านการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มความถี่ในการเก็บตัวอย่างน้ำ และตะกอนดินในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และลำน้ำสาขา รวมถึงเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำ คุณภาพน้ำประปา ผลิตผลทางการเกษตร และสุขภาพของประชาชน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ จะดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในแม่น้ำกกและลำน้ำสาขา แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขงเพิ่มความถี่ในการเก็บตัวอย่าง เป็น 2 ครั้งต่อเดือน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กันยายน 2568


    ส่วนกรมประมง ได้เก็บตัวอย่างสัตว์น้ำไปตรวจสอบวิเคราะห์โลหะหนักแล้ว จำนวน 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 11, 28 เม.ย. 68 และวันที่ 2 พ.ค. 68 ผลการตรวจไม่เกินค่ามาตรฐาน ไม่พบแคดเมียมและตะกั่ว กรณีสัตว์น้ำมีตุ่มแดงเกิดจากปรสิต ในส่วนของกรมอนามัย ได้ทำการตรวจคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน และปัสสาวะของประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงรายในเดือนเม.ย. 68 ผลการเก็บน้ำประปา ไม่พบการปนเปื้อนสารหนู และตะกั่วไม่เกินมาตรฐาน และผลตรวจปัสสาวะไม่เกินมาตรฐาน ทางด้านการประปาส่วนภูมิภาค ได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำดิบที่ใช้ในการทำประปาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาล ในพื้นที่อำเภอแม่อาย 10 จุด ไม่พบสารหนูและตะกั่วเกินมาตรฐานฯ ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำ ได้ตรวจวัดคุณภาพน้ำแม่น้ำตก และแม่น้ำโขง (สถานีเชียงแสน) เดือนละ 2 ครั้ง มีการรายงานผลให้กับจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย

  4. ด้านการบริหารจัดการ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (ประเสริฐ จันทรรวงทอง) เป็นประธานอนุกรรมการ

เล็งหารือปมมลพิษปนเปื้อนน้ำกก-น้ำสาย ในการประชุม RBC 17 – 20 มิ.ย.นี้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้มีการติดตามต้นต่อของปัญหา และดำเนินการแก้ไข โดยในการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC) ณ เมืองเชียงตุง รัฐฉาน ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 17 – 20 มิ.ย. นี้ กรมกิจการชายแดนทหาร จะได้บรรจุปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในแม่น้ำกก – แม่น้ำสาย เป็นประเด็นหารือด้วย นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมเอเชียตะวันออก ได้ทำหนังสือจากสถานทูตไทยในเมียนมาและเชิญผู้แทนจากสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาต่อไป

รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์พบสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบ ติดตาม แก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน”

จิรายุ ห่วงทรัพย์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active