ผอ.รพ.ท่าสองยาง ยัน​ต้องใช้งบฯ ​ส่งเสริม​ป้องกัน​โรค ทั้งคนไทยและกลุ่มคนไร้สถานะ​

ชี้การส่งเสริม​ป้องกันโรคถูกกว่าค่ารักษาพยาบาล​ หลัง รพ.ชายแดนแห่งนี้ ​ อนุเคราะห์ค่ารักษาพยาบาล​ให้กลุ่มคนที่เบิกสิทธิ์​ใดไม่ได้​ ปี​ 2565​ พุ่ง​ 30​ ล้านบาท​ 

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565​ นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการ รพ.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก​ เปิดเผยกับ The​ Active ว่า ยังไม่ได้รับโอนงบประมาณประจำปี 2566 จาก​ สปสช. ซึ่งปกติจะได้รับ​ ณ​ วันที่​ 1​ ตุลาคม​ ซึ่งเป็นวันเริ่มปีงบประมาณ​ โดยคาดว่าปีนี้น่าจะล่าช้า จากการชี้แจงเบื้องต้นน่าจะได้รับช่วงปลายเดือนธันวาคม​ โดยปัจจุบันยังใช้เงินคงเหลือจากงบโควิด-19 ให้บริการประชาชนไปก่อน​ 

นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการ รพ.ท่าสองยาง

ส่วนกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข​ ส่งให้ ครม.และคณะกรรมการกฤษฎีกา​ ตีความว่างบฯ ส่งเสริม​และป้องกัน​โรค​ ใช้กับคนทุกสิทธิ์ได้หรือไม่ นพ.ธวัชชัย​ บอกว่าไม่ผลการตีความจะเป็นอย่างไรก็ยังคงจะต้องใช้งบส่งเสริมและป้องกันโรคเหล่านี้ไปกับทั้งกลุ่มคนไทยสิทธิ์บัตรทอง​ และกลุ่มคนไร้สถานะอย่างเท่าเทียมกัน​ ไม่สามารถแบ่งแยกได้เนื่องจากมองว่าการส่งเสริมและป้องกันโรคมีราคาถูกกว่าการรักษาพยาบาล​ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายด้านการสงเคราะห์ผู้ป่วย ที่ไม่สามารถเบิกสิทธิ์ใด ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์บัตรทองหรือกองทุนผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ์​ (ทร.99)​ จำนวนสูงถึง 30 ล้านบาทเนื่องจากเป็นโรงพยาบาลแนวชายแดนอยู่ห่างจากชายแดนเมียนมาราว 250 เมตรทำให้มีกลุ่มบุคคลที่หลากหลายทั้งคนไทยกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มต่างด้าวเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก​ แทบไม่ทราบว่าใครเป็นใคร​ โดยที่โรงพยาบาลไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้​ ตามหลักมนุษยธรรม​

“สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคืองานปฐมภูมิฝั่งประเทศเมียนมาหลังเกิดรัฐประหารมีเด็กได้รับวัคซีนพื้นฐานป้องกันโรคระบาด   เช่น​ คอตีบ​ ไอกรน​ ไข้สมองอักเสบ ครอบคลุมเพียงแค่ 10% ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก​และอาจก่อให้เกิดการระบาดข้ามมายังประเทศไทยได้​ งานปฐมภูมิในฝั่งไทยจึงต้องรีบฉีดวัคซีนพื้นฐานให้กับเด็กทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กไทยหรือเด็กสถานะใด” 

นพ.ธวัชชัย

ขณะที่หน่วยบริการปฐมภูมิอย่าง รพ.สต. บ้านกาหม่าผาโด้​ ซึ่งมีโรงพยาบาลท่าสองยางเป็นแม่ข่ายก็ตอบรับนโยบายของผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง​ โดย ​จิรศักดิ์ มรกตคีรีรัตน์  เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน  รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกาหม่าผาโด้​ พาทีมข่าวลงพื้นที่เพื่อให้เห็น ความท้าทายในการบริการปฐมภูมิซึ่งแต่ละชุมชนเข้าถึงลำบากและประชาชนบางคนไม่มีบัตรประชาชน​ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยมาจนเป็นผู้สูงอายุ​ และไม่ออกไปสู่โลกภายนอก​ ในขณะที่เด็กที่เกิดใหม่เกือบ 100% เป็นเด็กที่ถือบัตรประชาชนมีสัญชาติไทยกันหมดแล้ว​ ในขณะที่การทำงานด้านส่งเสริมป้องกันโรคไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยเบื้องต้น​ การจ่ายยา​ การฉีดวัคซีนจะแบ่งแยกหรือตรวจบัตรประชาชนทุกคน โดยให้บริการเท่ากันหมด​ ซึ่งก็เป็นงบประมาณก้อนเดียวกันจากงบส่งเสริมและป้องกันโรค​ (PP)​ ที่ได้มาจากกองทุนบัตรทองที่นำมาใช้ครอบคลุมทั้งกลุ่มคนไทยและกลุ่มคนไม่มีสถานะ​

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active