ตั้งศูนย์รับเรื่อง ‘ถูกเลือกปฏิบัติ’ – ปฏิเสธส่งต่อ ‘ทำแท้งปลอดภัย’

ภาคประชาสังคม จับมือ สปสช. จับตา สอบสวน เอาผิด หน่วยบริการตามสิทธิ พัฒนาบริการอนามัยเจริญพันธุ์ครบวงจร ป้องกันเกิดปัญหาซ้ำ

วันนี้(9 ก.ค.66) ‘กลุ่มทำทาง’ เครือข่ายภาคประชาชนที่รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงท้องไม่พร้อมให้เข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย จัดตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) “การถูกเลือกปฏิบัติจากการเข้ารับบริการอนามัยเจริญพันธุ์ตามสิทธิบัตรทอง” ตามกลไก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ระบุให้มีทีมงานภาคประชาชนที่เข้ามารับร้องเรียนเวลาเกิดปัญหาจากการไปรับบริการหรือรักษาพยาบาลที่หน่วยบริการในระบบบัตรทอง 

สุไลพร ชลวิไล ตัวแทนจากกลุ่มทำทาง กล่าวว่า หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ แห่งนี้ ทำหน้าที่รับฟังปัญหากรณีการถูกเลือกปฏิบัติ เช่น ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์จากโรงพยาบาลตามสิทธิ แต่ถูกแพทย์ปฏิเสธ ไม่ส่งต่อไปยังสถานบริการที่มีความพร้อม หรือให้บริการที่ไม่เป็นมิตร สามารถแจ้งปัญหาและปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ แห่งนี้ได้ เพื่อเสาะหาข้อเท็จจริง และช่วยเหลือจัดการข้อร้องเรียนดังกล่าวของผู้ร้อง เพื่อปรับระบบบริการป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำ

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์อื่น ๆ เช่น การถูกเรียกค่าบริการฝากครรภ์ ฝังยาคุมเนิดบริการถุงยางอนามัย จากหน่วยบริการตามสิทธิ ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่ามีกรณีร้องเรียนเข้ามายังไม่มากนัก เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนหรือทำให้ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิรู้สึกอับอาย เบื้องต้นจึงเปิดให้บริการ 1 แห่ง ใน กทม. เท่านั้น

สุไลพร ชลวิไล ตัวแทนกลุ่มทำทาง

“หน่วยฯ ของเราทำงานเชิงประเด็น เนื่องจากการรับฟังหรือทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย เยียวยาปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ที่มีความเข้าใจ เพราะหลายคนเกิดบาดแผลจากการถูกเลือกปฏิบัติ เช่น ไปทำแท้งหมอปฏิเสธ ไม่ส่งต่อไม่พอ ยังตะโกนให้คนอื่นๆ ในโรงพยาบาลได้ยินอีก การที่เขาจะแจ้งเรื่องร้องเรียนเข้ามาเราจึงต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ไม่สร้างบาดแผลซ้ำ ขณะเดียวกันก็ต้องสอบถามให้ได้ข้อเท็จจริงก่อนจะดำเนินการสืบสวนกับโรงพยาบาลที่เป็นปัญหาต่อไป”

สุไลพร ชลวิไล

ปัจจุบันสิทธิด้านอนามัยเจริญพันธ์ุ ตามสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือ บัตรทอง อาทิ บริการยาเม็ดคุมกำเนิดแก่หญิงไทยโดยให้บริการครั้งละไม่เกิน 3 แผง รวมไม่เกิน 13 แผง/คน/ปี, บริการยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินและบริการให้คำปรึกษาแก่หญิงไทยให้บริการยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินไม่เกิน 2 แผง/คน/ปี, บริการจ่ายถุงยางอนามัย แก่ประชาชนไทย จำนวน 10 ชิ้น/คน/สัปดาห์ รวมไม่เกิน 52 ครั้ง/ปี, บริการชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง สำหรับหญิงไทย ที่มีอาการแพ้ท้องสงสัยตั้งครรภ์ หรือประจำเดือนขาด ไม่มาตามกำหนด, บริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก สำหรับหญิงไทยอายุ 13-45 ปี จำนวน 52 เม็ด/ปี ครอบคลุมถึงร้านยาที่เข้าร่วมโครงการที่ติดสติ๊กเกอร์ว่า “ร้านยาของฉันให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ” ที่หน้าร้าน

ขณะที่บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย สปสช. ได้บรรจุตามสิทธิสำหรับหญิงที่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์จากภาวะการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม โดยการขอรับหรือการให้บริการยุติการตั้งครรภ์นั้น เป็นไปตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่แก้ไขตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่28) พ.ศ.2564 และข้อบังคับแพทยสภา บริการป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยหรือบริการยุติการตั้งครรภ์สำหรับหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมให้ครอบคลุมการให้บริการทั้งวิธีการใช้ยาหรือวิธีการทางศัลยกรรม  โดยมีหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีศักยภาพในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยาซึ่งลงทะเบียนกับกรมอนามัย 

ปัจจุบันหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมี 70 แห่ง และภาคเอกชนมีอีก 14 แห่ง แต่ปัญหาคือหน่วยบริการบางแห่งอาจไม่มั่นใจในการให้บริการดังกล่าวสามารถส่งต่อไปยังหน่วยบริการสังกัด สธ.ได้หรือไม่ ซึ่งสามารถโทรสายด่วน สปสช. 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

ขณะที่ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม พบกรณี ผู้หญิงถูกปฏิเสธยุติการตั้งครรภ์ตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้จนถึงเดือน ก.ค. 2565  ผ่านสายด่วน 1663 ทั้งหมด 7 กรณี ในจำนวนนี้มี 3-4 กรณีที่เสี่ยงสูงจะได้รับอันตรายถึงชีวิต กลุ่มทำทางจึงอยากให้ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิแจ้งเรื่องร้องเรียนทางแอปพลิเคชันไลน์ @TAMTANG 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active