หวั่นสื่อเทียบ ‘น้องใบบุญ – น้องไนซ์’ เปิดช่องสังคมโจมตี ขัดสิทธิเด็ก

นักวิชาการด้านสื่อ กังวล ผู้ใหญ่ยุคนี้เห็นเด็กเป็น ‘คอนเทนต์’ อาจสร้างแผลใจให้เด็ก ความเป็นส่วนตัวเด็กถูกทำลาย ย้ำสื่อต้องคุ้มครองเด็ก ผู้ใหญ่ต้องเท่าทันสื่อ

จากกระแสสื่อมวลชนนำ 2 เยาวชน คือ ’น้องใบบุญ-น้องไนซ์‘ มาเปรียบเทียบกัน พร้อมตั้งคำถามชวนให้สังคมเข้ามาแสดงความเห็นว่า ใครดีกว่ากัน จนเกิดความคิดเห็นทั้งชื่นชน และด่าทอในหลายแพลตฟอร์มออนไลน์ สร้างความเสียหายให้กับเยาวชนและครอบครัว นอกจากนี้ สื่อยังผลิตซ้ำภาพนิ่ง – วิดีโอของเด็ก ที่มีพฤติกรรมส่อให้เกิดความเกลียดชังในสังคม

จากกรณีที่เกิดขึ้น The Active พูดคุยกับ ผศ.อัญรินทร์ อมรอิสริยาชัย อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า จากกรณีดังกล่าวเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว เป็นเรื่องศาสนาที่คนในสังคมมีอารมณ์ร่วม ทำให้เมื่อมีการถ่ายทอดเนื้อหาออกไป คนก็มักต้องการแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน ทั้งชื่นชมและด่าทอ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมิติของความเชื่อ ความศรัทธาของผู้คน นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก

ผศ.อัญรินทร์ อมรอิสริยาชัย

ผศ.อัญรินทร์ กังวลว่า สังคมไทยเคยมีบทเรียนเช่นนี้แล้วในอดีต เช่น รายการโทรทัศน์ เกมโชว์การแข่งขันต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะนำเสนอในมิติเดียว คือในเชิงของทักษะความสามารถพิเศษของเด็ก ทำให้ปฏิกิริยาของผู้คนมักจะเป็นในลักษณะชื่นชม เพราะรู้สึกว่าเด็กมีพรสวรรค์ แต่ในยุคนี้ไม่ได้มีเพียงโทรทัศน์ ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ เมื่อคนกล้าที่จะถ่ายทอด ผู้คนภายนอกก็กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นกลับมาด้วยเช่นเดียวกัน โดยไม่ได้ยั้งคิดว่าบุคคลในสื่อนั้นเป็นเยาวชนที่ไม่มีเกราะกำบังใด ๆ หรือไม่

นี่เป็นความรับผิดชอบของ ‘พวกเราทุกคน’ เพราะเนื้อหาในสังคมออนไลน์ ก็ล้วนมาจากพฤติกรรมในการเสพสื่อของคนในสังคมเมื่อไรก็ตามที่คนเสพ ‘ดรามา’ เรื่องใดแล้วรู้สึกสนุก เนื้อหาทำนองนั้นก็จะคอยขึ้นมาบนฟีด และกระตุ้นเร้าให้เราอยากเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น สิ่งที่เราทุกคนมีส่วนทำได้ คือการสร้าง ‘ความรู้เท่าทัน’ (Media Literacy) ของตัวเอง ว่า เมื่อไรก็ตามที่เราเห็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ไม่สร้างสรรค์ ก็แค่ ‘ไม่เข้าไปยุ่ง – ไม่เข้าไปดู’ ก็น่าจะทำให้อัลกอริทึมลดระดับการส่งเนื้อหาลักษณะนี้มาให้

ในมุมของ ‘สื่อสารมวลชน’ ผศ.อัญรินทร์ ย้ำว่า สื่อเองก็จะต้องระมัดระวังมากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะสื่อสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเนื้อหาได้มากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว การหยิบเอาเรื่องเหล่านี้ออกมาพูดหรือใส่ความคิดเห็นเข้าไปเพิ่มเติม ก็มีโอกาสที่จะชักนำสังคม ทำให้ผู้คนที่ติดตามเกิดอคติกับประเด็นเหล่านั้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเนื้อหาเกี่ยวกับเด็ก สื่อต้องคุ้มครองสิทธิเด็ก ปกป้องความเป็นส่วนตัว ไม่ใช่สุมไฟให้สังคม เกิดการแสดงความเห็นเชิงลบมากขึ้น

“เข้าใจว่าคนทำสื่อก็อยากได้ Engagement สูง ๆ ก็ไปเลือกเรื่องที่มันกระทบกับอารมณ์ ความรู้สึก หรือเกี่ยวข้องกับความเชื่อของผู้คน แต่ถ้าเราจะแข่งขันกันด้วยเรื่องแบบนี้ อาจต้องมองว่า เราจะนำพาสังคมไปอยู่ในจุดไหน? ความเปราะบางของเนื้อหาเหล่านี้ มันก็ทิ้งร่องรอยความบอบช้ำให้กับผู้คนที่อยู่ในข่าวเหมือนกัน”

ผศ.อัญรินทร์ อมรอิสริยาชัย

ขณะที่พ่อแม่เอง ก็ต้องระวังการสื่อสารในโซเชียล ภาพที่ไม่พึงประสงค์ของลูกอาจเป็นประตูนำไปสู่การโจมตีหรือเป็น Digital Footprint ของตัวลูกเอง ให้รู้สึกอับอายเมื่อเติบโตขึ้น เข้าใจว่าพ่อแม่อยากบันทึกพัฒนาการของลูกน้อย แต่ต้องคัดกรองให้ถี่ถ้วน หรือควรถามลูกก่อนว่ายินดีไหม เพื่อสอนให้เด็กเข้าใจในคอนเซปต์ของ ‘การยินยอม’ (Consent) ด้วย อย่าตกเป็นทาสเอ็นเกนเมนต์เพราะลูกน้อยไม่ใช่คอนเทนต์ของพ่อแม่

สิ่งที่น่ากังวลไปกว่านั้น คือเนื้อหาที่สื่อสารด้วย ‘ตัวเด็กเอง’ ผศ.อัญรินทร์ ระบุว่า เห็นได้ชัดว่าน่าจะเกิดจากพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ ไม่ว่าจะเป็นคลิปท่าเต้น คำพูด ซึ่งเด็กอาจเรียนรู้และเข้าใจไปว่าการทำคอนเทนต์ลักษณะนี้จะทำให้คนชอบเขา เพราะผลลัพธ์ที่เขาคาดหวังคือต้องการให้คนชอบ จึงเป็นเรื่องน่ากังวลเมื่อการใช้พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์เริ่มบิดเบี้ยวไปเช่นนี้

หลายเนื้อหาที่เด็กถ่ายทอดออกไป ก็จะเป็นเนื้อหาที่เด็กอาจเข้าใจผิดว่า แบบนี้แหละฉันจะได้รับการยอมรับ ชื่นชม ซึ่งเขาไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่จะมีประสบการณ์มากพอที่จะรู้ว่า เราสามารถได้การชื่นชมจากพฤติกรรมในเชิงสร้างสรรค์ ในทางกลับกัน เราเองก็ชอบวิ่งตามเทรนด์ และยิ่งเราวิ่งตาม อัลกอริทึมก็ยิ่งทำงาน หากเราไม่ทำลายวงจรแบบนี้ คิดว่าอนาคตมันอาจจะลากสังคมเราไปในจุดที่ไม่น่ามองได้”

ผศ.อัญรินทร์ อมรอิสริยาชัย

อันดับแรกผู้ใช้สังคมออนไลน์ต้องรู้เท่าทัน เมื่อไรก็ตามที่เห็นเนื้อหาไม่เหมาะสม มีสิทธิที่จะ ‘เลื่อนผ่าน’ ไปเลยได้ โดยที่ไปต้องไปมีปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการด่าทอหรือตำหนิ พ่อแม่เองต้องเป็นคนปกป้องลูก อย่าปล่อยให้ลูกเปลือยเปล่าบนสื่อออนไลน์ ในทางกลับกันต้องแนะลูกให้รู้จักปฏิเสธด้วย หากมีใครจะเข้ามาถ่ายรูปหรือรุกล้ำความเป็นส่วนตัว และท้ายที่สุด สื่อมวลชนควรตระหนักได้แล้วว่าตัวเองมีอำนาจชี้นำสังคมมากแค่ไหน ย้ำว่าสื่อต้องคุ้มครองสิทธิเด็กและคุ้มครองความเป็นส่วนตัว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active