ศาลปกครองสูงสุด ยกคำสั่งแบน หนัง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’

ให้กองเซ็นเซอร์ชดใช้ค่าเสียหาย ขณะที่ คกก.ซอฟต์พาวเวอร์ เล็ง แก้ไขกฎกระทรวงจัดเรตติ้ง เหลือห้ามฉายหนังมีเนื้อหากระทบสถาบันฯ

วันนี้ (20 ก.พ.67) มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก Manit Sriwanichpoom ระบุว่า

“วันแห่งชัยชนะ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา​ให้ผู้สร้างหนังเชคสเปียร์​ต้องตาย ชนะคดีละเมิด ยกคำสั่งแบน​ และให้คณะกรรมการเซ็นเซอร์​ชดใช้ค่าเสียหาย จบการต่อสู้​เพื่อสิทธิและเสรีภาพ​คนทำหนังไทยที่ยาวนานกว่า​ 11​ ปี นี่คือประวัติศาสตร์​หน้าหนึ่งของหนังไทย ขอขอบคุณ​ทุกคนที่ร่วมมาในกระบวนการต่อสู้ครั้งนี้​ รวมทั้งกำลังใจที่ส่งมาให้ส่วนโปรแกรมการฉายจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง”

สำหรับภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) กำกับโดย สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ อำนวยการสร้างโดย มานิต ศรีวานิชภูมิ เป็นภาพยนตร์แปลและดัดแปลง มาจากบทประพันธ์ เรื่อง The Tragedy of Macbeth หรือ โศกนาฏกรรมของ เมคแบธ ของวิลเลียม เชกสเปียร์ ได้ทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยในภาพยนตร์ มีการใช้ภาพเหตุการณ์อิงจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

โดยในวันที่ 3 เมษายน 2555 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ได้มีคำสั่งห้ามฉาย ด้วยเหตุผล ระบุว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจก่อให้เกิดความแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติ ผู้สร้างจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคำสั่งห้ามฉาย

กฎกระทรวงฯ จัดเรตติ้ง – ห้ามฉายหนังเฉพาะที่มีเนื้อหากระทบต่อสถาบันฯ

ก่อนหน้านี้ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ นั่งหัวโต๊ะการประชุมคณะกรรมการการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ครั้งที่ 1/2567 และได้แถลงข่าว 3 ประเด็นหลักคือ 1. การแก้ไขกฎกระทรวงและ ประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551, การตั้ง One Stop Service และ ความคืบหน้าการยกร่าง พ.ร.บ. THACCHA

โดยในส่วนการแก้ไขกฎกระทรวงและประกาศที่ออกตามความใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงระหว่างรอการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน

สำหรับการแก้ไขกฎกระทรวงที่มาของจัดประเภทเรทของภาพยนตร์ ระบุว่า จะแก้ไขในส่วนของภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในประเทศไทย โดยภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในประเทศไทยจะเหลือเพียงข้อกำหนดเดียว คือ เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ส่วนประเด็นอื่น ๆ เรื่องศาสนา, ความมั่นคง รวมถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ จะถูกจัดอยู่ในเรทผู้ชมที่เหมาะสมแทนการห้ามฉาย โดยกระบวนการแก้กฎกระทรวงนี้ ยังอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และคาดว่าการแก้ไขจะเสร็จสิ้นในช่วงกลางปีนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active