Policy Forum ชำแหละปัญหาบริการด้านสุขภาพจิต เสนอผลักดันนโยบาย “ระบบนิเวศสุขภาพจิต” เป็นวาระแห่งชาติ เสริมภูมิคุ้มกันสังคมก่อนป่วยทางใจ
5 ต.ค.66 The Active ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัด Policy Forum ครั้งที่ 2: นโยบายสุขภาพจิต : Mental Health Policy Ecosystem เปิดพื้นที่สนทนาเพื่อสร้างระบบนิเวศนโยบายสุขภาพจิต สู่ข้อเสนอเพื่อการสนับสนุนข้อมูลเพื่อต่อยอดนโยบายสุขภาพจิตของไทย
เริ่มต้นวงคุยด้วยประเด็นจากเหตุการณ์เด็กชายอายุ 14 ปี ก่อเหตุยิงภายในห้างสรรพสินค้า ย่านปทุมวัน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 5 คน เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสังคมอาจจะตั้งคำถามว่าเมื่อไหร่เราจะเลิกถอดบทเรียนความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งคำตอบคือคงไม่สามารถหยุดได้หากสังคมยังไม่ร่วมถอดบทเรียนไปด้วยกัน และเรียนรู้ว่าการที่เด็กคนหนึ่งเติบโตมามีปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องชีววิทยา
แต่กว่าจะถึงจุดที่มีปัญหาต้องเจอปัจจัยต่าง ๆ มากมาย มีปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเช่นนั้น แต่ถ้าเป็นการถอดเป็นเรียนเพื่อทำความเข้าใจเชิงระบบ และเราจะเปลี่ยนแปลงร่วมกันเพื่อสร้างค่านิยมใหม่ น่าจะเป็นการเรียนรู้ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ
“เราไม่ควรหาคำตอบว่าเพราะเหตุใดด้วยสาเหตุเดียว ถ้าเมื่อไหร่เราคิดแบบนั้นเราไม่มีทางหามันเจอได้อย่างแท้จริง การมีส่วนร่วมของพวกเราทุกคนในระบบต่าง ๆ มันคืออะไร น่าจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนมากกว่า”
ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธ์
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หลังผ่านเหตุการณ์เราอาจจะเห็นคอมเมนต์ในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ว่า ต้องลงโทษผู้ก่อเหตุ ลงโทษให้หนัก เปลี่ยนกฎหมายให้ลงโทษเด็กอายุ 14 ปี ให้ได้ หรือ เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผู้ก่อเหตุได้เพราะเขาสมควรได้รับการประณามจากสังคม ถ้าสังเกตจะพบว่าสังคมกำลังต้องการกำจัดปัญหา ณ ปัจจุบัน
แต่ถ้ามองว่าปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น สังคมอาจจะต้องพูดถึงการส่งเสริม ป้องกัน ในอนาคตว่าปัญหาเกิดอะไร จำเป็นที่จะต้องจับมือหน่วยงานอื่น ๆ มาทำงานร่วมกันในเรื่องนี้
“หลายเหตุการณ์ซ้ำ ๆ ที่ผ่านมา ถึงเราจะไม่พูดว่าเป็นการเลียนแบบ แต่เชื่อว่าทุกคนรับรู้ได้ว่า 10 ปี ก่อนหน้านี้เราไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน วันนี้ถ้ามีคนถามผมว่าจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีกไหม ผมบอกเลยว่าเกิดแน่นอน ถ้าเรายังโทษเกม โรคจิตเวช นี่คือสิ่งที่ผมกลัวที่สุด ว่าปัจจัย ความเป็นไปได้อื่น ๆ จะถูกทิ้งไว้ใต้พรม โดยไม่ได้ถูกพูดถึงหรือได้รับการแก้ไขเลย”
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์
ขณะที่เหตุการณ์นี้ยังถือกรณีแรกในประเทศไทย ที่มีผู้ก่อเหตุเป็นเด็กอายุ 14 ปี กราดยิงในห้องสรรพสินค้าใจกลางเมือง ขณะที่ต่างประเทศเกิดขึ้นไม่ถึง 10 เหตุการณ์และส่วนมากเกิดขึ้นในโรงเรียน
สรัช สินธุประมา นักวิจัยนโยบายสาธารณะ กล่าวว่า ในภาวะที่สังคมมีทั้งโกรธแค้น หวาดกลัว ไม่รู้จะไปทิศทางไหน การถอดบทเรียนหรือหาทางป้องกันจำเป็นต้องมีชุดข้อมูล (DATA) ว่าเกิดเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร ยกตัวอย่างการรายงานตัวเลขผู้ป่วยจิตเวชทุกปีที่หน่วยงานรัฐรายงานออกมาเริ่มนับที่ 15 ปีขึ้นไป แต่ต่ำกว่านั้นยังไม่มีอย่างชัดเจน ทั้งที่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคทางสมองในวันเด็กอาจจะนำมาสู่โรคจิตเวชได้ หากมีข้อมูลนี้ก็จะทำให้เกิดการติดตามรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าไม่มีข้อมูลตรงนี้อาจไม่สามารถวินิจฉัยต้นตอของกรณีผู้ที่ใช้ความรุนแรงอื่น ๆ ได้
มุมที่สังคมจะมองบุคคลที่พลาดพลั้งเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่ อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ นักจิตวิทยาเชิงบวก ผู้ก่อตั้ง Life Education โยนไว้เป็นคำถามภายในวงเสวนาถอดบทเรียนครั้งนี้ เนื่องจากตัวเลขเยาวชนภายในสถานพินิจไม่ได้น้อย และการพ้นโทษแต่ละครั้งก็ไปก่อเหตุเข้าเรือนจำต่อไป สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะสังคมสร้างรอยเท้าบนโลกดิจิทัล (Digital Footprint) ทำให้ไม่ได้รับโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ตัวอย่างการเข้าไปพูดคุยเชิงลึกกับเด็กในบ้านกาญจนาฯ พบว่า ในการก่อเหตุความรุนแรงนั้นเป็นช่วงวินาทีที่ทำลงไปโดยไม่ตั้งใจ ที่เหลือไม่ใช่เด็กคนนั้นคนไม่ดี อาจจะมาจากสภาวะ fight, flight, freeze เมื่อพวกเขารู้สึกว่ากำลังเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงคนที่มีบาดแผลทางใจ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในวัยเด็ก หรือ ระหว่างเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งแต่ละคนจะเลือกวิธีการที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในอดีต ว่าวิธีการไหนเป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลกับพวกเขา เช่น หาเรื่องทะเลาะ หนีปัญหา หรือหยุดนิ่ง แยกตัวออกมาจากผู้คน ซึมเศร้า รู้สึกสิ้นหวัง
ซึ่งที่ผ่านมาสังคมอาจเห็นเด็กหลายคนอยู่กับสังคมที่สั่งสอน แต่เมื่อเจอเด็กที่สู้กลับต่อแรงกดทับในครอบครัว สังคม เราอาจจะไม่เคยชิน ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมต้องพยายามทำความเข้าใจปัญหานี้ เพื่อนำไปสู่อนาคตให้เด็กอธิบายโลกที่แตกต่างไปได้
ถอดบทเรียนความรุนแรงในสังคมไทยเพื่อไปต่อ ต้องถกกันด้วย DATA
เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยความรุนแรงในสังคม พบว่าส่วนสำคัญมาจากการระเบิดของความหวาดกลัว ถูกกดดัน ขาดพื้นที่ปลอดภัยในการรับฟัง สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะระบบบริการสุขภาพจิตของประเทศไทยมีข้อจำกัดในด้านบุคคลากรด้านจิตแพทย์ ซึ่งพบว่าตัวเลขจิตแพทย์ในประเทศไทยมีอยู่รวม 860 คน ซึ่งหมายถึงจิตแพทย์ 1.3 คน จะต้องดูแลผู้ป่วย 1 แสนคน
อมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชัน ‘Sati’ (สติ) ที่เคยพบปัญหาในการเข้าถึงระบบสุขภาพจิตในประเทศไทย กล่าวว่า จำเป็นที่ภาครัฐต้องเอา DATA ที่แท้จริงออกมาเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นถึงสถานการณความเป็นจริง ปัจจุบันสายด่วนสุขภาพจิตยังแยกเก็บข้อมูลแค่ชาย-หญิง ซึ่งการมีข้อมูลเพศหลากหลาย จะทำให้การออกแบบนโยบายการแก้หาปัญหาเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริง นอกจากนั้นจำนวนจิตแพทย์ นักจิตบำบัด จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญ เพราะจิตแพทย์ปัจจุบันอยู่ในภาวะหมดไฟ (Burnout) เพราะบางคนต้องให้คำปรึกษาผู้ป่วยวันละ 100 คน
สอดคล้องกับการศึกษาของศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะ 101 PUB พบว่า การเก็บข้อมูลของมูลของภาครัฐ โดยเฉพาะตัวชี้วัดที่ยังไม่สะท้อนความเป็นจริงของการเข้าถึงบริการ เช่น มีตัวเลขของผู้ป่วยแรกรับ แต่ไม่มีข้อมูลการติดตามเวลารอคอย ว่าผู้ป่วยได้เข้ารับการบำบัดครั้งแรกภายในเวลาเท่าใด
ในประเทศอังกฤษตัวชี้วัดการรอคอยเขาอยู่ที่ 21 วัน แต่ของบ้านเรายังไม่มี ซึ่งตัวชี้วัดนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงการให้บริการได้อย่างทันท่วงที แต่ยังรวมถึงความพร้อมของการให้บริการในแต่ละพื้นที่ ซึ่งอาจมีเงื่อนไขและความต้องการบุคลากรในสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป เพื่อออกนโยบายแก้ปัญหาอย่างตรงจุดอีกด้วย
สรัช สินธุประมา
ขณะที่ประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการบรรจุบุคลากรในตำแหน่งนักจิตวิทยาโรงเรียน หรือ นักจิตวิทยาการปรึกษา ต่างจากโรงเรียนเอกชน ,นานาชาติ หรือสถานบริการเอกชน ที่มีกำลังในการจ้างตำแหน่งนี้เกิดขึ้น ผศ.ณัฐสุดา สะท้อนว่า นี่เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสาธาณสุขด้านสุขภาพจิต
ที่น่าสนใจ คือจำนวนคนเข้าเรียนจิตวิทยาในสาขาต่างๆ ในระดับ ป.ตรี ป.โท เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากคนรุ่นใหม่เห็นถึงความสำคัญ และอยากแก้ปัญหาสังคม ไม่แน่ใจว่าภาครัฐเห็นข้อมูลนี้หรือไม่ โดยคาดหวังหวังว่าตำแหน่งงานในอนาคตจะเปิดจะรองรับ ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา จิตวิทยาคลินิก ฯลฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่อยู่ระหว่างรอการรักษา ลดการกระจุกตัวในโนโรงพยาบาลซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายแล้ว
ระบบนิเวศสุขภาพทางจิต ป้องกันก่อนป่วย เรื่องเร่งด่วนต้องผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ
ในวงเสวนามีข้อเสนอในการผลักดันให้ “ระบบนิเวศสุขภาพจิต“ อยู่ในนโยบายสาธารณะ โดยมีองค์ความรู้จากหน่วยงานภาครัฐทุกสังกัด เอกชน และภาคประชาสังคม ทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการส่งเสริม ป้องกัน หรือมีภูมิคุ้มกันทางใจเพื่อรับมือกับสภาวะด้านลบ
อรุณฉัตร กล่าวว่า หลักการของจิตวิทยาเชิงบวก คือการทำให้คนมองโลกตามความเป็นจริงแต่ยังไม่ทิ้งคุณค่าในตัวเอง หลายประเทศพยายามให้ความสำคัญเรื่องนี้ เช่น การเลี้ยงลูกเชิงบวก การศึกษาเชิงบวก ขณะที่ระบบนิเวศที่สำคัญมากของเด็ก คือ โรงเรียน ยังไม่มีครูที่จบการให้คำปรึกษาในเด็ก ขณะที่ฟินแลนด์ครูต้องจบปริญญาโท เพราะต้องฝึกสร้างสัมพันธภาพที่ดีตั้งแต่เจอพ่อแม่ เด็กนักเรียนในโรงเรียนด้วยกัน
ส่วนที่บ้าน หากต้องการเลี้ยงลูกให้ดีตามหลักจิตวิทยาเชิงบวก พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึง จึงจำเป็นอย่างมากในการพัฒนาระบบนิเวศสุขภาพจิต ที่จะสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิม เช่น สร้างให้พื้นที่โรงเรียนเป็นบ้านมากขึ้น มีสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนตั้งแต่วันแรกเพื่อป้องกันการบูลลี่ แต่คำถามคือที่ผ่านมาเรามีเป้าหมายแต่ไม่มีวิธีการ
เช่นเดียวกับ ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ที่เสนอว่า การสร้างระบบนิเวศสุขภาพจิต ไม่ใช่แค่การสร้างพลังเชิงบวกให้กับตัวเอง ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันสร้างพลังเชิงบวกให้สังคมที่อยู่ร่วมกันด้วย เพราะปัจจุบันสังคมกำลังเคยชินกับระบบนิเวศด้านลบ เช่น ข่าวร้าย ๆ มีคนสนใจมากกว่าข่าวดี ยังมองว่าการไปหาจิตแพทย์เป็นผู้ป่วยจิตเวช สิ่งนี้จะทำอย่างไรให้นิยามสุขภาพจิตไม่ใช่ผู้ป่วยจิตเวช แต่เป็นการเติมวัคซีนใจ เติมลงไปให้การเลี้ยงดู การศึกษา เปลี่ยน โอบอุ้มเด็กหนึ่งคนให้เติบโตมามีพลังเชิงบวก
ธีรพัฒน์ อังศุชวาล นักวิชาการนโยบายสาธารณะ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ได้สรุปความเห็นในเวทีและเห็นร่วมกันว่า ที่ผ่านมาภาครัฐมีความพยายามในการทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิต แต่ยังเป็นทำงานแบบแยกส่วน ไม่บูรณาการร่วมกัน ซึ่งปัญด้านสุขภาพจิต ภาวะความเครียด ไร้ที่พึ่งทางใจ ไม่ควรเป็นเรื่องของระดับปัจเจกอีกต่อไป จึงเสนอให้ยกระดับเป็นวาระดับชาติ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายสาธาณะ สนับสนุนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม และรวบรวมข้อเสนอต่าง ๆ ในเวทีครั้งนี้จากภาคประชาชน เพื่อร่วมกำหนด “ระบบนิเวศสุขภาพจิต” ใน 4 เรื่อง ดังนี้
- ส่งเสริมบทบาทและทรัพยากรสนับสนุนแก่นักวิชาชีพจิตวิทยาสาขาต่าง ๆ อย่างชัดเจนและเพียงพอ
- สร้างความร่วมมือและส่งเสริมความเข้มแข็งอาสาสมัครและนักดูแลสุขภาพใจในชุมชน
- พัฒนาระบบและการศึกษาด้านสุขภาพจิตในสถานศึกษาและสถานประกอบการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
- สนับสนุนการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสุขภาพจิตที่กระจายอย่างทั่วถึง