“ชัชชาติ” ขีดเส้น 1 ปีขยายพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ระบบสุขภาพ 25 เขต

หลังนำร่องที่ “ดุสิตโมเดล” และวันนี้เปิด “ราชพิพัฒน์แซนด์บ็อกซ์โมเดล” ยันทลายกรอบการทำงานข้ามสังกัด สำนักแพทย์-สำนักอนามัย เชื่อเป็นจุดเปลี่ยนระบบสาธารณสุข กทม. เพิ่มประสิทธิภาพ มั่นใจตอบสนองชุมชนมากขึ้น เตรียมขยายครอบคลุมทั่วกรุง 

วันนี้ (26 ส.ค. 2565) การปรากฏตัวของ ชัชชาติ​ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ ที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตบางแค กทม. ในการเปิดทดลองแซนด์บ็อกซ์ระบบสุขภาพอย่างเป็นทางการในวันนี้​ เพื่อต้องการส่งสัญญาณว่าทั้งสำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย กทม. จากที่เคยทำงานแยกส่วนกันแต่นี้ต่อไปต้องทำงานร่วมกัน พร้อมยืนยันว่านโยบายรื้อระบบสาธารณสุขกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนหลังจากที่เข้ารับตำแหน่ง​ ผ่านมาเกือบ 3 เดือนประสบความสำเร็จในแง่ของการทำพื้นที่ทดสอบ​ แม้จะเป็นเพียง 9 เขตจากที่มีทั้งหมด 50 เขตที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ก็ตาม 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขีดเส้นชัดเจนว่าสเต็ปต่อไป หลังจากที่มี แซนด์บ็อกซ์ระบบสุขภาพทั้ง 2 แห่งทั้งดุสิตโมเดล​ ฝั่งพระนคร และราชพิพัฒน์โมเดล​ ฝั่งธนบุรีแล้ว​  จะต้องขยายพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ระบบสุขภาพไปให้ได้ครึ่งหนึ่งของพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือ 25 เขตภายใน​ 1​ ปีนี้​ 

“ไม่น่าเชื่อว่า​ 3​ เดือน​ นโยบายที่เราเสนอไป​ สามารถ​ทำได้ และแทบไม่ได้ใช้งบหลวง​ ถ้าเราเชื่อใจมั่นใจ​ มีเอกชนจะมาร่วมมากมาย​ เพราะมั่นใจในระบบ ต่อไป​ คือจะทำยังไง​ให้ขยายกระจายไปในทุกชุมชน​ เป็นแบบนี้ในทุกชุมชน​ ภายใน​ 1​ ปี​ ต้อง ให้ได้​ ครึ่ง​หนึ่งของ​ทั้งกรุงเทพฯ” 

ชัชชาติ กล่าว

สำหรับการลงพื้นที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ​ในพื้นที่สุขภาพฝั่งธนบุรีในวันนี้​ มีการเยี่ยมชมองค์ประกอบหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันระบบแซนด์บ็อกซ์ โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับระบบการแพทย์ปฐมภูมิ​

ชัชชาติ ระบุว่าในกรุงเทพฯ​ มีโรงพยาบาลทุติยภูมิ​ ถึงตติยภูมิหลายแห่ง​ ถ้าเป็นโรคซับซ้อนคนกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลเหล่านี้ได้ไม่ยากนัก​ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบการแพทย์ปฐมภูมิเป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานครที่เป็นจุดอ่อนมาโดยตลอด 

อย่างไรก็ตาม วันนี้ได้มาเห็น​ ศูนย์เด็กอ่อนในชุมชนซึ่งรับเลี้ยงเด็กอายุ 3 เดือนถึง 2 ขวบซึ่งเด็กกลุ่มนี้ไม่มีที่ไปเพราะศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็กจะรับเด็กตั้งแต่อายุ 2 ปีเป็นขึ้นไป​ การมีศูนย์เด็กอ่อน​ เป็นการคืนพ่อแม่สู่ระบบเศรษฐกิจ​ กลับไปทำงาน​ และเสริมพัฒนาการของเด็กไปพร้อมกัน

ขณะเดียวกันศูนย์ฟื้นฟูผู้สูงอายุในชุมชน ก็สอดรับกับสังคมสูงวัย​ และช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีที่จะนำพาหมอให้ใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น​ อย่างเช่นการพบแพทย์ผ่าน Application LINE หรือการเยี่ยมบ้านให้คำปรึกษาผ่านระบบที่เรียกว่า Tele Medicine ซึ่งโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT  เพื่อ support คนไข้ที่อยู่ใน​ 5​ เขตพื้นที่​ที่อยู่ในความรับผิดชอบ

แซนด์บ็อกซ์ระบบสุขภาพ ทลายกรอบ 3 กองทุนสุขภาพ 

ขณะที่อีกคำถามสำคัญคือเรื่องการจัดการ 3 กองทุนสุขภาพ​  ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการรักษาและการป้องกันโรค​ ซึ่งแต่ละคนก็ใช้สิทธิในการรักษาต่างกันไป ระบบปฐมภูมิที่หมายถึงคลินิกชุมชน หรือศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีอยู่  อาจจะรับได้เฉพาะคนไข้สิทธิบัตรทองเท่านั้นในขณะที่สิทธิประกันสังคมซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของประชากร จะสามารถเข้าถึงการรักษาระบบปฐมภูมิเหล่านี้ได้หรือไม่​ 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่าไม่มีปัญหา งานปฐมภูมิต้องทั่วถึงและมีระบบการส่งต่ออยู่แล้ว ขณะที่ นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์​ กทม.  อธิบายเสริมว่าทั้ง 3 กองทุนมีการเชื่อมโยงกันตั้งแต่โควิด-19 ระบาด  มีการเคลียร์รริ่งเฮาส์ และแนวความคิดที่จะแชร์ค่าใช้จ่ายกันอยู่แล้ว สามารถตั้งเรื่องเบิกที่โรงพยาบาลได้เลย ส่วน พญ.วันทนีย์ วัฒนะ  รองปลัดกรุงเทพมหานคร  เผยว่ากองทุนประกันสังคม​หารือกับ สปสช. และพร้อมจะทำตามแนวทางของ สปสช. เช่นกัน 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active