“จิตแพทย์” เผยผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 20% ไม่ตอบสนองต่อยารักษาโรคซึมเศร้า ในบัญชียาหลักฯ ขณะที่การเบิกยานอกบัญชีฯ พุ่ง
วันนี้ (3 พ.ย. 2565) ช่วงสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ 1-7 พ.ย. กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถานการณ์จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในไทยเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วงที่ 1.5 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลจากผลการสำรวจของ Rocket Media Lab พบว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเกินครึ่งเลือกที่จะรักษาโรคนี้ ด้วยการจ่ายเงินเอง
นพ.พนม เกตุมาน ที่ปรึกษาภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยกับ The Active ว่าจะมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าที่อยู่นอกบัญชียาหลัก ราว 20% ขณะที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 70-80% ตอบสนองต่อยาในบัญชียาหลักได้ดี
ทั้งนี้ การจ่ายยาของแพทย์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และสามารถพิจารณาจ่ายยานอกบัญชีได้ตามรายกรณี ซึ่งหากแพทย์ระบุลงความเห็นไปก็จะสามารถเบิกตามสิทธิบัตรได้เช่นกัน แต่โดยหลักแล้วแพทย์ จะใช้ยาที่เบิกได้ตามบัญชียาหลักเป็นอันดับแรกก่อน
The Active สอบถามเรื่องนี้กับ นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ที่ร่วมผลักดันบัญชียาซึมเศร้าบางชนิดให้ขึ้นสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุว่าปัจจุบันก็มีตัวยารุ่นใหม่ ๆ อย่างเช่น เซอร์ทราลีน ฟลูออกซิตีน หรือโปรแซค 2 ตัวนี้ ก็อยู่ใน บัญชียาหลักอยู่แล้วสามารถจะสั่งจ่ายได้
อย่างไรก็ตามยาในบัญชียาหลักบางตัว ก็ยังมีเรื่องผลข้างเคียง เช่น ระบบทางเดินอาหาร อาเจียน เบื่ออาหาร ประกอบกับมีผลข้างเคียงกับผู้ป่วยที่มีโรคหลายโรค เช่น โรคเบาหวาน ลมชัก โรคไต อาจจะใช้ยาเหล่านี้ไม่ได้
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ขณะนี้มีรายชื่อยารักษาโรคซึมเศร้าที่อยู่นอกบัญชียาหลัก 4 ตัวที่จะเสนอขึ้นบัญชียาหลักให้สามารถเบิกได้ตามสิทธิบัตรทอง ได้แก่ โอแลนซาปี, อะริพิพราโซล, เวนลาฟาซีน และ เมทิลเฟนิเดต
ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เปิดเผยกับ The Active ว่า ไม่ขัดข้องหากแพทย์จะจ่ายยานอกบัญชีหากมีความเห็นแพทย์ที่เพียงพอ ในส่วนของการขึ้นทะเบียนยาหลัก คณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติยังรอคอยข้อมูลเชิงวิชาการที่กองนโยบายแห่งชาติด้านยา ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. จะเสนอเข้ามาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ในขณะที่ทีมข่าวได้ทำหนังสือขอสัมภาษณ์ไปที่ อย. แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับให้ข้อมูลถึงความคืบหน้า การเสนอยาต้านโรคซึมเศร้าบางชนิดเพื่อขึ้นสู่บัญชียาหลัก ซึ่งทีมข่าวจะติดตามต่อไป