“หมอชลน่าน” ดัน 1 จังหวัด 1 สถานบำบัดยาเสพติดเป็น Quick Win รัฐบาล

หลังพบผู้ป่วยยาเสพติด 1.9 ล้านคน เร่งตั้งศูนย์คัดกรอง 9,852 แห่ง เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย เข้ารับการบำบัด คืนสู่สังคม 

วันนี้ (27 ก.ย. 2566) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลกำลังจะจัดทำนโยบาย Quick Win เห็นผลใน 100 วันแรก ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้แต่ละกระทรวงเสนอเข้านโยบายเข้ามาเป็น Quick Win เด่นของรัฐบาล 

กระทรวงสาธารณสาธารณสุขได้คัดเลือก 9 ประเด็นที่จะนำเสนอโดยหนึ่งในนั้นคือ 1 จังหวัด ควรมีสถานบำบัดผู้ติดยาเสพยา ใช้ชื่อว่า “มินิธัญญารักษ์” เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นทุกปี ในรายงานผู้ป่วยที่มารับบริการด้านจิตเวช จากคลังข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขพบว่าระหว่างปี 2558-2564 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 1.3 ล้านคนเป็น 2.3 ล้านคน โดยเฉพาะผู้ป่วยยาเสพติดในประเทศไทยมีประมาณ 1.9 ล้านคน

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มีการตั้งศูนย์คัดกรองทั่วประเทศ 9,852 แห่ง ทำหน้าที่คัดกรองและแบ่งการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดเป็น 3 กลุ่ม คือ 

  1. ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง อาการรุนแรง หรือผู้ติดยาเสพติด มีประมาณ 2% หรือ38,000 คน มีสถานพยาบาลกรมสุขภาพจิตและกรมการแพทย์ 27 แห่ง ดูแลแบบผู้ป่วยในระยะยาว 3-6 เดือน มีศักยภาพรองรับประมาณ 3,500 ราย เมื่ออาการดีขึ้นจะจัดเป็นกลุ่มสีส้ม มีสถานฟื้นฟูฯ ของกองทัพและกรมการปกครอง61 แห่ง และได้เปิดมินิธัญญารักษ์ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้การดูแลอีก 42 แห่ง มีศักยภาพรองรับประมาณ 20,000 คน
  2. ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือผู้เสพ มีประมาณ 24% หรือ 4.56 แสนคน มีโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปดูแลแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในระยะสั้น 120 แห่ง และระดับปฐมภูมิคือโรงพยาบาลชุมชนดูแลเฉพาะผู้ป่วยนอก 935 แห่งทั้งหมดมีศักยภาพรองรับ 120,000 ราย
  3. ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือผู้ใช้ยาเสพติด มีประมาณ 74% หรือ 1.4 ล้านคน จะบำบัดยาโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มีประมาณ 10,000 แห่ง และเมื่อทุกกลุ่มอาการดีขึ้น จะมีศูนย์ฟื้นฟูสถานภาพทางสังคม กระทรวงมหาดไทย 3,258 แห่ง ดูแลเพื่อคืนคนดีสู่สังคม

“นายกรัฐมนตรี มีดำริชัดเจนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยยึดหลัก เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ชักชวนจูงใจให้เข้ารับการบำบัดรักษา และให้การช่วยเหลือเพื่อให้กลับเข้าสู่สังคมได้ จึงนับเป็นบทบาทสำคัญที่ สธ.ขับเคลื่อนมาต่อเนื่อง  มีสถาบันบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์  เป็นสถาบันเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และรพ.ธัญญารักษ์ 6 แห่งในภูมิภาคร่วมดูแล และรพ.ในสังกัดสำนักงานปลัดฯ และกรมสุขภาพจิตเปิดวอร์ดดูแลด้านจิตเวชและยาเสพติดโดยเฉพาะ” 

ทั้งนี้ได้เร่งรัด ในจัดตั้ง “มินิธัญญารักษ์” ให้ครอบคลุมทั่วประเทศแบบไร้รอยต่อซึ่งจะเสนอกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษในโรงพยาบาลที่เปิดมินิธัญญารักษ์ 42 แห่ง และกำหนดกรอบอัตรากำลังนักจิตวิทยาคลินิกเพื่อรองรับการดำเนินงาน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานบำบัดยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐานให้ครอบคลุมทุกตำบล/ชุมชนทั่วประเทศ 50% ส่วนในระยะ 6 เดือนจะใช้เทเลเมดิซีนและปรับระบบบำบัดให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายพัฒนา System Manager และ Care Manager ในการดูแลผู้ป่วยยาเสพติด และพัฒนาความร่วมมือระหว่างกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดูแลผู้ป่วย Long Term Care และผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว    

สธ.คัด Quick Win 9 ประเด็นเสนอรัฐบาล 

สำหรับประเด็นที่ กระทรวงสาธารณสุข จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเป็น Quick Win เด่นของรัฐบาล 9 ประเด็น ได้แก่

  1. โครงการพระราชดำริฯ / เฉลิมพระเกียรติ / ที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ โดยจะมีเรือนจำต้นแบบ ราชทัณฑ์ปันสุข อย่างน้อยเขตละ 1 แห่ง และพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 11 แห่ง ให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะต้นแบบ ระดับ Standard
  2. โรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 รพ. และปริมณฑล จะเพิ่มการจัดบริการโรงพยาบาลในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยความร่วมมือของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ส่วนโรงพยาบาลในเขตดอนเมือง กรุงเทพฯระยะที่ 1 จะเปิดเป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยนอกเฉพาะทางก่อน 
  3. มะเร็งครบวงจร จะฉีดวัคซีน HPV ในหญิง 11– 20 ปี 1 ล้านโดส เริ่มพร้อมกันทั่วประเทศปลายเดือนตุลาคมนี้ 
  4. สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร นอกจากการบรรจุพยาบาลวิชาชีพ การประเมินเข้าสู่ตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษ การให้แพทย์ได้รับการยกเว้นเลื่อนเงินระหว่างลาศึกษาต่อ จะมีทีม Care D+ ที่ได้รับการเสริมทักษะที่จำเป็นในการสื่อสารระหว่างผู้ป่วย ญาติและบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 3 รุ่น 
  5. สถานชีวาภิบาล ให้การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมีภาวะพึ่งพิง ติดบ้าน/ติดเตียงผู้ป่วยระยะประคับประคอง จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เขตสุขภาพละ 1 แห่ง 
  6. ดิจิทัลสุขภาพ ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรับบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทุกแห่ง และมี Virtual Hospital 
  7. เศรษฐกิจสุขภาพ มี Blue Zone “น่านโมเดล” ที่ชุมชน ภาคีเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันขับเคลื่อน
  8. 1 จังหวัด ควรมีสถานบำบัด ใช้ชื่อว่า “มินิธัญญารักษ์” 
  9. ผลักดันส่งเสริมการมีบุตร ให้เป็นวาระแห่งชาติ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active