แนะ 3 วิธีฟื้นฟูจิตใจเร่งด่วนจากเหตุฆาตกรรมหมู่ศูนย์เด็กเล็ก เสนอ สตช.-กองทัพ คัดกรองสุขภาพจิตผู้ใต้บังคับบัญชา ป้องปรามเกิดเหตุซ้ำ
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2565 นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์กราดยิงหนองบัวลำภู มีผู้เสียชีวิต 38 ศพว่าเป็นห่วงเด็กที่รอดชีวิตเพียงหนึ่งเดียวมากที่สุด โดยส่วนใหญ่เด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี จะจำเค้าลางของเหตุการณ์ไม่ได้ เว้นแต่ว่าจะถูกถามซ้ำบ่อย ๆ แต่ถ้าเป็นเด็ก 3-6 ปี จะมีภาพจำในบางเรื่องที่เกิดขึ้น ดังนั้นข้อแนะนำเร่งด่วนในการฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็ก คือ
1. ให้เด็กที่รอดชีวิตอยู่ในที่ปลอดภัยและอบอุ่นโดยใช้ความรักจากพ่อแม่ทำให้เด็กรู้สึกมั่นใจและปลอดภัย ให้พ่อแม่นอนกับเด็กอย่าให้เด็กโดดเดี่ยว
2. ต้องให้ทำกิจกรรมเล่านิทานให้ฟัง เบี่ยงเบนความสนใจ
3.ระวังอย่าถามซ้ำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด โดยส่วนใหญ่แล้วเวลาจะสามารถเยียวยาสภาพจิตใจของเด็กให้กลับคืนสู่ภาวะปกติได้
ขณะที่ในส่วนของครอบครัวของผู้เสียชีวิต ต้องมีมาตรการเยียวยาสภาพจิตใจอย่างเร่งด่วนทันที เพราะบอบช้ำมากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
นพ.สุริยเดว ยังเสนอมาตรการของทางภาครัฐเพื่อป้องปรามเหตุซ้ำ โดยรัฐต้องเอาจริงเอาจัง ประกาศห้ามตำรวจ-ทหารพกปืนหรือครอบครองปืนนอกเวลาราชการ หรือต้องสั่งยุติการขออนุญาตพกปืน หรือมีปืนไว้ในความครอบครองสำหรับประชาชนทั่วไปในทุกกรณี ต้องสร้างมาตรการเชิงรุกในพื้นที่ที่อ่อนไหวเช่น ในพื้นที่โรงพยาบาล โรงเรียนชุมชน ใครก็ตามที่ใช้อาวุธปืนไปทำร้ายผู้อื่นรัฐต้องแก้กฎหมายให้มีโทษสูงสุด
“เหตุอดีตตำรวจคลั่ง กราดยิงครั้งนี้ เหมือนเหตุที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จ่าคลั่งกราดยิงโคราช ผู้ก่อเหตุเป็นคนในเครื่องแบบทั้งคู่”
นพ.สุริยเดว ตั้งข้อสังเกต
เขาบอกอีกว่า กรณีที่เป็นทหารตำรวจทั้งสองกรณีจะเห็นเลยว่า เป็นอาชีพที่มีโอกาสเครียดสูง และมีโอกาสที่จะพฤติกรรมก้าวร้าวสูง กรณีแบบนี้อยากจะฝากทางผู้ที่ดูแลไม่ว่าจะเป็นสำนักตำรวจแห่งชาติ หรือกองทัพ อาจจะต้องคัดกรองสุขภาพทางจิตแบบรวม ใครก็ตามที่อยู่ในสภาพที่มีความอ่อนไหวมีพฤติกรรมที่มีความสุ่มเสี่ยงควรจะเข้าพบจิตแพทย์
ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เป็นเหตุสะเทือนขวัญ สร้างความเจ็บปวดทางจิตใจอย่างมาก ที่ต้องเตรียมรับมือที่สุดคือความรู้สึกสูญเสีย หรือความรู้สึกผิดของคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องไปทำความเข้าใจ แล้วก็ไปดูแลเรื่องจิตใจของเขา วิธีการช่วยเหลือที่ดีที่สุดในขณะนี้ก็คือทำให้คนที่เกี่ยวข้องรู้สึกปลอดภัย เพราะการเผชิญกับเหตุการณ์อกสั่นขวัญแขวน การเห็นภาพความรุนแรงหรือการได้ยินเสียงยังจะติดอยู่ในความรู้สึก
พญ.อัมพร บอกอีกว่า เรื่องที่ต้องขอความช่วยเหลือจากทุกคนในสังคมคือ 1. ต้องไม่สร้างคำถามที่ตอกย้ำความรุนแรงจนกลายเป็นแผลลึกหรือทำให้การเยียวยายากขึ้น 2. ต้องงดส่งต่อภาพความรุนแรงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตได้สายด่วน 1323
วันเดียวกัน เมื่อช่วงสองทุ่มที่ผ่านมา อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข ได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลหนองบัวลำภู ไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บ และญาติผู้เสียชีวิต โดยกล่าวว่าจะประสานช่วยเหลือคนเจ็บ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้
สำหรับผู้ที่บาดเจ็บรักษาตัวอยู่ ยืนยันว่าจะช่วยชีวิตอย่างเต็มที่ จะไม่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่ม ถ้าอาการหนักก็จะส่งไปที่โรงพยาบาลอุดรธานีโดยสั่งการให้มีการเตรียมพร้อมทางการแพทย์อย่างเต็มที่ ตอนนี้ผู้บาดเจ็บทุกคนเข้าถึงหมอแล้ว มีทั้งบาดเจ็บมาก และมีทั้งที่ปลอดภัยแล้ว และก็จะให้ทางกรมสุขภาพจิตเยียวยาจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่