รอ ครม.-กฤษฎีกา สรุปปม งบฯส่งเสริมป้องกันโรค

รองปลัด สธ. เสนอ เลขาฯ สปสช. แยกจัดสรรงบบริการผู้ป่วยซึ่งเป็นก้อนใหญ่ก่อน ระหว่างรอคำตอบที่ชัดเจนจาก ครม. และ กฤษฎีกาฯ สรุปเกี่ยวกับงบฯส่งเสริมป้องกันโรคใช้ได้กับทุกสิทธิ์สุขภาพหรือไม่  ป้องกันประชาชนได้รับผลกระทบ

วันนี้ (13 ธ.ค. 2565)  นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวถึงข้อห่วงใยกรณี  อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ยังไม่ลงนามในหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2566 ทำให้ยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ งบบัตรทอง ลงไปยังหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลต่าง ๆ สาเหตุจากการนำงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ไปใช้ให้บริการนอกเหนือจากสิทธิบัตรทอง คือสิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม อาจไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่และภารกิจตามที่ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2545 กำหนดไว้ในมาตรา 5 ประกอบมาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 และ มาตรา 10 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสปสช. ได้ดำเนินการหารือคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วอยู่ระหว่างการพิจารณาให้มีความชัดเจน

นพ.พงศ์เกษม กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ได้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยคำนึงถึง 3 เรื่องหลัก คือ 

  1. ประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบ โดยให้หน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง จัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ตามปกติ 
  2. โรงพยาบาลไม่เดือดร้อน
  3. ต้องเป็นไปตามกฎหมาย 

จากการหารือนอกรอบเมื่อสัปดาห์ก่อน เลขาฯ สปสช. ได้เห็นชอบตรงกันเรื่องข้อเสนอให้แยกจัดสรรเงินบริการประเภทผู้ป่วยนอก (OP) และผู้ป่วยใน (IP) และรายการอื่น ๆ ไปให้หน่วยบริการก่อน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อหน่วยบริการเนื่องจาก งบบัตรทองปีงบประมาณ 2566 วงเงินทั้งหมด 204,140.03 ล้านบาทเป็นงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่รอการพิจารณาทางข้อกฎหมายเพียง 21,381.11 ล้านบาท หรือประมาณ 10% เท่านั้น งบส่วนอื่น ๆ ที่ขอให้แยกจัดสรรเป็นงบส่วนใหญ่ เช่น งบเหมาจ่ายรายหัว 161,602.67 ล้านบาท ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 3,978.48 ล้านบาท ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 9,952.18 ล้านบาท เป็นต้น

“เรื่องการจัดบริการประชาชน ขณะนี้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขยังดำเนินการตามปกติ ส่วนใหญ่มีงบประมาณพอรองรับการดำเนินงาน ระหว่างนี้หากโรงพยาบาลใดมีข้อติดขัดขอให้แจ้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัด และรายงานผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเขตสุขภาพ แก้ไขปัญหาในระดับเขตสุขภาพ โดย บอร์ด สปสช. จะมีการประชุมในวันที่ 14 ธันวาคม นี้ หากมีมติให้แยกจัดสรรงบตามที่กระทรวงเสนอ คาดว่าหน่วยบริการจะได้รับจัดสรรงบส่วนใหญ่สำหรับดูแลประชาชนภายในปลายเดือนธันวาคม 2565” 

นพ.พงศ์เกษม กล่าว 

งบส่งเสริมและป้องกันโรคคืออะไร สำคัญอย่างไร?

โครงสร้างของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง จะแบ่งงบประมาณเป็น 2 ก้อนหลัก คือ “งบประมาณเพื่อการรักษาโรค” แบ่งย่อยเป็น ผู้ป่วยนอก (OP) และ ผู้ป่วยใน (IP) และอีกก้อนคือ “งบส่งเสริมและป้องกันโรค” (PP)

โดยปกติแล้วสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ใช้งบส่งเสริมป้องกันโรค (PP) ไปที่หน่วยบริการปฐมภูมิซึ่งเบิกได้กับคนทุกสิทธิ์ไม่ว่าจะใช้สิทธิ์ “ประกันสังคม” หรือ ”ข้าราชการ”  ยกตัวอย่าง เช่น การคัดกรองโรคเบาหวาน คนทุกสิทธิ์สุขภาพ ก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การตรวจเลือดเพื่อคัดกรอง HIV คนทุกสิทธิ์ก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้โดยใช้งบประมาณจาก สปสช. อีกกรณีหนึ่งคือ“วัคซีน” เพื่อป้องกันโรคระบาด คนทุกสิทธิ์สุขภาพก็ใช้บริการได้โดยไม่เสียเงินเช่นกัน 

ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจว่า “การป้องกันโรค” นั้นต่างจาก “การรักษาโรค” ซึ่งจะไปเบิกค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์ในแต่ละกองทุนสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมี 3 กองทุน คือบัตรทอง ข้าราชการ และประกันสังคม 

อย่างไรก็ตาม โดยปกติการเซ็นอนุมัติงบประมาณต้องเริ่มวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ ระบุว่า เมื่อ รมว.สธ. ไม่เซ็นอนุมัติ จะไม่ทันการเบิกจ่ายจนส่งผลกระทบต่อประชาชน 

นอกจากนี้  ประเด็นสำคัญที่ถูกโต้แย้ง หรือสาเหตุที่ยังไม่มีการลงนาม คือ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ.เสนอว่า งบประมาณส่งเสริมป้องกันโรค (PP) ที่ผ่านมาดูแลคนไทยทุกสิทธิ์นั้น ไม่ถูกต้อง จะต้องดูแลสิทธิผู้ถือบัตรทอง (UC) เท่านั้น จึงเสนอไม่ให้รัฐมนตรีว่าการ สธ.ลงนาม ทั้งที่ จากเดิมตั้งแต่จัดตั้งกองทุนขึ้น งบที่มีนี้เพื่อคนไทย 66 ล้านคน

นิมิตร์ เทียนอุดม หนึ่งในกรรมการบอร์ด สปสช. ภาคประชาชนกล่าวว่า ขอบเขตของประกาศฯ ระบุ งบส่งเสริมป้องกันโรคหมายรวมถึงคนไทยทั้ง 66 ล้านคน ซึ่งตั้งแต่เกิดระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นมา ก็จัดงบประมาณเพื่อมาดูแลคนไทยทุกสิทธิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทุกคน กรรมการทุกชุดก็เห็นชอบมาตลอด จนมีข้อท้วงติงจากที่ปรึกษารัฐมนตรีอนุทิน ชาญวีรกูล ว่า ประกาศนี้ใช้ได้เฉพาะผู้ใช้สิทธิ์บัตรทอง 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active