คณบดีคณะแพทย์ มช. ชี้มีพระสงฆ์เข้ารับการรักษากว่าหมื่นรูปต่อปี ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญพระธรรมวินัย ระบุการสูบบุหรี่อาจเข้าข่ายให้ศีล 5 ด่างพ้อย แม้ไม่มีบัญญัติว่าผิดตามพระธรรมวินัย แต่ข้อมูลวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบันยืนยันบุหรี่-ควันบุรี่ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ถือเป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 เวทีเสวนา “แลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงานวัดปลอดบุหรี่ปัจจัยเสี่ยงและการสร้างเสริมสุขภาวะวัดและชุมชน โดยเครือข่ายพระคิลานุปัฏฐากระหว่างภูมิภาค” ภายใต้โครงการวัดปลอดบุหรี่ สร้างชีวีด้วยหลักธรรม นำสู่สุขภาวะชุมชน โดย “ศรีสุวรรณ ควรขจร” รองประธานบริหารแผน คณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพระสงฆ์ประมาณ 250,000 – 300,000 รูป มีตัวเลขว่าพระสงฆ์กว่าครึ่ง 52% ป่วยต้องการดูแลและรับยา ในส่วนที่เหลืออยู่ 48% ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ป่วย เรามีพระสงฆ์ที่มีสุขภาพดีเพียบ 1 ใน 4 เท่านั้นซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้พระสงฆ์ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด ฯลฯ มากขึ้นคือ จากปัจจัยเสี่ยงทั้งการฉันอาหารที่ญาติโยมถวาย และการสูบหรี่
“ศรีสุวรรณ” บอกว่า พระป่วยจะเป็นผลเสียต่อสถาบันศาสนา เนื่องจากมีบุคลากรที่อ่อนแอจำนวนมาก การทำกิจของสงฆ์ ทั้งการสวดมนต์ เทศนาสั่งสอนญาติโยม ก็พลอยได้รับผลกระทบ ในยุคนี้อีกบทบาทหนึ่งของสงฆ์คือการเป็นผู้นำด้านการสร้างสุขภาวะ การป่วยไข้เป็นภาระของพระด้วยกัน ขณะที่พระคิลานุปัฏฐาก (พระที่คอยดูแลพระที่ป่วย) มีจำนวนไม่มาก
“บางวัดมีพระน้อยมาก ในที่สุดพระสงฆ์ที่ป่วยต้องสึกออกมารักษาตัวเองในทางโลก ถามว่าเป็นผลดีต่อศาสนาไหม ที่ผู้ที่ต้อวงการละทางโลกต้องการแสวงหาธรรม มีอุปสรรคในการหลุดพ้น ต้องกลับไปชีวิตทางโลก เพื่ออำนวยความสะดวกกับญาตโยม บางรูปผู้ป่วยติดเตียง”
ศรีสุวรรณ
สถานการณ์สงฆ์อาพาธ หรือ สงฆ์ป่วย น่าห่วงโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ“ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า ตั้งแต่คณะแพทยศาสตร์ได้สร้างโรงพยาบาลสงฆ์ มีพระเข้ามารักษาเกิน 10,000 รูปต่อปี จากเดิม 3,000 รูปต่อปี ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ขณะที่การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุโรคของปอด หัวใจและหลอดเลือดพระสงฆ์ ก็เหมือนกับฆราวาสมารับบริการมากขึ้นอุบัติการณ์ของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก
ศ.นพ.บรรณกิจ มองว่าการป้องกันโรคย่อมดีกว่าการรักษา โดยการลดปัจจัยเสี่ยง 1. ถ้างดสูบบุหรี่ได้ ก็สามารถป้องกันได้หลายโรค และ 2 .อาหาร ที่รับถวายจากญาติโยม ต้องรณรงค์ให้จัดอาหารไม่หวาน มันเค็ม เพื่อรักษาสุขภาพ
นอกจากบุหรี่ธรรมดา ที่น่ากังวลคือ บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีสารนิโคติน สารเสพติด ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด มีผลต่อเส้นเลือด กระทบต่อสุขภาพเหมือนกัน เดิมคนมักคิดว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีผล แต่งานวิจัยระบุชัดแล้วว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา และยังมีโอกาสติดสารเสพติดอื่น ๆ ที่รุนแรงขึ้น
“เราจำเป็นต่อให้ความรู้แก่พระสงฆ์ เพราะพระจะได้เทศน์บอกญาติโยม ให้ตระหนักถึงภัยของบุหรี่ ทั้งบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ในพื้นที่โรงพยาบาลวัด โรงเรียน เป็นที่ปลอดบุหรี่ 100% และจริง ๆ แล้วก็ห้ามจัดให้มีพื้นที่สูบบุหรี่ทำให้เกิดความยุ่งยากในการสูบมากขึ้น ก็เอื้อให้คนเลิกบุหรี่ได้ และองค์กรที่จะรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ก็ควรเป็นต้นด้วยการไม่สูบบุหรี่เองด้วย”
ศ.นพ.บรรณกิจ
รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมของสามเณรในแผนกสามัญศึกษาโรงเรียนปริยัติธรรม ปี 2565 โดยมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า สามเณรอายุระหว่าง 15-19 ปี 56.3% สูบบุหรี่ 53.7% สูบบุหรี่ไฟฟ้าและเลือกสูบในกุฏิ ถึง 50.8%
ขณะที่สัดส่วนพระสงฆ์ที่สูบบุหรี่ยังมีจำนวนมาก โดยพระสงฆ์ในทุกๆ 3 ใน 7 รูปที่สามเฌรรู้จักหรือใกล้ชิดนั้นเป็นพระสงฆ์ที่สูบบุหรี่ ประกอบกับความเชื่อว่าการสูบบุหรี่ไม่ผิดพระธรรมวินัยโดยตรง ไม่มีบัญญติไว้ในพระไตรปิฎก
แต่ พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ตั้งคำถามว่าการสูบบุหรี่นั้นผิดศีล 5 หรือไม่จากการทำงานวิจัยเกี่ยวกับการวิเคราะห์หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งอาจจะเข้าข่ายว่า “ด่างพ้อย” แต่หลายท่านยังมีความเห็นที่ต่าง โดยดูที่ “เจตนา”
การมีศีลคือเจตนาว่าทำในสิ่งที่ไม่ร้ายตนเองและผู้อื่น แต่หากมีเจตนาทำแล้วเกิดการเบียดเบียนตนเอง หรือผู้อื่น เป็นการทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายสุขภาพร่างกายตนเอง และนอกจากศีล 5 จะด่างพ้อย ยังมีเบญจธรรม คือ เมตตา กรุณา ซึ่งเป็นหลักธรรมนำมาอธิบายว่าการสูบบุหรี่ผิดศีลหรือไม่ เมื่อพิจารณาว่าการสูบบุหรี่ถือเป็นความปรารถนาดีหรือไม่ ก็จะเห็นชัดว่าการสูบบุหรี่ผิดหรือไม่ผิด
“แม้ว่าการสูบบุหรี่ ไม่มีบัญญัติในพระธรรมวินัย แต่พระธรรมวินัยนั้นพระพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นเพื่อการแก้ปัญหาไปสู่การเจริญสติ และการสุดพ้น อะไรที่จะเป็นอุปสรรคต่อการหลุดพ้น พระพุทธเจ้าก็จะบัญญัติเป็นพระธรรมวินัย ในสมัยพุทธกาลอาจจะยังไม่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ชัดว่าการสูบบุหรี่มีโทษต่อร่างกาย”
พระวิสิทธิ์
พระวิสิทธิ์ บอกว่า หากจำนวนพระสงฆ์ที่สูบบุหรี่มีน้อยลง พระสงฆ์ที่ป่วยก็อาจมีสัดส่วนหน้อยลงเช่นกัน ดังนั้นพระควรออกมาพูดเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อที่จะให้ญาติโยมได้รับฟัง คนที่มาบวชก็คือคนในชุมชน ควรเน้นย้ำว่า วัดเป็นเขตปลอดบุหรี่ ใครมาวัดห้ามสูบ รวมถึงพระสงฆ์เอง
ล่าสุด มีการการขับเคลื่อนวัดและศาสนสถานให้เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่และสุราจำนวน 19 จังหวัด และ การพัฒนาให้โรงเรียนปริยัติธรรมเป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีแก่สามเณร จำนวน 42 แห่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและขยายพื้นที่วัดและโรงเรียนปริยัติธรรมเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่และเป็นศูนย์กลางในการสร้างเสริมสุขภาวะ และพัฒนากลไกความร่วมมือระดับภาคต่าง ๆ นำไปสู่การเป็นวัดโรงเรียนปลอดบุหรี่ 100% และสร้างแกนนำพระสงฆ์เพื่อช่วยให้ผู้ที่สูบสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ ผ่านการส่งต่อสายเลิกบุหรี่ 1600
ผลการดำเนินงานโครงการในการช่วยให้พระสงฆ์ สามเณร และพุทธศาสนิกชนลด ละ เลิก การสูบบุหรี่โดยใช้ฐานวัดในการชวนคนเลิกบุหรี่ ผ่านใบอธิฐานจิตพบว่ามีผู้เข้าร่วมลงนามอธิฐานจิตงดเหล้าบุหรี่ จำนวน 13,227 คน โดยกระจายไปตามวัดต่าง ๆ จำนวน 3,000 แห่ง พร้อมกันนี้ได้มีพระสงฆ์จำนวน 147 รูป ที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ โดยเข้าร่วมการอบรมพระคิลานุปัฏฐากและใช้กระบวนการสงฆ์ พระวินัยอย่างเข้มข้นในเรื่องการห้ามสูบบุหรี่ เช่น มีการเฝ้าระวังจากญาติโยมและพระสงฆ์แกนนำ ในการที่จะไม่ให้มีการสูบบุหรี่ภายในวัด