ภาคีสุขภาพฯ บีบ ‘อนุทิน’ เสนอ ร่าง พ.ร.ฎ.งบส่งเสริมป้องกันโรค ก่อนยุบสภา

เผยช่วงสุญญากาศ 5 เดือน หน่วยบริการต้องสำรองจ่ายเองหลาย 10 ล้านบาท ขณะที่ สธ.-สปสช. แจง งบฯ สร้างเสริมป้องกันโรคกลุ่มนอกสิทธิบัตรทอง อยู่ระหว่างออก พ.ร.ฎ. ให้ สปสช.เป็นผู้ดูแลคาดทันการพิจารณาของ ครม.วันที่ 14 มี.ค. นี้ 

วันนี้ (9 มี.ค. 2566) ภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เดินทางไปพบประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมกับไปยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ พบ ศุภชัย ใจสมุทร ที่พรรคภูมิใจไทย เพื่อเร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการใช้งบประมาณส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค (งบ PP) ให้ครอบคลุมกลุ่มคนทุกสิทธิ ซึ่งขณะนี้ใช้ได้เพียงกลุ่มคนสิทธิบัตรทองเท่านั้นเนื่องจาก อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ยอมลงนามในประกาศ สปสช. เพราะเกรงว่าจะผิดกฎหมาย  

รองศาสตราจารย์ กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้แทนภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

รองศาสตราจารย์กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้แทนภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค กล่าวว่าภายหลังการชี้แจงเหตุผลของการใช้งบฯ ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคว่าต้องมีการตีความตามกฏหมายให้ถูกต้อง จึงเป็นที่มาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่ยอมเซ็นลงนามนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับ ได้แต่ผิดหวังกับท่าทีของ  อนุทินและพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่สนใจใยดีในการปกป้องหลักการด้านการป้องกันโรคกับคนไทยทุกคน ไม่มีท่าทีที่จะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา ขณะที่นับตั้งแต่เริ่มต้นปีงบประมาณ 2566 เดือนตุลาคม 2565 มาจนถึงวันนี้ 5 เดือนแล้วที่ หน่วยบริการต้องสำรองจ่ายให้คนนอกสินบัตรทองไปแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท  

“การเคลื่อนไหวในครั้งนี้จึงมีความหมายไปถึงพรรคการเมืองในห้วงเวลาของการเลือกตั้งให้เห็นความสำคัญของงบฯ ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคซึ่งเป็นเหมือนกล่องดวงใจในระบบสุขภาพประเทศไทย” 

รศ.กฤตยา

ภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ประกอบด้วยองค์กร กลุ่มและเครือข่ายที่ทำงานด้านต่างๆ รวม 122 แห่ง ในนามของผู้ได้รับผลกระทบจากการเสียสิทธิสุขภาพ เห็นว่า หากประชาชนไทยเข้าไม่ถึงบริการส่งเสริมสุขภาพและกลไกการควบคุมป้องกันโรคทำได้ไม่ทั่วถึงเท่าเทียมนี้เกิดขึ้นต่อไปประเทศไทยอาจเข้าสู่วงจรปัญหาสุขภาพที่รุนแรงในอนาคตอันใกล้ได้ จึงขอเรียกร้องต่อบุคคล กลุ่มบุคคล และหน่วยงาน ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ขอให้ อนุทิน ชาญวีรกุล ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เร่งลงนามในประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพเพื่อคืนสิทธิและแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้โดยทันที ก่อนการยุบสภาที่จะเกิดขึ้น

2. ขอให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดจัดทำพระราชกฤษฎีกาคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคคืนสิทธิให้ทุกคนในประเทศ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาให้แล้วเสร็จในสมัยของคณะรัฐมนตรีชุดนี้

3. ขอให้กระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมาตรการที่ชัดเจนในการชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่หน่วยบริการสุขภาพภาครัฐและเอกชน ได้สำรองจ่ายไปก่อนแล้วจำนวนรวมหลายล้านบาทในปีงบประมาณ 2566 และทางออกในปีงบประมาณ 2567 หากไม่สามารถดำเนินการในข้อ 1 และ 2 ได้ก่อนยุบสภา

4. ขอให้พรรคการเมืองทุกพรรค มีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อรับประกันว่า ประชาชนไทยทุกคนจะได้รับสิทธิสุขภาพครอบคลุมการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรครักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพอย่างทั่วถึงเท่าเทียม

ชี้แจง! พ.ร.ฎ.งบส่งเสริมป้องกันโรค เข้า ครม.14. ม.ค. นี้ 

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า งบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง วงเงินรวมทั้งหมด 204,140.03 ล้านบาทในจำนวนนี้เป็นงบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค (PP) ประมาณ 10% หรือ 21,381.11 ล้านบาท แยกเป็น งบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคสำหรับประชาชนในสิทธิบัตรทอง 16,235.07 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ได้อนุมัติดำเนินการดูแลประชาชนในสิทธิบัตรทองไปแล้ว 

ส่วนที่เหลืออีก 5,146.04 ล้านบาท หรือ 2.5% ของงบภาพรวมทั้งหมด สำหรับสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคกลุ่มประชาชนนอกสิทธิบัตรทอง คือ ประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมาอาจไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทำให้ต้องมีการชะลอการจัดสรรงบประมาณเฉพาะส่วนนี้ แต่กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้หน่วยบริการในสังกัดยังคงให้บริการประชาชนทุกสิทธิตามปกติ ส่วนหน่วยบริการนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทาง สปสช. เป็นผู้ประสานให้บริการตามปกติเช่นกัน ดังนั้นยืนยันว่าประชาชนทุกคนทุกสิทธิยังสามารถเข้ารับบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้ 

ด้าน นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้ บอร์ด สปสช. ออกร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) กำหนดสิทธิรับบริการสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในการดูแลของกองทุนนั้น ๆ สามารถใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และบริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ได้ โดยได้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อจัดทำร่าง พ.ร.ฎ. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งสิ้น 6 ฉบับและขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดให้ประชาชน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็น 

ล่าสุดวันนี้ (9 มี.ค.) บอร์ด สปสช. ประชุมวาระด่วนพิเศษผ่านระบบ Zoom พิจารณาการดำเนินการตามมาตรา 9 และมาตรา 10 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ เพื่อส่งให้ ครม. พิจารณา ให้ทันวันที่ 14 มี.ค.นี้ 

“เมื่อดำเนินการเรื่องนี้แล้วเสร็จ โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาได้ ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน เท่ากับว่าต่อไปในอนาคต ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีกหน่วยบริการสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากมีหลักประกันที่เป็นข้อกฎหมายรองรับไว้แล้ว ต่อไปคนไทยทุกคนก็จะได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้”

เลขาธิการ สปสช. กล่าว

“อนุทิน” รมว.สธ. คนแรกที่ไม่เซ็นงบฯ ส่งเสริมป้องกันโรค 

การที่ประชาชนไทยจะมีสุขภาพที่ดีนั้น รัฐพึงจัดบริการสุขภาพทั้ง 4 ด้าน คือ 1) สร้างเสริมสุขภาพ 2) ป้องกันโรค 3) รักษาพยาบาล และ 4) ฟื้นฟูสุขภาพ ให้ครอบคลุมประชาชนทั้ง 66,215,262 คนอย่างถ้วนหน้าโดยไม่เลือกปฏิบัติ 

ปัจจุบัน สิทธิสุขภาพของประกันสังคม รัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและอื่นๆ ที่ไม่ใช่สิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือสิทธิบัตรทอง ครอบคลุมเฉพาะด้านรักษาพยาบาลเท่านั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้อาศัยมติคณะรัฐมนตรีในแต่ละปี เพื่อจัดสรรงบประมาณด้านสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และการฟื้นฟูสุขภาพที่ขาดไปในสิทธิสุขภาพอื่น ๆ ให้ครอบคลุมคนไทยถ้วนหน้า ซึ่งแนวทางนี้มีการดำเนินงานตั้งแต่ก่อตั้ง สปสช. ในพ.ศ. 2545 โดยสิทธิสุขภาพในด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนี้ ได้มีการเพิ่มเติมตามลำดับ เช่น การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี การคุมเนิดทุกวิธี การป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ไม่ปลอดภัย บริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน เป็นต้น

แต่ในปีงบประมาณ 2566  อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รับคำแนะนำจากปรึกษากฎหมายว่า สปสช. ไม่ควรมีอำนาจในการดูแลประชาชนที่มีสิทธิสุขภาพอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากสิทธิบัตรทอง ตามบทบัญญัติตามมาตรา 7, 9 และ 10 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ดังนั้นหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2566 จึงมีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ครอบคลุมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง ซึ่งสวนกับมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เสนอให้ครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิทุกคน

ส่งผลกระทบอย่างไร 

ผลกระทบอันเกิดจากการที่ประชาชนนอกสิทธิบัตรทอง คือ ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างส่วนราชการ พนักงาน-ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ พนักงานองค์กรอิสระพนักงานองค์กรมหาชน ครูเอกชน พนักงานกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา รวมทั้งภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 และ 39 เช่น พนักงานบริษัทเอกชน โรงงาน ร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และอื่นๆ จึงได้ค่อย ๆก่อตัวขึ้น จากการที่ประชาชนถูกพรากสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไปพบว่าบริการบางด้านก็เป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนี้

1. บริการคุมกำเนิดทุกวิธี ได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย ยาฉีดคุมกำเนิด ห่วงอนามัย และยาฝังคุมกำเนิด ผู้ใช้บริการนอกสิทธิบัตรทองต้องชำระค่าบริการเองทั้งหมด โดยเฉพาะการฝังยาคุมกำเนิดที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 2,500 – 3,500 บาท

2. บริการที่เกี่ยวข้องก้บการฝากครรภ์ คือ การตรวจครรภ์ อัลตร้าซาวน์ ตรวจคัดกรองภาวะซีด ซิฟิลิส เอชไอวี ตับอักเสบบี ธาลัสซีเมีย และดาว์ซินโดรม วัคซีนระหว่างตั้งครรภ์ ยาบำรุงธาตุเหล็ก โฟลิก และไอโอดีน การตรวจช่องปากและฟัน สุขภาพจิต และการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีเพื่อป้องกันติดเชื้อจากแม่สู่ลูกในขณะที่ค่าเหมาจ่ายฝากครรภ์ของสิทธิประกันสังคมที่มีเหมาจ่ายเพียง 1,500 บาท ต่อการตั้งครรภ์ ซึ่งการเสียสิทธินี้ทำให้ผู้มีสิทธินอกบัตรทองจะต้องจ่ายเหล่านี้เองทั้งหมด

3. วัคซีนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคในเด็กแรกเกิดถึงชั้นมัธยม 6 ที่ต้องได้รับรวม30 ครั้ง ไม่ครอบคลุมบุตรของข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานอื่นของรัฐ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา แม้ว่าทุกฝ่ายมีความพยายามให้วัคซีนครอบคลุมเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แต่งบประมาณที่ลดลงจะส่งผลให้ปริมาณวัคซีนเด็กในระบบไม่เพียงพอ และโรงพยาบาลรัฐที่อยู่ห่างไกลจะไม่สามารถจัดซื้อวัคซีนเด็กเองได้เนื่องจากปริมาณการสั่งซื้อที่น้อย ทำให้ราคาต่อหน่วยมีมูลค่าสูง

4. บริการยุติการตั้งครรภ์ ที่เป็นสิทธิของผู้หญิงตามกฎหมายการทำแท้งฉบับที่แก้ไขใหม่ใน พ.ศ. 2564 แต่ยังมีหน่วยให้บริการครอบคลุมเพียง 39 จังหวัดเท่านั้น ขณะที่ผู้ใช้บริการจำนวนไม่น้อยมีปัญหาทางเศรษฐกิจ การตัดงบประมาณผู้ที่ไม่ได้อยู่ในสิทธิบัตรทองให้ต้องจ่ายค่าบริการเอง เป็นการผลักไสให้ไปใช้บริการทำแท้งเถื่อนไม่ปลอดภัย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตได้ รวมทั้งขาดโอกาสในการได้รับบริการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการท้องไม่พร้อม

5. การป้องกันการติดเชื้อและติดตามดูแลสุขภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทุก ๆ ปีสปสช.จะจัดสรรงบประมาณให้องค์กรภาคประชาสังคม เพื่อจัดกิจกรรมให้ความรู้ค้นหากลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อและคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการสนับสนุนถุงยางอนามัยและยา PrEP และ PEP เพื่อป้องกันผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมทั้งการติดตามดูแลสุขภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนนอกสิทธิบัตรทองการที่งบประมาณกองทุน PP อนุมัติให้ใช้ได้เพียงคนที่มีสิทธิบัตรทองเท่านั้นทำให้การดำเนินงานด้านการป้องกันเอชไอวีที่ดำเนินการมาตลอดหลายสิบปีและกำลังเร่งรัดเพื่อมุ่งสู่การยุติเอดส์ตามเป้าหมายของประเทศในปี 2573 ต้องถอยหลังลงคลอง มีโอกาสกลับไปสู่ยุคที่มีการแพร่ระบาดของการติดเชื้อเอชไอวีอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่สามารถทำให้ประเทศไทยยุติเอดส์ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

6. บริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน จากเดิมงบประมาณ ที่สปสช. จัดสรรในการดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในชุมชนโดยผู้ดูแล (Care giver) เดือนละ 6,000 บาท ก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว หากลดงบประมาณในส่วนที่ไม่ใช่ผู้ป่วยบัตรทองลงก็จะยิ่งทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการดูแลโดยรัฐ สร้างภาระแก่ญาติในการดูแลหรือจัดจ้างคนมาดูแลตามกำลังของแต่ละครอบครัว

7. กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบล เป็นการจัดทำโครงการที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น หน่วยงานสาธารณสุข ประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันแก้ปัญหาสุขภาพในพื้นที่ของตัวเอง หลายโครงการเป็นการอบรมให้ความรู้ด้านสุขภาพ หลายโครงการเป็นการสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงเรียน หรือวัด หลายโครงการเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน/ความดันโลหิตสูงบางโครงการก็เป็นสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์แก่ผู้ป่วยในชุมชน เช่น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่การไม่จัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุมประชากรในพื้นที่ผู้ซึ่งไม่อยู่ในสิทธิบัตรทอง จะส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความยากลำบากในการที่ต้องเลือกปฏิบัติกับคนในพื้นที่รับผิดชอบ

ทั้งนี้ งบประมาณการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคใน 4 ประเภทบริการที่ประชากรกลุ่มนอกสิทธิบัตรทองต้องเสียสิทธิไป เมื่อคำนวนตามจำนวนกลุ่มเป้าหมายและค่าบริการสุขภาพในหมวดนั้นๆ คิดเป็นงบประมาณดังตารางต่อไปนี้

งบประมาณที่กลุ่มนอกบัตรทอง 20 ล้านคนจะเสียสิทธิไป

ประเภทจำนวนกลุ่มเป้าหมายงบประมาณ (ล้านบาท)
บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค18,559,0008,606.7
บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี891,078163.6
บริการผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน26,111156.7
บริการสาธารณสุขร่วมกับท้องถิ่น7,612,169364.1
รวมเป็นเงิน9,291.1

ต่อมาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้อนุมัติวงเงินในปีงบประมาณ 2566 สำหรับประชาชนนอกสิทธิบัตรทองเป็นเงิน 5,146.05 ล้านบาท ซึ่งก็นับว่าเป็นเงินจากภาษีประชาชนจำนวนไม่น้อย การที่ อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ยอมลงนามในประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ ทั้งยังไม่เตรียมแผนรับรองในการแก้ไขปัญหาได้ส่งผลให้ประชาชนนอกสิทธิบัตรทอง ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์สุขภาพที่ตนเองพึงมี และเมื่อการส่งเสริมสุขภาพและกลไกการควบคุมป้องกันโรคไม่สามารถเข้าถึงประชาชนไทยได้ทั่วถึงเท่าเทียม ประเทศไทยอาจเข้าสู่วงจรปัญหาสุขภาพที่รุนแรงในอนาคตอันใกล้ได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active