เสนอ สธ.ประกาศเฉพาะ “ช่อดอกกัญชา” ขึ้นยาเสพติดประเภท 5

เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ห่วงช่วง 4 เดือนไร้กฎหมายคุมกัญชา ชี้ออกประกาศยิบย่อยแก้ปัญหาปลายเหตุ ด้าน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หนุนร้านอาหารติดป้ายหน้าร้าน 

ในช่วง “กัญชาเสรี” ที่อยู่ในภาวะสุญญากาศ นำมาสู่การทยอยออกประกาศต่าง ๆ เพื่อควบคุมช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะ ทั้ง เขตปลอดกัญชา ในโรงเรียน โรงพยาบาล  เริ่มตั้งแต่ ประกาศกรมอนามัย เรื่องการนำกัญชามาใช้ประกอบอาหารกำหนดให้ใช้เพียง 1-2 ใบสดเท่านั้น เป็นประกาศฉบับแรกที่ออกมาเมื่อ 30 มี.ค. 2565 ตอบรับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมและพัฒนากัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ 

ถัดมาภายหลังการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด มีผล 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการออก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกลิ่นควันกัญชาที่เป็นเหตุรำคาญผิดกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข  ตามมาด้วย ประกาศกรุงเทพมหานคร นำร่อง ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครกว่า 400 แห่งเป็นพื้นที่ปลอดกัญชา ขณะที่ กระทรวงศึกษาธิการ  ประกาศให้โรงเรียนทั่วประเทศ เป็นพื้นที่ปลอดกัญชาเช่นเดียวกัน

ล่าสุดประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุมกัญชา อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครอง และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยห้ามใช้ในผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ หรือให้นมบุตร มีผลบังคับใช้ โทษจำคุก 1 ปีปรับ20,000 บาท มีผลวันนี้ (17 มิ.ย. 2565) 

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health ประเทศ แคนาดา ในฐานะเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด มองว่าประกาศดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะควบคุมการใช้กัญชาได้ เพราะไม่มีบทบาทในการควบคุมตั้งแต่ต้นทางคือต้นกัญชา จึงมีข้อเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศเฉพาะส่วนดอกกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 โดยกระทรวงสาธารณสุขมีเหตุผลเพียงพอเนื่องจากพบประชาชนไม่ได้ใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างที่ควรจะเป็น ก็ควรจะกำหนดช่อดอกเป็นยาเสพติด แต่ยังสามารถนำใบและรากไปทำยาได้ แล้วยังขออนุญาตตามกฎหมาย ใช้ช่อดอกเพื่อนำไปยาได้ หลักการคือต้องคุมส่วนใหญ่แล้วปล่อยส่วนน้อย 

“ถ้าเราคุมส่วนน้อย ปล่อยส่วนใหญ่ ปลดกัญชาทั้งต้นไม่ผิดกฎหมาย แล้วค่อยมาห้ามเรื่องควัน ห้ามอายุครอบครอง ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ”

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health, Canada

สำหรับ เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด คัดค้านการนำกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดมาตั้งแต่วงประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย เป็นประธาน เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เปิดเผยกับ The Active ว่าในที่ประชุมวันนั้น ก็แสดงความเป็นห่วงเรื่องเงื่อนเวลาในการปลดล็อค 120 วัน ขณะที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ทักทวงว่าควรจะยืดเวลาออกไปเป็น 180 วันเพื่อให้ทันต่อกันการทำกฎหมายออกควบคุม แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ยืนยันในห้วงเวลาเดิม และในความเป็นจริงร่างพระราชบัญญัติกัญชาฯ ก็เพิ่งผ่านสภาฯ วาระแรกในวันที่ 8 มิ.ย. เพียงหนึ่งวันก่อนที่กัญชาจะถูกปลดล็อคออกจากบัญชียาเสพติด จึงทำให้เกิดช่วงสุญญากาศดังกล่าว 

ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ประกาศที่มีอยู่นั้นสามารถที่จะควบคุมการใช้กัญชาเฉพาะทางการแพทย์ได้ โดยไม่ให้ใช้ในเชิงสันทนาการ แต่สวนทางกับความเห็นของนักวิชาการที่มองว่า ในขณะนี้ไม่สามารถควบคุมการใช้กัญชาได้อีกต่อไปแล้ว

“ความเป็นยาเสพติดของพืชกัญชงกัญชา มันหมดไปแล้ว ยกเว้นส่วนที่เป็นสารสกัดตัวต้น ช่อดอก ราก ไม่เป็นยาเสพอีกต่อไปแล้ว แต่สารสกัดที่มีค่า THC เกิน0.2% ของน้ำหนักรวมเท่านั้นจึงเป็นยาเสพติด”

อนุทิน ชาญวีรกูล
ช่อดอกกัญชา มีสาร THC สูงและมักใช้เพื่อสันทนาการ

นักวิชาการ ประเมินว่า เราอาจต้องอยู่ในภาวะสุญญากาศทางกฎหมาย กัญชาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 4 เดือน ภายหลังจากที่ ร่างพระราชบัญญัติกัญชา ของพรรคภูมิใจไทยได้รับการพิจารณาผ่านวาระแรกในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยในช่วงเวลานี้อาจเกิดผลกระทบที่เรียกว่า exponential หรือสภาวะทวีคูณ เพราะหลังจากเริ่มปลดล็อคกัญชาวันแรก ก็พบผู้ใช้เกินขนาด และมีผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้ยังมี คำถามจาก ชมรมแพทย์ชนบท ว่า ร้านอาหาร-น้ำดื่มตามร้านสะดวกซื้อ หรือ กระทั่งตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ จะคัดกรองอย่างไรว่า ผู้ซื้ออายุเกิน 20 หรือไม่ หากพบผู้กระทำผิดจะมีบทลงโทษหรือไม่ เพราะไม่ได้มีกำหนดไว้ในประกาศ พร้อมตั้งคำถามว่า เป็นเพียงประกาศร้อนที่ออกมาลดกระแสนโยบายกัญชาเสรีหรือไม่ 

“ยิ่งออกกฏระเบียบเพิ่มขึ้นมาก็ยิ่งยุ่ง การใช้คำว่า นโยบายกัญชาเสรี นี่แหละต้นเหตุ ถ้าประกาศชัดว่า เป็น นโยบายกัญชาทางการแพทย์น่าจะไม่ยุ่งอิรุงตุงนังเท่านี้”

ชมรมแพทย์ชนบท ระบุ

ด้าน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้สร้างแคมเปญรณรงค์ให้ ร้านอาหาร เจ้าของผลิตภัณฑ์ ติดฉลาก หรือแขวนป้ายหน้าร้านบอกผู้บริโภคกันไปเลย ว่าผลิตภัณฑ์ หรือ อาหารที่ขายอยู่นั้นมีส่วนประกอบของกัญชาหรือไม่

ส่วนผู้ประกอบการ ร้านอาหาร ที่ไม่มีกัญชา ก็ติดป้ายประกาศหน้าร้าน บอกกันให้ชัด ๆ ไปเลยว่า “ร้านนี้ไม่มีกัญชา” เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน และยังช่วยลดผลกระทบสำหรับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS