‘ศิลปินภูธร’ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ สร้างเครือข่ายศิลปินภูธร หวังลดการกระจุกทางโอกาส เปิดพื้นที่แสดงออกบอกเล่าความหลากหลาย รื้อถอนความเป็นศูนย์กลางนิยมสังคมศิลปะในไทย ผอ.สศร. ยอมรับ ศิลปินมีความตั้งใจ แต่งบฯ และการจัดการของรัฐยังมีข้อจำกัด
วันนี้ (18 ก.ย. 2566) เครือข่ายการดำเนินงานศิลปะแบบกระจายอำนาจ (Pootorn Connect) รวบรวมผลงานศิลปะของเครือข่ายศิลปินภูธรจากภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศไทยมาจัดแสดงภายใต้นิทรรศการ OPEN WORD เปิดคำ ‘ภูธรคอนเนค’ เพื่อแสดงจุดยืนต่อการสร้างความร่วมมือในการเปิดพื้นที่ทางศิลปะบนพื้นที่ภูธร และรื้อถอนความเป็นศูนย์กลางนิยมของสังคมศิลปะ
เครือข่ายการดำเนินงานศิลปะแบบกระจายอำนาจ ระบุว่า ในโลกแห่งความหลากหลาย การกำหนดเอกภาพ หรือความเป็นหนึ่งเดียว ด้วยการใช้อำนาจแบบรวมศูนย์ กลับเป็นการสร้างสภาวะการไหลรวม ค่อย ๆ ทำลายอัตลักษณ์เฉพาะของผู้คน ชาติพันธุ์ ชุมชน วัฒนธรรม และโดยเฉพาะศิลปะ ที่ซึ่งความแตกต่างหลากหลาย ควรกลายเป็นหลักสำคัญที่ทำให้ศิลปะเป็นการสร้างสรรค์ของมนุษย์อย่างแท้จริง การกำหนดให้รูปแบบ ทฤษฎี หรือสุนทรียศาสตร์ แบบใดแบบหนึ่ง รวมถึงอุปสงค์-อุปทานแบบทุนนิยม มาเป็นตัวกำหนดชี้วัดความเป็นศิลปะ ซึ่งอาจทำให้อิสระเสรีของการแสดงออกทางศิลปะสิ้นสุดลงด้วยข้อจำกัดเหล่านี้
“เนื่องจากองค์กร มูลนิธิ สถาบัน หน่วยงาน ด้านศิลปะ ทั้งทางภาครัฐและเอกชนที่สำคัญ ต่างก็กระจุกการบริหารจัดการจากศูนย์กลาง วัฒนธรรมของการดำเนินกิจกรรมทางศิลปะ แหล่งทุน รวมถึงโอกาสต่าง ๆ จึงไม่ถูกกระจายไปยังภูมิภาคหรือท้องถิ่นอื่น ๆ เท่าที่ควร ในขณะที่องค์กรทางศิลปะของรัฐจะพยายามกระจายอำนาจโดยการก่อตั้งองค์กรศิลปะในส่วนท้องถิ่นขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง เพราะก็ยังต้องมีการบริหารจัดการและการตัดสินใจจากศูนย์กลาง และกลุ่มคนที่ยังผูกขาดการเข้าถึงแหล่งโอกาสต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อโอกาสของศิลปินท้องถิ่น ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญด้านศิลปะ ที่พวกเขาเหล่านั้นพยายามส่งเสียงแห่งมาตุภูมิของพวกเขาออกไป แต่ด้วยโครงสร้างทางสังคมแบบรวมศูนย์ที่กล่าวมา ทำให้เสียงเหล่านั้นเบาเกินกว่าที่คนส่วนใหญ่จะได้ยิน การรับรู้ถึงตัวตนของการมีอยู่ทั้งด้านพื้นที่และบุคคล การถูกยอมรับ การแก้ไขปัญหา และโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานทางศิลปะจึงหล่นหายไปด้วย”
สำหรับการเกิดขึ้นของ ภูธรคอนเนค เพื่อให้เกิดเครือข่ายการดำเนินงานศิลปะแบบกระจายอำนาจ จากความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายศิลปินภูธรในประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยน แบ่งปัน เรื่องราว ข่าวสาร ประสบการณ์ ข้อมูล องค์ความรู้ วัฒนธรรม โอกาส และการดำเนินกิจกรรมทางศิลปะร่วมกันระหว่างศิลปินท้องถิ่นที่อยู่นอกเมืองหลวง ซึ่งเป็นการลดการกระจุกทางโอกาส เปิดพื้นที่การแสดงออกในท้องถิ่นที่หลากหลาย ส่งเสริมการเข้าถึงฐานการรับรู้ของผู้คนที่แตกต่าง สร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อสังคมศิลปะในประเทศไทยให้มีฐานราก เติบโตกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค และเป็นการผลักดันให้ศิลปะเป็นสิ่งสามัญสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
โดยจะมีงานเปิดนิทรรศการ OPEN WORD พร้อมเหล่าศิลปินภูธรกว่า 25 ชีวิต ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. – 30 พ.ย. 2566 ที่ Kai Kaew Lamphun จ.ลำพูน
ศิลปินมีความตั้งใจ แต่งบประมาณและการบริหารจัดการของรัฐยังมีข้อจำกัด
ก่อนหน้านี้ The Active สัมภาษณ์ ประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม เกี่ยวกับการกระจายหอศิลป์สู่ภูมิภาค ประสพ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของหอศิลป์และแกลเลอรีแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน หลายแห่งเกิดจากศิลปินที่มีศักยภาพและหลายแห่งก็เกิดจากศิลปินที่มีความตั้งใจ แต่เพียงขาดแหล่งทุน ขาดโอกาส และขาดพื้นที่ เนื่องจากการทำงานหอศิลป์เป็นเหมือนธุรกิจอย่างหนึ่ง แต่เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งไม่เน้นเรื่องของกำไรและการค้า หากเกิดดำเนินการไประยะหนึ่งแล้วขาดการสนับสนุน ขาดแหล่งทุน ขาดการบริหารจัดการ อาจจะมีโอกาสปิดตัวลงได้
“ฉะนั้นต้องบอกว่ามีเพียงความตั้งใจอย่างเดียวไม่ได้ อาจจะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เราพบว่าความตั้งใจของศิลปินมีอยู่เยอะ แต่ด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดของงบประมาณหรือการบริหารจัดการก็เป็นปัญหาที่จะทำให้ความตั้งใจนั้นมีอุปสรรค”
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ สศร. ยังกล่าวว่า ศิลปะถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา เห็นด้วยว่าจะต้องสร้างเครือข่ายศิลปินในภูมิภาค แต่ต้องทำด้วยความพอดี เพราะในสังคมไทยเป็นสังคมที่อ่อนไหวง่าย โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อและการเมือง
“ผมไม่อยากใช้คำว่ามันต้องมีกรอบ แต่ควรมีความพอดีในการนำเสนอดีกว่า เพราะบริบทเราไม่เหมือนตะวันตก ไม่เหมือนอเมริกาที่เขามีอิสระมากกว่า กรอบกฎหมายค่อนข้างจะเปิดกว้าง สังคมไทยก็จะมีเรื่องของความดราม่าและแบ่งฝ่าย เราไม่อยากให้เกิดแบบนั้น”