“มาแลกกัน” ดนตรีชาติพันธุ์ผสมผสานวงออร์เคสตรา ในสวนกลางกรุง

จากปรากฏการณ์ข้าวแลกปลา ชาวเลชาวดอยสู้ภัยโควิด-19 เมื่อปี 2563 แรงบันดาลใจในการเล่าเรื่องการอยู่ร่วมกันผ่าน “ดนตรีชาติพันธุ์ในสวน” ด้วยการผสมผสานกับวง “นิมมาน สตรีท ออร์เคสตรา” ที่สวนลุมพินี 7 ส.ค. นี้

ชาติพันธุ์

บฤงคพ วรอุไร อาจารย์ประจำภาควิชาดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ ในฐานะผู้ควบคุมวง ‘นิมมาน สตรีท ออร์เคสตรา’ เปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่นำดนตรีพื้นบ้านจากชาติพันธุ์บนดอย คือ ลีซู ดาราอาง ปกาเกอะญอ รังสรรค์กับเพลงของชาวเล และผสมผสานกับวงออร์เคสตรา เป็น “ดนตรีชาติพันธุ์ในสวน”

“แรงบันดาลใจในการเล่าเรื่องผ่านเพลง คือ ปรากฏการณ์ข้าวแลกปลาของพี่น้องชาติพันธุ์บนดอยสูงกับพี่น้องชาวเล หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต ความทุกข์ร้อนร่วมกันช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้พวกเขากลับไปสู่สายพานระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกครั้ง”

บฤงคพ วรอุไร

บฤงคพ ขยายความพิเศษของการ “แลกกันผ่านดนตรี” นี้อีกว่า ธรรมชาติของดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีชนเผ่าจะมีความยืดหยุ่น ด้นสดไปตามสถานการณ์และบริบทอารมณ์ความรู้สึกของผู้เล่น ขณะที่วงออร์เคสตราเป็นการเล่นดนตรีที่มีโครงสร้างของโน้ตชัดเจน เพราะต้องขับเคลื่อนด้วยเครื่องดนตรีและผู้คนจำนวนมากไปพร้อมกัน 

โดย ‘นิมมาน สตรีท ออร์เคสตรา’ (Nimman Street Orchestra) มีทั้งเครื่องดนตรีที่เป็นล้านนา เครื่องดนตรีสากล และเครื่องดนตรีไทยผสมกัน ดนตรีชาติพันธุ์ในสวนครั้งนี้ จึงเป็นการมาเจอกันระหว่างทางของท่วงทำนองดนตรีที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงให้มีสุนทรียรส เพื่อให้คนเมือง คนกรุงเทพฯ และพี่น้องแรงงานชาติพันธุ์ที่เข้ามาทำงานในมหานครผ่อนคลาย และกลับไปสู่บรรยากาศของการอยู่ร่วมกัน การโอบอุ้มระหว่างกัน

ขณะที่ ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศูนย์การจัดการภูมิวัฒนธรรม วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการข้าวแลกปลา และมีส่วนอย่างสำคัญให้เกิดปรากฏการณ์แลกกันทางดนตรีครั้งนี้ แสดงเจตนารมณ์ “เราจะนำเสนอสีสันทื่เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ และสีสันอันหลากหลายของดนตรี เพื่อสะท้อนการอยู่ร่วมกันในสังคมแบบพหุวัฒนธรรม เป็นเพลงเดียวกัน ท่วงทำนองเดียวกัน จังหวะเดียวกัน บรรเลงด้วยกัน ในพื้นที่เดียวกัน ดังนั้น ทำไมสังคมมนุษย์จะแบ่งปันพื้นที่ในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมไม่ได้”  

มากกว่านั้น ยังมีบทเพลงที่สื่อสารถึงเรื่องของสถานการณ์ปัญหาที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญอยู่ว่าต้องการแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง เป็นทั้งคอนเซปต์ดนตรีและเนื้อหาควบคู่กันไป แต่ทั้งหมด ต้องการสื่อสารให้เห็นว่า ‘เราคือคนในสังคมเดียวกัน’ ไม่ว่าจะอยู่เมืองเล็กเมืองใหญ่ก็ตาม

สำหรับ ดนตรีในสวน ตอน “ดนตรีชาติพันธุ์” เป็นความร่วมมือกันระหว่าง สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชผ.) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กรุงเทพมหานคร และศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ “The Active” และ Thai PBS เนื่องในวาระ “วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2565” จัดขึ้น ณ ศาลาภิรมย์ภักดี สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร วันที่ 7 สิงหาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 16.00 – 19.00 น. 

นอกจากการแสดงข้างต้น ยังมีการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาทิ วงคลีโพ, เสียงสาละวิน และรำตง จากหมู่บ้านคลิตี้ล่าง จ.กาญจนบุรี รวมทั้งกิจกรรมชิมอาหาร 10 เมนูชาติพันธุ์จากเชฟชนเผ่าไททรงดำ มอญ ญัฮกูร โซ่ทวึง อูรักลาโว้ย มอแกลน ไทใหญ่ กะแย ปะโอ ลีซู ปกาเกอะญอ ปะทะอาหารชาติพันธุ์ฟิวชั่นจากเชฟมิชลินสตาร์ “เชฟโบ” – “ดวงพร ทรงวิศวะ” ด้วย

สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมอื่น ๆ ได้ที่ https://bit.ly/3brD77g

ดูเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ได้ทาง https://theactive.net/topic/indigenous/

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active