‘กิจกรรมทางสังคม’ เยียวยาโรคทางใจ ‘ควบคู่’ การจ่ายยา แก้ปัญหา ‘สุขภาพจิต’ ระยะยาว

นักวิชาการ เสนอจ่าย ‘กิจกรรมทางสังคม’ ช่วยรักษาสุขภาพจิต แต่ยอมรับไม่ง่าย ต้องบูรณาการระบบสุขภาพจิตเชิงนโยบายมากกว่านี้ ชี้ ไทยยังเน้นรักษาปลายทาง ขาดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ขณะที่ ภาคประชาชน ย้ำ ชุมชนทำเองได้ ไม่ต้องรอรัฐ

จากสถานการณ์สุขภาพจิตไทยล่าสุด พบว่า ในปี 2564 ไทยมีผู้ป่วยจิตเวชสูงขึ้นถึง 2.3 ล้านคนแล้ว (จากจำนวน 1.3 ล้านคนในปี พ.ศ. 2558) โดยมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสมต่อเนื่อง (กรมสุขภาพจิต, 2564)

สอดคล้องกับข้อมูลในปี 2565 พบว่า มีประชาชนมากกว่า 2.5 ล้านคนเข้ารับบริการทางสุขภาพจิต มีผู้ป่วยจิตเวชสะสมกว่า 3.99 ล้านราย จำนวนผู้ป่วยมหาศาลนี้ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีภาระงานเพิ่มสูงขึ้น 

ขณะที่รายงานจากกรมสุขภาพจิตปี 2565 พบว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ด้านสุขภาพจิตเข้าสู่สภาวะหมดไฟ (burout) กว่าร้อยละ 12.2 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2563 ที่มีเพียงร้อยละ 2.7 เท่านั้น ซึ่งสูงขึ้นถึง 5 เท่า

เมื่อมองไปที่โครงสร้างการบริการ จำนวนจิตแพทย์ไทยมีเพียง 1.3 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนเท่านั้น (ต่ำกว่าค่ามาตรฐานของ WHO ที่กำหนดไว้ว่าต้องมี 1.7 คนต่อนึ่งแสนคน) ซ้ำยังกระจุกตัวอยู่ใน กทม. ทำให้การเข้าถึงของพื้นที่ชุมชนห่างไกลยังคงมีข้อจำกัด แนวทางการใช้ชุมชนเข้าดูแลจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ

นั่นเป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิต ทำให้ล่าสุด สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) จัดการประชุมวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิตขึ้น ภายในงานมีการนำเสนอโครงการเชิงงานวิจัยจากเครือข่ายสุขภาพจิตที่โดดเด่นจำนวน 9 โครงการ ที่ล้วนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพจิตในไทยในอนาคต และหนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจ ได้แก่ การมี “นโบายสั่งจ่ายกิจกรรมทางสังคม” (Social Prescribing) และ “ม้านั่งมีหู” ที่ประชาชนสามารถปฐมพยาบาลสุขภาพจิตกันได้เองในชุมชนโดยไม่ต้องรอรัฐ

นโบายสั่งจ่าย ‘กิจกรรมทางสังคม’ เยียวยาโรคภัยทางจิตใจ ‘ควบคู่’ การจ่ายยา

ผศ.พบสุข ช่ำชอง ผู้รับผิดชอบโครงการระบบนิเวศนโยบายสาธารณะเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (Social Prescribing) อธิบายว่า ตอนนี้มีวัตกรรมเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาสุขภาพจิต ที่ได้รับความสนใจในหลายประเทศ โดยเฉพาะ อังกฤษ นั่นคือ “การสั่งจ่ายกิจกรรมทางสังคม” (Social Prescribing)

การสั่งจ่ายกิจกรรมทางสังคม (Social Prescribing) คือ การบัดบัดเยียวยาโดยการไปมีกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับสังคมและผู้อื่น เช่น กิจกรรมในพื้นที่สีเขียว การทำสวน งานศิลปะ หรือการให้คำปรึกษาด้านอาชีพและการเงินที่ตนเองถนัด เพื่อเพิ่มพลังชีวิต รู้สึกมีคุณค่า ลดความโดดเดี่ยว และนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่น่าแปลกใจนัก ที่อังกฤษจะก้าวหน้ามากในนวัตกรรมนี้ เพราะเป็นที่รู้ดีว่า อังกฤษกำหนดให้เรื่องของ ความเหงา เป็นวาระแห่งชาติ เห็นได้จากมีการแต่งตั้งตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าด้วยความเหงา (Minister for Loneliness) ตั้งแต่ปี 2022 ด้วย

เมื่อมองย้อนมาที่บ้านเรา จากการศึกษาพบว่า บริบทของประเทศไทย จะมีนโบายสั่งจ่ายกิจกรรมทางสังคม (Social Prescribing) นั่นได้ จำเป็นต้องมีระบบสุขภาพจิตที่บูรณาการเชิงนโยบายมากกว่านี้ ซึ่งยังห่างไกลมาก (เมื่อเทียบกับประเทศอังกฤษ) เพราะเรายังคงเน้นการรักษาที่ปลายทาง และขาดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ผศ.พบสุข จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิด การสั่งจ่ายกิจกรรมทางสังคม (Social Prescribing) 5 ประการ ได้แก่

  1. ขยายกรอบนโยบาย (Policy Reframing) – ปรับแนวคิดและกรอบนโยบายว่าสุขภาพจิตไม่ใช่แค่เรื่องความมเจ็บป่วย แต่คลุมไปถึงมิติทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคลเท่านั้น และต้องเปิดโอกาสให้บุคคลนอกภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมจัดบริการสาธารณะ (Coproduction of services)
  1. ใช้กลไกชุมชน – ให้มีการสั่งจ่ายกิจกรรมทางสังคมผ่านระบบสุขภาพปฐมภูมิ (รพ.สต.และ รพช.)
  1. สร้างแพลตฟอร์มให้ประชาชนเข้าถึงง่าย – ต้องเชื่อมโยงแพลตฟอร์มทั้งออนไลน์ ออนไซต์ เชื่อมเคลื่อนนวัตกรรมนี้ร่วมกัน และต้องมีแพลตฟอร์มระดับชาติ เพื่อรวบรวมข้อมูลผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตเพื่อให้ประชาชนค้นหาได้ง่าย
  1. ให้ความรู้แก่ Change Agents – ควรมีหลักสูตรที่ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการสั่งจ่ายกิจกรรมทางสังคม ให้แก่ทุกภาคส่วน เช่น ภาคสาธารณสุข ภาคสังคม และภาคธุรกิจเพื่อสังคม
  1. รัฐต้องปรับกระบวนทัศน์ – รัฐควรมองสุขภาพจิตเป็นองค์รวม เป็นเรื่องของทุกหน่วยงานร่วมกัน ไม่ใช่แค่ด้านสาธารณสุขเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผศ.พบสุข ยังอธิบายว่า สำหรับในประเทศอื่น ๆ สิ่งนี้ไม่ใช่บริการใหม่ เพราะมองว่านี่คือการเตรียมสู่สังคมสูงวัยในอนาคต และการขับเคลื่อนอาจมาได้จากทั้งด้านบนและล่าง บางทีอาจเริ่มมากจากคนทำงานในพื้นที่จริง ไม่ใช่คนทำนโยบาย แต่ในบางพื้นที่ ตั้งเป้าหมายของรัฐก็กระตุ้นคนทำงานได้ด้วย เช่น เคยมีการสำรวจแพทย์ในสิงคโปร์ ว่า เข้าใจเรื่องนี้มากแค่ไหน พบว่า ร้อยละ 90 ไม่เข้าใจเรื่องนี้เลย แต่ปลายปีที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลับปักหมุดว่าต้องทำเรื่องนี้ ทำให้เห็นว่ารัฐเห็นความสำคัญมาก

“การสั่งจ่ายกิจกรรมทางสังคม ไม่ได้เป็นเพียงการเพิ่มบริการทางสุขภาพจิตที่กำลังขาดแคลนในไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งเสริม การอยู่ร่วมกัน ของคนในสังคมไทยให้มีพลัง ความหวัง และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาวด้วย”

ผศ.พบสุข ช่ำชอง

‘ม้านั่งมีหู’ พื้นที่ชุมชน ปฐมพยาบาลใจเบื้องต้น

ขณะที่ อมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาตัวแบบและกระบวนการอาสาสมัครสุขภาพจิตในชุมชน (ม้านั่งมีหู) ที่เปรียบเสมือนตัวแทนภาคประชาชน เล่าว่า ตนเองมองเห็นปัญหาถึงความยากลำบากในการเข้าพบจิตแพทย์ที่ต้องจ่ายทั้งเงินและเวลา และยังรวมอยู่ที่ศูนย์กลาง ยากที่ชุมชนหรือพื้นที่ห่างไกลจะเข้าถึง

เพราะการไปพบจิตแแพทย์ที่รพ.เอกชนแต่ละครั้ง มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,500 – 2,400 บาท (ไม่รวมค่ายา) แปลว่า คนที่ไม่มีทุนมากพอ ก็เข้าไม่ถึงการรักษา และหากไปโรงพยาบาลรัฐ จ่ายเงินน้อยกว่าก็จริงแต่จ่ายด้วยเวลามหาศาล 

“การเห็นว่าคนไปหาจิตแพทย์จำนวนมาก เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง หากมองลงลึกลงไปด้านล่าง สังคมต้องการมากที่สุดและค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด คือการให้สังคมและชุมชนสนับสนุนกันเอง”

อมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์

ในปี พ.ศ.2561 อมรเทพ จึงเริ่มทำโครงการ “ม้านั่งมีหู” (Bench with Ears) โดยมีต้นแบบมาจาก “ม้านั่งมิตรภาพ” (friendship Bench) ในประเทศซิมบับเว ที่จะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพื้นฐาน (Lay Health Workers) ที่ได้รับการอบรมด้านการรับฟังมาแล้วค่อยให้คำปรึกษาผู้คนในชุมชน

ประเทศในแถบแอฟริกา รวมทั้งซิมบับเว มีจำนวนจิตแพทย์เพียง 1 คนต่อประชากร 1.5 ล้านคน จุดเริ่มต้นแนวคิดนี้มากจากที่แพทย์สูญเสียคนไข้ไปจากการจบชีวิตตัวเอง เมื่อลงไปดูที่ชุมชนพบว่า มีปัญหามากมาย เช่น HIV และการเข้าไม่ถึงการบริการสุขภาพจิต

The Friendship Bench ในซิมบับเว
(credit : www.lshtm.ac.uk)

“เมื่อลองให้ผู้สูงอายุในพื้นที่ที่มีสภาวะเหงา และว่างงานเข้าอบรมการฟัง แล้วนั่งที่ม้านั่งในชุมชนเพื่อคอยรับฟัง คัดกรองก่อนส่งต่อจิตแพทย์ พบว่า คนในชุมชนสามารถลดความโศกเศร้าได้ถึงร้อยละ 80 ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการให้บริการสุขภาพจิตในชุมชนที่มีทรัพยากรจำกัด”

อมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์

อมรเทพ จึงนำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับประเทศไทย โดยการนำม้านั่งไปตั้งตามพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ โดยมีผู้ได้รับการฝึกอบรมด้านจิตสังคมคอยรับฟังปัญหา และให้คำปรึกษาเบื้องต้นอย่างเป็นระบบ เปรียบเสมือนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และคัดกรองเพื่อส่งต่อผู้ป่วยให้เข้าสู่การดูแลที่เหมาะสมต่อไป 

‘ม้านั่งมีหู’ เตรียมติดตั้ง 5 พ.ค.นี้ ณ อุทยานฯ 100 ปี จุฬาฯ

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีผู้สมัครเข้าเป็นทีมรับฟังของ ม้านั่งมีหู แล้ว ได้แก่นักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้สูงอายุ และอินฟลูเอนเซอร์ โดยจะเริ่มติดตั้งครั้งแรกในวันที่ 5 พ.ค. 68 เป็นต้นไป ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ และมีแผนจะขยายไปยังสวนอื่น เช่น สวนจตุจักร สวนเบญจกิติ สวนหลวงพระราม 8 และสวนพระราม 3 ฯลฯ ต่อไปในอนาคต

นี่จึงเปรียบเสมือนการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนเพื่อขับเคลื่อนสังคมสุขภาพจิตดีจากชุมชนโดยไม่พึ่งรัฐแต่เพียงอย่างเดียว นำไปสู่การลดอัตราการเกิดปัญหาสุขภาพจิตระยะเริ่มต้น และลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ที่สามารถปรับให้เหมาะสมกับชุมชนพื้นที่ห่างไกลได้อีกด้วย

หากถามถึงกับดักของปัญหาระบบสุขภาพจิตในภาพใหญ่ อมรเทพ ให้ความเห็นว่า ปัญหาของไทยตอนนี้คือการที่ทุกหน่วยงานทำงานแบบไซโล เรื่องของสุขภาพจิตจึงถูกยึดติดไว้แค่กับ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธาณสุขเท่านั้น ในขณะที่ไม่เคยเชื่อมโยงกับกระทรวงอื่น ๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว อาจออกนโยบายที่ไม่ได้แค่ไม่ส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีแล้ว ยังผลักดันให้แย่ลงอีก

“บ้านเราออกแบบนโยบายแบบ policy need มากกว่า people need และความรู้เรื่องเรื่องสุขภาพจิตกระจุกตัวอยู่แค่เมืองใหญ่ และในระดับปัจเจก ต้องทำให้คนเข้าใจให้มาก และมีสมาธิกับปัญหา คิดถึงมันอย่างจริงจังมากขึ้นด้วย”

อมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่างของโครงการในลักษณะงานวิจัยที่เกิดขึ้นใน 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นนิมิตรหมายที่ดีว่าเราอาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของ ระบบนิเวศทางสุขภาพจิต ในสังคมไทยที่ดีขึ้นกว่านี้ในอีกไม่ช้า

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active