ชี้ข้อสั่งการ นายกฯ แก้ ‘น้ำกก’ เปื้อนพิษ ไม่มีอะไรใหม่! แนะเร่งคุยเมียนมา-จีน หาทางออก

นักวิชาการ เสนอ นายกฯ ควรตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ประสานหน่วยงาน ทั้งใน และต่างประเทศ ร่วมแก้ปัญหา ขณะที่ รองปลัด สธ. จับตา ‘สารหนู-ตะกั่ว’ ปนเปื้อน เดินหน้าตรวจสุขภาพ เฝ้าระวังห่วงโซ่อาหารต่อเนื่อง 4 เดือน

วันนี้ (21 พ.ค. 68) นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงสถานการณ์การปนเปื้อนของโลหะหนักในแหล่งน้ำสำคัญของจังหวัดเชียงราย ได้แก่ แม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง โดยอ้างอิงจากผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำผิวดินของสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 1 – 2 พฤษภาคม 2568 พบว่า มีการปนเปื้อนของ “สารหนู” และ “ตะกั่ว” เกินค่ามาตรฐานในหลายจุด ทั้งบริเวณบ้านแซว บ้านหัวฝาย สะพานมิตรภาพไทย–เมียนมา แห่งที่ 2 และบ้านป่าซางงาม

นอกจากนี้ ยังพบการปนเปื้อนในตะกอนดินของแม่น้ำกก และแม่น้ำโขง ในพื้นที่อำเภอแม่อาย และอำเภอเมืองเชียงราย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หากมีการบริโภคปลาน้ำจืดจากแหล่งน้ำเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ ที่อาจเกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาท อาทิ ชาปลายมือปลายเท้า ผิวหนังหนาหรือคล้ำผิดปกติ (อาการที่เรียกว่า “ไข้ดำ”) หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ

“กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยออกคำแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการบริโภคปลาน้ำจืดจากลำน้ำที่มีความเสี่ยง พร้อมเร่งตรวจสุขภาพประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่”

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกด้วยว่า ขณะนี้ ยังไม่พบผู้ป่วยที่แสดงอาการจากพิษสารหนูแบบเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาท กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค กรมอนามัย และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดตั้ง หน่วยแพทย์เฉพาะกิจ ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองสุขภาพและเฝ้าระวังการปนเปื้อนของโลหะหนักในระบบห่วงโซ่อาหาร เป็นระยะเวลา 4 เดือน

ในส่วนของน้ำประปา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ได้วางแผนสุ่มตรวจน้ำใช้ในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้แม่น้ำกกตลอดสาย โดยจะเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1-1 เชียงราย ไปจนถึงเดือนกันยายนนี้

พร้อมกันนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายยังเร่งเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนเกี่ยวกับวิธีการล้างผักผลไม้ให้ปลอดภัยจากสารตกค้าง โดยปฏิบัติตามข้อแนะนำของผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนี้

  1. ล้างด้วยน้ำไหล: แช่ผักในน้ำสะอาด 15 นาที แล้วเปิดน้ำไหลผ่าน คลี่ใบผักและถูเบาๆ ประมาณ 2 นาที

  2. แช่น้ำส้มสายชู: ใช้น้ำส้มสายชู 5% ผสมในอัตรา 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ผักผลไม้ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด

  3. แช่ในเบกกิ้งโซดา: ใช้อัตราส่วนครึ่งช้อนโต๊ะต่อน้ำ 10 ลิตร แช่ไว้ 15 นาทีแล้วล้างออก

“วิธีการเหล่านี้จะช่วยลดสารพิษตกค้างจากยาฆ่าแมลง รวมถึงลดความเสี่ยงจากเชื้อโรคและโลหะหนักอย่างสารหนูได้ในระดับหนึ่ง”

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ชี้แผนรับมือมลพิษปนเปื้อนแม่น้ำกก ของนายกฯ ไม่มีอะไรใหม่

ขณะที่ สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ให้ความเห็นกรณีการออกข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำกก ว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกปกติ นายกฯ ไม่ได้ริเริ่มอะไรใหม่ ข้อสั่งการทั้งหมดคือสิ่งที่หน่วยงานราชการประจำทำอยู่แล้ว

สืบสกุล ยังระบุว่า แผนการทั้งหมดของหน่วยงานรัฐที่เปิดเผยออกมา เป็นผลจากการประชุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ซึ่งมี ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมถึง 17 หน่วยงาน และได้กำหนดแนวทางรับมือปัญหาการปนเปื้อนในแม่น้ำกกไว้ 6 แนวทาง ได้แก่

  1. ใช้กลไกความร่วมมือทางการทูตและการทหาร กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดภายนอกประเทศ

  2. ใช้กลไกลุ่มน้ำโขงเหนือบริหารจัดการน้ำ เพื่อรักษาระบบนิเวศและเพิ่มน้ำต้นทุนสู่แม่น้ำกก

  3. ใช้นวัตกรรมดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ติดตามและระบุแหล่งต้นเหตุของปัญหา

  4. สื่อสารสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อลดความตื่นตระหนก

  5. ติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ สัตว์น้ำ และการสะสมในมนุษย์อย่างต่อเนื่อง

  6. จัดทำแนวทางลดผลกระทบจากเหมือง และประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ

พร้อมทั้งยังเสนอว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีควรดำเนินการเพิ่มเติมในขณะนี้มีอย่างน้อย 2 ข้อคือ 

  1. ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

  2. เชิญผู้แทนประเทศเมียนมาและจีน ที่ประจำอยู่ในประเทศไทย เพื่อรับทราบปัญหา ผลกระทบ และร่วมกันหาทางออก

“วิกฤตครั้งนี้เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน การจัดตั้งกลไกเฉพาะกิจและการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านจึงเป็นสิ่งจำเป็น”

สืบสกุล กิจนุกร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active