เตรียมพร้อม! อบจ. รับถ่ายโอน รพ.สต.

สธ. ย้ำ ไม่ทอดทิ้งท้องถิ่น ’15 หน่วยงาน’ ผนึกกำลัง พัฒนาระบบบริการสุขภาพ สร้างการมีส่วนร่วมระดับพื้นที่ สสส. เตรียมงบฯ ร่วมทุนสร้างสุขภาพ ที่มากกว่าการรักษา

เมื่อวันที่ 19 – 21 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย รวม 15 องค์กร ร่วมกันจัดการอบรมหลักสูตร “การจัดการระบบสุขภาพท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม” เพื่อพัฒนาศักยภาพกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รองรับการถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยมีตัวแทนผู้ที่รับผิดชอบภารกิจถ่ายโอน รพ.สต. จากทั้ง 76 อบจ.ทั่วประเทศ เข้าร่วมการอบรม เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรกองสาธารณสุข อบจ. ให้มีความรู้ ความเข้าใจ แนวคิด ทฤษฎีระบบสุขภาพแบบองค์รวม สู่การจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วม

สธ. ย้ำ ถ่ายโอนไปแล้ว ยังสนับสนุน อบจ. ทั้ง งาน – เงิน – คน

นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า บทบาทของ รพ.สต. ถ่ายโอนให้ อบจ. นับเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในระดับจังหวัดที่สำคัญ และเป็นเรื่องของทุกคนในพื้นที่ จึงต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยมี อบจ. เป็นเจ้าภาพในการประสานความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งหลักสูตรและจัดอบรมวันนี้ มีขึ้นเพื่อมุ่งหมายให้บุคลากรด้านสุขภาพของ อบจ. เข้าใจระบบสุขภาพแบบองค์รวม ที่ประกอบด้วย กาย จิต สังคม และปัญญา อันเป็นมิติที่กว้างกว่าการมองเรื่องสุขภาพเป็นเพียงความเจ็บป่วย หรือการรักษาพยาบาลเท่านั้น

นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ ประกาศหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจฯ พร้อมกำหนดให้ อบจ. จัดตั้งคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) มีหน้าที่และอำนาจกำหนดนโยบายกำกับดูแลและพัฒนางานด้านสาธารณสุขของ อบจ. ที่ได้รับการถ่ายโอน ตลอดจนให้มีสำนักหรือกองสาธารณสุข เพื่อรับผิดชอบและจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ขึ้น ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดระบบบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

“ที่ผ่านมา สธ. ได้ทำภารกิจเหล่านี้ แต่วันนี้ถึงเวลาที่ต้องถ่ายโอนภารกิจนี้ให้กับ อบจ. ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พี่ใหญ่ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ ดังนั้นเมื่อถ่ายโอนไปแล้ว ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะ สธ.ในส่วนกลาง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่ ก็ยังต้องเป็นฝ่ายสนับสนุนทั้งทางด้านวิชาการและด้านบริการ ขณะที่ อบจ. สนับสนุนทรัพยากรและการบริหารจัดการ และในส่วนของภาคประชาชนก็ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนา รพ.สต.ในพื้นที่ของตน”

สช. ข้อต่อสานพลังระดับพื้นที่ มองภาพสุขภาพ มากกว่าการรักษา

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการถ่ายโอน รพ.สต. ให้ อบจ. คือประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์มากขึ้น ปัจจัยเสี่ยงลดลง และสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น มีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง นอกจากนี้ การถ่ายโอนฯ ต้องทำให้ระบบบริการเข้มแข็งมากขึ้น ทั้งงานบริการ งานวิชาการ งานบริหาร ที่ต้องมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่ภาพรวมของคนไทยทั้งประเทศให้มีความปลอดภัยด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ให้มีความยั่งยืน และมั่นคง

นพ.ประทีป กล่าวว่า การถ่ายโอน รพ.สต.ยังเป็นโอกาสของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะระบบสุขภาพท้องถิ่นใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่ง รพ.สต.จะเป็นด่านแรกในการดูแล ส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในพื้นที่แบบองค์รวม และ อบจ.จะช่วยสร้างการเชื่อมโยงระบบใหญ่ พร้อมทั้งขยายการบริการ เพิ่มเติมบุคลากรสาธารณสุขที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาสุขภาพในทุกมิติที่สอดรับกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยมี สธ.เป็นฝ่ายสนับสนุน

สำหรับบทบาทของ สช. จากนี้ก็จะทำงานแบบสานพลังภาคีเครือข่าย เปิดพื้นที่กลางให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันเตรียมความพร้อมเพื่อถ่ายโอนอย่างไร้รอยต่อ และในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะจัดทำกระบวนการการมีส่วนร่วม ที่จะนำไปสู่การจัดทำ “ธรรมนูญ รพ.สต.” หรือการเขียนกติกาสุขภาพที่ รพ.สต. และ ชาวบ้านในพื้นที่ เห็นพ้องร่วมกันที่จะสร้างสุขภาวะดีด้วยกัน

 “ภาคีองค์กรสุขภาพ” ต้นทุนสำคัญเพื่อระบบสุขภาพที่ยั่งยืน

นอกเหนือจากการเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความเข้าใจต่อบทบาทหน้าที่ของท้องถิ่น ในการจัดการระบบสุขภาพระดับพื้นที่แล้ว เวทีนี้ยังมุ่งเน้นใน อบจ. เข้าใจในบทบาทหน้าที่ขององค์กรด้านสุขภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพที่ผ่านมา และเป็นองค์กรที่สามารถสนับสนุนระบบสุขภาพของท้องถิ่นสำหรับการถ่ายโอนภารกิจฯ รพ.สต. ในครั้งนี้ได้

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)   ในฐานะหน่วยงานที่กำหนดนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพของสังคมแบบองค์รวม ให้เกิดความสมดุลทั้งทางกาย สังคม และปัญญา รวมถึงคอยออกแบบกลไก เครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ มองว่าการถ่ายโอน รพ.สต. สู่ อบจ.จำเป็นต้องมีการจัดทำ “แผนสุขภาพระดับพื้นที่” ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นนั้นๆ โดยหยิบเอา “ทุนทางสังคม” เป็นทรัพยากรในการพัฒนา

นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ นพ.ปรีดา กระบวนการจัดทำ เริ่มต้นจากการสำรวจต้นทุนของชุมชน ว่ามีข้อดี หรือจุดแข็งใดที่สามารถพัฒนาต่อได้บ้าง หลังจากนั้นจึงมาวิเคราะห์สภาพปัญหาที่เจอในชุมชน ด้วยการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ก่อสร้างฉันทามติร่วมกันว่าจะใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบใด ซึ่งที่ผ่านมาถูกกำหนดไว้ใน “ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่” เป็นการยกระดับข้อปฏิบัติของชุมชน สู่กฎหมายชุมชน และจะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

เช่นเดียวกับ พญ. ขจีรัตน์ ปรักเอโก ที่ปรึกษาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่กล่าวว่า สสส. พร้อมสนับสนุนการทำงานของ รพ.สต. ในเชิงเครือข่ายระดับพื้นที่ หากท้องถิ่นใด ที่มีแนวความคิดอยากสร้างเสริมสุขภาพ ตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ของ สสส. เช่น ด้านยาสูบ สุรา ยาเสพติด อาหาร ความปลอดภัยทางถนน สุขภาพจิต หรือแม้แต่มลพิษจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาท้องถิ่น เป็นองค์ประกอบสำคัญของ สสส. ในการขับเคลื่อนแผนงานทุกด้านอยู่แล้ว

เมื่อ รพ.สต. ได้รับการถ่ายโอนไปสู่ อบจ. แล้ว สสส. ได้วางแผนสนับสนุนทุนร่วมกับ อปท. เพื่อสนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ โดยกำหนดแผนงานร่วมทุนระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง สสส. ในสัดส่วน 75% และ อปท. ไม่น้อยกว่า 25% เพื่อเป็นการกระจายโอกาส การดำเนินงานด้านสุขภาพ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ เบื้องต้นมี อบจ. ร่วมทุนกับ สสส. แล้ว 7 แห่ง งบประมาณรวม 32.5 ล้านบาท เกิดเป็นโครงการสุขภาพในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 250 โครงการ

ดร.พิเชษฐ์ หนองช้าง ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า อีกหนึ่งเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามได้ คือ การให้บริการสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และเท่าเทียม โดย อปท. มีบทบาทหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวตามกฎหมายจัดตั้ง และ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ รวมถึง พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินฯ ยังระบุไว้ด้วยว่า เพื่อส่งเสริมความพร้อมให้ประชาชนในระดับพื้นที่ ให้คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน สนับสนุนงบประมาณให้กับ อปท. เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดบริการให้ประชาชนได้ตามความเหมาะสม และจำเป็นของพื้นที่

การเกิดขึ้นของ “กองสาธารณสุข” ใน อบจ. ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่จะดำเนินการ “ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัด” ซึ่ง ดร.พิเชษฐ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงการเตรียมการ ประสานและลงพื้นที่ ร่วมหารือกับนายก อบจ. และ นพ.สสจ. และ ผอ.รพ.ในจังหวัด เพื่อให้นายก อบจ. เห็นชอบที่ด่าเนินงาน และวางแผนให้ อบจ.ปรับแผนงาน/โครงการ และจัดเตรียมงบประมาณ โดย สพฉ. จะจัดทำคู่มือ แนวทาง พร้อมทั้งฝึกอบรมบุคลากรให้มีความพร้อมให้บริการประชาชน ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณผ่านกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินให้อีกด้วย

นอกจากนั้นในเวทียังเน้นย้ำถึงความช่วยเหลือที่ รพ.สต. ยังได้รับจากกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลโรงพยาบาลในระดับทุติยภูมิ และตติยภูมิ ทั้ง กำลังคน ยา เวชภัณฑ์ และระบบข้อมูลที่สามารถเข้าถึงกันได้ อีกทั้งยังรวมถึงงบประมาณในการดำเนินการ ที่ยังคงได้รับการสนับสนุนของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเช่นเดิม โดยยืนยันว่าจะไม่มีปัญหาสำหรับการให้บริการประชาชนในพื้นที่ หากเกิดการมีส่วนร่วม และผนึกกำลังกันทำงานอย่างไร้รอยต่อ เพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของประชาชนนั่นเอง

ทั้งนี้ ภายในการอบรมหลักสูตร “การจัดการระบบสุขภาพท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม” สช. ได้มีสานพลังภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพท้องถิ่น รวม 15 องค์กร ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่จะร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของคนในท้องถิ่น ประกอบด้วย 1. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) 2. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) 3. สถาบันพระบรมชนก (สบช.) 4. สถาบันพระปกเกล้า 5. สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) 6. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) 7. สมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย 8. สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย 9. สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย 10. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 11. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 12. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 13. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 14. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 15. สถาบันอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้